สร้างความเข้าใจเรื่องเศษส่วนด้วยแผงไข่ในครัว

สร้างความเข้าใจเรื่องเศษส่วนด้วยแผงไข่ในครัว

‘PLC Coaching Online ชุมนุมครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้เชื่อมโยงออนไลน์’ กับเรื่องเล่าของ ‘ครูสุ’ สุภาพร กฤตยกรณุพงศ์ ในการจัดการเรียนการสอนหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียนเพลินพัฒนา ระดับชั้น ป.3 โดยใช้ ‘แผงไข่’ มาช่วยเด็กๆ ในการทำความเข้าใจเรื่องเศษส่วน เพื่อสร้างการเรียนรู้โดยตัวผู้เรียน โดยมีผู้อำนวยการและครูจากเครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจล (พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา) และเครือข่ายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมเรียนรู้ออนไลน์รวม 16 โรงเรียน

 

‘สื่อการสอน’ กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ

ครูสุเล่าว่า เพียงแค่น้องๆ เห็นครูนำแผงไข่เข้ามาในชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ก็กระตือรือร้นที่จะคิดไปต่างๆ นานาว่า ครูนำมาเพื่ออะไร เด็กๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน เรียนรู้ผ่านกระบวนการลงมือทำ การได้สัมผัสสื่อการเรียนนั้นจะช่วยให้เด็กๆ เชื่อมโยงจากประสบการณ์เดิมของตนเอง (ความรู้สะสม) โดยเด็กแต่ละคนจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และคำตอบกับเพื่อนๆ จนท้ายที่สุดเด็กๆ ได้ช่วยกันค้นพบบทสรุปของการเรียนรู้ร่วมกันในแต่ละครั้ง

ขณะที่ในบทบาทของครู การเปรียบเทียบเศษส่วนนั้นเป็นเรื่องที่สอนยาก แต่การที่เด็กๆ ได้เรียนผ่านกิจกรรมสังเกต และลงมือทำโดยมีสื่อการสอนที่น่าสนใจ สามารถกระตุ้นสมาธิและความอยากเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ เพื่อไปถึงจุดประสงค์การเรียนรู้คือ รู้จักเศษส่วน ความหมายเศษส่วน อ่านค่าเศษส่วน แรเงาเศษส่วน และเปรียบเทียบเศษส่วนได้

 

‘ความรู้สะสม’ ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้

ความน่าสนใจของแผงไข่คือ แต่ละคนจะจัดเรียงไข่ไม่เหมือนกันบนโจทย์เศษส่วนที่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับ ‘ความรู้สะสม’ (Met Before) หมายถึงความรู้จากประสบการณ์ที่สะสมในตัวผู้เรียน ซึ่งประมวลจากทั้งการเรียนทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้อย่างเป็นลำดับ สร้างความรู้ความเข้าใจใหม่จากการทำงานกับโจทย์สถานการณ์ ในแต่ละครั้งที่ผู้เรียนแต่ละคนจะค่อยๆ ไต่ระดับตามการเรียนรู้ของตนเอง และค่อยๆ สร้างการเรียนรู้ไปตามความรู้ ความเข้าใจ ตามที่ตนมีอยู่

และในแต่ละคาบเรียน ครูจะนําความรู้สะสมมาเป็นจุดตั้งต้นของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และใช้ความรู้สะสมของผู้เรียนมาคาดการณ์ ‘แนวคิดของผู้เรียน’ รวมถึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ไต่ลำดับไปตามความรู้สะสมของผู้เรียนแต่ละคน และช่วยทำให้ความรู้ของผู้เรียนทุกคน กลายเป็นความรู้ความเข้าใจร่วมกันของชั้นเรียน

กระบวนการเรียนแบบที่ให้เด็กช่วยกันค้นหาคำตอบไปด้วยกัน เด็กเขามีพื้นที่ปลอดภัยระหว่างกันที่จะเเลกเปลี่ยนการเรียนรู้กัน ครูจึงต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แล้วสุดท้ายเมื่อเขาเจอคําตอบด้วยตัวเอง เขาจะมีความมั่นใจและรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้น

 

‘เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ’ ทำให้ครูสังเกตผู้เรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สื่อการสอนที่เด็กๆ ได้ลงมือทำด้วยตนเอง จะทำให้คุณครูสามารถสังเกตเห็นวิธีแก้ปัญหาของเด็กแต่ละคนรวมถึงแบบกลุ่มได้ การที่ได้ลงมือทำนั้นจะทำให้เด็กๆ ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ไม่กลัวผิด เกิดการเรียนรู้ได้ทันที ซึ่งเป็นส่วนนึงในการสะท้อนความรู้สะสม หรือวิธีคิดที่ได้จากการเรียนทฤษฎีก่อนหน้า รวมถึงการได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันกับเพื่อนๆ เป็นการต่อยอดความรู้ร่วมกัน นอกจากนี้คุณครูยังสามารถมองเห็นเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ผ่านภาษากาย สีหน้าและแววตา ความมั่นใจในการแลกเปลี่ยนวิธีคิดกับเพื่อนๆ รวมถึงเด็กที่นั่งนิ่ง ซึ่งอาจบอกได้ว่าเด็กคนนั้นกำลังคิด หรือขาดความรู้สะสมเพียงพอทำให้ไม่รู้วิธีเริ่มต้นในการลงมือแก้ปัญหา

 

คำแนะนำจากครู

หลังผ่านบทเรียนหนึ่งๆ ครูจะสะท้อนบทเรียนให้กับเด็กได้เป็นรายคน โดยครูจะแนะนำได้ทันทีหากน้องๆ คนไหนยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด หรือยกตัวอย่างด้วยภาพ หรือคำแนะนำอาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการตรวจสมุดแบบฝึกหัด ซึ่งครูจะช่วยเขียนเพิ่มเติม แก้ไขให้เห็นสิ่งที่ถูก หรืออาจเรียกนักเรียนมาทำความเข้าใจโจทย์อีกครั้ง

ครูสุสรุปว่า หลักสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงตัวตนของเด็กว่าไม่มีใครอยากผิด ไม่อยากเสียความมั่นใจ การที่ครูบอกว่าอันไหนถูกหรือผิด เด็กจะตรวจสอบด้วยตัวเอง ทำให้ความมั่นใจของเด็กไม่หาย หรือหากผิด เด็กๆ ก็พร้อมจะหาคําตอบใหม่ และกล้าบอกว่าเขาผิดตรงไหน เพราะอะไร จากนั้นเขาจะทดลองใหม่”

การเรียนรู้ที่เด็กช่วยกันค้นหาคำตอบไปด้วยกัน ทำให้เด็กเขามีพื้นที่ปลอดภัยระหว่างกันที่จะเเลกเปลี่ยนการเรียนรู้กัน ครูจึงต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แล้วสุดท้ายเมื่อเขาเจอคําตอบด้วยตัวเอง เขาจะมีความมั่นใจ และรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้น พื้นที่ปลอดภัยที่ครูสร้างขึ้น จะทำให้เด็กมีพื้นที่ในการสังเกตและเปรียบเทียบ นําไปสู่การคิดวิเคราะห์ระหว่างสิ่งที่ตัวเองทำกับเพื่อนทำ และสามารถสังเคราะห์ความรู้ ทดลองทำใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการเรียนรู้แบบสร้างความรู้โดยผู้เรียนในระดับลึก (Deep Learning)”

ขณะที่ ครูปาด ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อํานวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเพลินพัฒนา เสริมว่า การพาเด็กเรียนรู้แบบไต่ระดับ ครูต้องทำนั่งร้าน (scaffolding) หรือขาหยั่งให้เด็กไต่ไปทีละขั้น เริ่มจากครูต้องเข้าใจเรื่องความรู้สะสมของเด็กว่ามีอะไรบ้าง ต้องเห็นปลายทางสุดท้ายของระดับที่อยากให้เด็กไปถึง และต้องเห็นว่าจากจุดที่เด็กอยู่จนไปถึงเป้าหมายที่เราอยากให้เขาไปถึง สามารถทำนั่งร้าน หรือขาหยั่งที่เหมาะสมกับเด็กเพื่อไต่ระดับได้กี่ขั้น กี่ระดับ หมายถึงเราต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติของสิ่งที่เด็กจะเรียน และธรรมชาติวิธีการเรียนของเด็ก เพื่อวางโจทย์หรือหาประสบการณ์ที่เป็นลำดับ

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค