หุ่นยนต์ เอไอ ดิจิทัล วิกฤตโรคระบาด – ท่ามกลางยุคสมัยที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวกระโดด ท่ามกลางความท้าทายของโลกที่ไม่อาจพยากรณ์ล่วงหน้าได้ โจทย์สำคัญคือ ‘ระบบการศึกษา’ จะสร้างสังคมที่ประชากรแข็งแรง ยืดหยุ่น และมีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilient) ได้อย่างไร
การศึกษาจึงไม่ใช่เพียงการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความรู้ตามตำรา แต่จำเป็นต้องมอบโอกาสให้นักเรียน ‘ทุกคน’ ได้เพิ่มเติมทักษะใหม่ (reskill) และพัฒนาทักษะเดิม (upskill) ควบคู่กับการเรียนการสอนแบบพื้นฐาน เพื่อติดอาวุธให้นักเรียนเพียบพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างสังคมที่ประชากรมีความสามารถในการปรับตัวตั้งรับกับทุกสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต (resilient societies)
อย่างไรก็ตาม สังคมที่ยืดหยุ่นพร้อมตั้งรับการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่เพียงสังคมที่ผู้คนมีทักษะเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสังคมที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและมีโอกาสอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม เพราะฉะนั้น การพัฒนาการฝึกทักษะ reskill และ upskill จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงกลุ่มเปราะบางร่วมด้วย
เหล่านักนโยบายและนักการศึกษาออกแบบนวัตกรรมที่เหมาะสำหรับความต้องการของนักเรียน ภายใต้เป้าหมายในการสร้างสังคมที่มีความสามารถในการปรับตัวตั้งรับโดยทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างไร 101 เก็บความบางส่วนจากงานเสวนาจินตภาพใหม่การศึกษา : ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ภายใต้หัวข้อการเพิ่มและสร้างทักษะใหม่เพื่อยกระดับทักษะที่เหมาะสมกับสังคมที่มีความยืดหยุ่นสูง ร่วมแลกเปลี่ยนโดย แอร์เว มอแร็ง หัวหน้าโครงการ UPSHIFT องค์การยูนิเซฟภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ ผู้อำนวยการกองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคาเทีย มาลาเกียส ผู้ก่อตั้งร่วมกลุ่มพันธมิตร Australian Alliance for Inclusive Education
หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงานเสวนาจินตภาพใหม่การศึกษา : ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ในหัวข้อการเพิ่มและสร้างทักษะใหม่เพื่อยกระดับทักษะที่เหมาะสมกับสังคมที่มีความยืดหยุ่นสูง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567
พัฒนาทักษะด้วยโครงการ UPSHIFT – แอร์เว มอแร็ง
ท่ามกลางวิกฤตการเรียนรู้ทั่วโลก โครงการ UPSHIFT คือโครงการพัฒนาทักษะของคนหนุ่มสาวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต โดยโครงการนี้มีเป้าหมายในการสร้างนักนวัตกรรมทางสังคมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมทั้งในระดับปัจเจกและสังคม
ทักษะที่ว่าคือทักษะจำเป็นแห่งยุคสมัย กล่าวคือทักษะการแก้ปัญหา ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น
แอร์เว มอแร็ง (Herve Morin) หัวหน้าโครงการ UPSHIFT องค์การยูนิเซฟภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเล่าว่าโครงการนี้พยายามสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ให้เยาวชนและระบบการศึกษาของหลายประเทศ โดยโครงการดำเนินมาแล้ว 10 ปี และทำงานร่วมกับ 51 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น เขาจึงอยากแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างพัฒนาโครงการ โดยเล่าบทเรียนสำคัญจาก UPSHIFT ที่มีทั้งหมด 5 ประเด็น ดังนี้
หนึ่ง ความสามารถในการปรับตัว (adaptability and modularity facilitates adoption) : แอร์เวระบุว่าโมเดลพัฒนาการศึกษามีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่โมเดลเหล่านี้กลับยังไม่ถูกนำไปขยายผลในระดับชาติหรือระดับโลก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรายังขาดการปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ
แอร์เวหยิบงานวิจัยมาอธิบาย โดยงานวิจัยระบุว่าการปรับใช้นวัตกรรมในระบบการศึกษามักขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้นๆ เพราะฉะนั้น นวัตกรรมการศึกษาที่ดีจึงไม่ใช่แค่ระบบแบบใดแบบหนึ่ง แต่ต้องสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ตามแต่ละบริบทของแต่ละประเทศ ตั้งแต่หลักสูตร วิธีการสอน ตลอดจนการออกแบบบทเรียน
สอง การมีนโยบายที่เหมาะสม (the right policy environment) : แอร์เวชี้ว่าการผลักดันเชิงนโยบายก็เป็นเรื่องสำคัญ ผู้บริหารระดับสูงต้องสนับสนุนให้ระบบการศึกษาสามารถปรับได้และมีความยืดหยุ่น จึงจะสามารถพัฒนาทักษะของเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน แอร์เวยกตัวอย่างถึงประเทศอินเดียและภูฏานที่มีการดำเนินโครงการ UPSHIFT โดยใช้แพลตฟอร์มและเนื้อหาที่เหมือนกัน แต่กลับจุดประสงค์ทางนโยบายที่แตกต่างกัน
แอร์เวเล่าว่าประเทศอินเดียมีนโยบายมุ่งสร้างนักนวัตกรรมและต้องการเฟ้นหา ‘ช้างเผือก’ กล่าวคือนักเรียนที่โดดเด่นและมากความสามารถ เพื่อสนับสนุนศักยภาพของนักเรียนเหล่านั้นให้เติบโตและสามารถสร้างรายได้ต่อไป ขณะที่ประเทศภูฏานจะเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและต้องการให้เนื้อหาไม่เพียงเข้าถึงนักเรียน แต่เข้าถึงครอบครัวและชุมชนวงกว้างด้วย
จะเห็นได้ว่าแม้เนื้อหาการเรียนการสอนจะเหมือนกัน แต่เมื่อมีเป้าหมายเชิงนโยบายแตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่ทั้งสองประเทศได้จากโครงการจึงแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น การเตรียมสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่เหมาะสมกับการพัฒนาทักษะจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
สาม ครูเป็นกุญแจสำคัญ (teachers and educators are key partners) : เมื่อปรับให้มีวิธีการเรียนที่หลากหลายแล้ว วิธีการสอนก็ต้องหลากหลายเช่นกัน แอร์เวชี้ว่าฝ่ายครูก็ต้องเรียนรู้วิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ สำหรับนักเรียน
ในประเด็นนี้ แอร์เวระบุว่าต้องมีการพัฒนาและอบรมให้ครูสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี และควรฝึกอบรมเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ครูล้าสมัย นอกจากนี้ การฝึกอบรมด้านการสอนอาจต้องจัดให้มีสำหรับบุคลากรการศึกษาหลายระดับ ตั้งแต่ระดับครู นักการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ไปจนถึงกลุ่มคนระดับที่ฝึกสอนอาจารย์อีกที เช่น คณะครุศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
สี่ สร้างแรงจูงใจสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (align incentive for all stakeholders: the challenge oppotunity) : แอร์เวเล่าว่าเมื่อมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนา
แอร์เวยกตัวอย่างว่าโครงการ UPSHIFT เปิดโอกาสให้นักเรียนเสนอไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในชุมชน ซึ่งหากไอเดียผ่านการพิจารณา ทางโครงการจะสนับสนุนนักเรียนด้วยการให้งบประมาณและคำปรึกษา ซึ่งนอกเหนือจากงบประมาณและทรัพยากร อีกแรงจูงใจสำคัญในมุมมองของเขาคือการสร้างประสบการณ์และความรู้สึก ‘มีคุณค่า’ ของนักเรียน กล่าวคือความรู้สึกมีคุณค่าเมื่อนักเรียนได้ทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองและร่วมแก้ไขปัญหาระดับชุมชนและระดับโลก
ห้า ดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่อาจแทนที่การปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าได้ (digital can be a powerful enabler but does not replace face to face) : แอร์เวเล่าว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษา กล่าวคือสามารถสนับสนุนการเรียนการสอน รวมถึงลดภาระเวลาและค่าใช้จ่ายของครูได้ แต่เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่ทางรอดเดียวของมนุษย์
ท้ายที่สุด แอร์เวย้ำว่าประสบการณ์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการพบเจอและมีปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตจริง ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี
“การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาต้องใช้เวลามหาศาล ซึ่งบางครั้งก็คุ้มค่าที่จะลงทุนในทางออกซึ่งมีอยู่แล้วและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้จริง” แอร์เวกล่าว
ถอดบทเรียนโครงการคืนเยาวชน NEETs สู่การศึกษาและการจ้างงาน – ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์
“เมื่อพูดถึงการสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่นอันส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต หลักการของมันคือการเปิดเส้นทางให้ผู้ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ ผู้อำนวยการกองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าว
ประเทศไทยเองก็มีโครงการพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มเปราะบาง หนึ่งในนั้นคือโครงการ ‘เสริมสร้างศักยภาพและสมรรถนะเด็กและเยาวชนกลุ่ม NEETs’ โครงการนำร่องช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้กลับคืนสู่ระบบการศึกษาและการจ้างงานผ่านการฝึกอบรมเสริมทักษะ ที่ตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี – จังหวัดที่มีประชากร NEETs มากที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศไทย
อธิบายก่อนว่า NEETs (Youth Not in Employment, Education, or Training) หมายถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้เรียน ความหมายครอบคลุมทั้งกลุ่มคนว่างงานและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยประเทศไทยมีเป้าหมายลดจำนวนเด็กและเยาวชน NEETs ให้เหลือน้อยกว่า 140,000 คนภายในปี 2027
อย่างไรก็ตาม สถิติจำนวนเด็กและเยาวชน NEETs ปัจจุบันกลับสะท้อนให้ปฏิมาเห็นว่า “ประเทศไทยยังอยู่ห่างจากเป้าหมาย” และเมื่อแยกข้อมูลอัตราเด็กและเยาวชน NEETs ตามระดับการศึกษาจะพบว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มักได้รับการศึกษาสูงสุดเพียงระดับมัธยมต้น ซึ่งด้วยระดับทักษะนี้ หากพวกเขาตัดสินใจริเริ่มหางานทำ การหางานก็ยังถือเป็นเรื่องยาก
โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสภาพัฒน์ฯ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กระทรวงแรงงาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยปฏิมาเล่าว่าโครงการนี้เริ่มจากการกำหนดขอบเขตกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมายมาก กล่าวคือคณะทำงานในพื้นที่เป็นกำลังหลักในการระบุว่าใครในชุมชนเป็นเด็กและเยาวชน NEETs รวมถึงเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงจะกลายเป็น NEETs
จากนั้นคือกระบวนการติดต่อโน้มน้าวให้กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ ซึ่งปฏิมาระบุว่าเป็นขั้นตอนการสร้างความเชื่อใจที่สำคัญมากและจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครองด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กและเยาวชน NEETs ในไทยจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่ไม่อยากทำอะไรเลย ไม่ว่าจะฝึกวิชาชีพหรือเรียนหนังสือ ทั้งนี้ เธอเผยว่าจากจำนวนกลุ่มเป้าหมาย 120 คน มีเด็กและเยาวชน NEETs เพียง 38 คนที่เข้าร่วมโครงการ
เมื่อโน้มน้าวสำเร็จ ปฏิมาเล่าว่าขั้นตอนถัดมาคือกระบวนการเตรียมความพร้อมโดยการฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ต่อไป ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากสถานประกอบการในพื้นที่เช่นกัน
ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนหลังการฝึกอบรม ปฏิมาชี้ว่าขั้นตอนนี้คือกระบวนการผลักดันเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือตลาดแรงงาน ซึ่งเธอระบุด้วยว่าโอกาสทางอาชีพของเยาวชนกลุ่ม NEETs มักจะเป็นงานวิชาชีพ เช่น ช่างไฟ ช่างซ่อม หรืองานอื่นๆ ที่สร้างรายได้อย่างมั่นคง
“เราแสดงให้เยาวชนกลุ่มนี้เห็นว่าคุณจะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าหากเริ่มทำอะไรสักอย่างในวันนี้” ปฏิมากล่าว อย่างไรก็ดี มีนักเรียนเพียง 28 คนเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ จากเดิมที่มีผู้เข้าร่วมโครงการแรกเริ่ม 38 คน
เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้าย กล่าวคือขั้นตอนของการปูทางให้เยาวชนกลับคืนสู่ระบบการศึกษาหรือตลอดแรงงาน ปฏิมาเล่าว่ามีเยาวชน 25 จาก 28 คนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือหางานตามทักษะที่ผ่านการฝึกอบรมได้ โดยชี้ว่ามีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ยังทำไม่สำเร็จ โดยทางโครงการก็กำลังพยายามแก้ไข
อีกบทเรียนสำคัญที่ปฏิมาได้จากโครงการ คือการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เธอเล่าว่าความร่วมมือของหลายภาคส่วนในพื้นที่ให้มีส่วนผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะองค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สถานศึกษา และสถานประกอบการในชุมชน
หากถามว่าอะไรคือความท้าทายของโครงการ ปฏิมาอธิบายว่าเมื่อระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดไม่มีคุณภาพ ก็ยิ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายจำนวนมากเข้าไม่ถึงโครงการนี้ เนื่องจากตำบลนาพู่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง แต่กลุ่มเป้าหมายจำเป็นต้องเดินทางเข้าใจกลางเมืองเพื่อฝึกอบรมทักษะ
“สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจปัญหาในพื้นที่และต้องทำอย่างไรก็ได้ให้กลุ่มเป้าหมายเชื่อมั่นในโครงการของเรา ส่วนการเตรียมความพร้อมก็ควรต้องเตรียมให้เหมาะสมกับความต้องการของบุคคล”
“ประชากร NEETs มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย เป็นเหตุว่าทำไมเราถึงต้องออกแบบโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายของพวกเขาให้ได้” ปฏิมาทิ้งท้าย
ออกแบบการเติมทักษะที่เหมาะสำหรับ ‘ทุกคน’ – คาเทีย มาลาเกียส
“สิ่งสำคัญคือการศึกษาสำหรับทุกคน เราต้องไม่ลืมคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม ซึ่งกลุ่มที่มักเผชิญปัญหา ขาดโอกาสด้านการศึกษาและการทำงาน คือกลุ่มผู้พิการหรือผู้บกพร่องรูปแบบต่างๆ” คือข้อความจากคาเทีย มาลาเกียส (Catia Malaquias) ผู้ก่อตั้งร่วมกลุ่มพันธมิตร Australian Alliance for Inclusive Education
คาเทียยืนยันว่าสังคมต้องสร้างระบบการศึกษาที่ยั่งยืนและที่เอื้อให้ทุกคนมีส่วนร่วม (inclusive) โดยเฉพาะการให้โอกาสผู้พิการให้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะโอกาสด้านการศึกษา การเรียนรู้ หรือการทำงาน เฉกเช่นเดียวกับบุคคลอื่น
การให้สิทธิผู้พิการเข้าถึงระบบการศึกษาถือเป็นสิทธิที่ถูกให้ความสำคัญในระดับโลก คาเทียอธิบายถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการข้อ 24 อันระบุว่าผู้พิการต้องมีสิทธิเข้าถึงระบบการศึกษาโดยไม่เลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ต้องมีระบบการศึกษาที่ออกแบบมาเพื่อผู้พิการในทุกระดับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะการศึกษาภาคบังคับ สายวิชาชีพ อุดมศึกษา ตลอดจนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาความสามารถของผู้พิการให้มีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ เธอยังอธิบายถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อ 4 อันระบุว่าการศึกษาควรต้องมีคุณภาพและเข้าถึงทุกคน
“วิธีการออกแบบโปรแกรมเพิ่มเติมทักษะใหม่ (reskill) และพัฒนาทักษะเดิม (upskill) จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเรากำลังจะสร้างสังคมที่เอื้อให้ทุกคนมีส่วนร่วม หรือจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ … ถ้าเราออกแบบโปรแกรมไม่ดี ผู้พิการก็จะถูกกัดกันและกลายเป็นชายขอบยิ่งขึ้นเรื่อยๆ” คาเทียกล่าว
วิกฤตโควิด-19 ทำให้โรงเรียนจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ในแง่หนึ่งจึงสร้างผลกระทบต่อผู้พิการบางคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนและสื่อการเรียน อย่างไรก็ตาม คาเทียชี้ว่าโควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้สังคมได้ขบคิดถึงวิธีออกแบบการเรียนการสอนโดยคำนึงถึง universal design principle หรือการออกแบบที่คำถึงความเหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์ที่เหมาะสำหรับนักเรียนทุกประเภท
ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนบางคนเพียงแค่ universal design ก็อาจยังไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น การออกแบบการเรียนการสอนและการสนับสนุนที่เหมาะสำหรับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ (customised) ก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน
คาเทียยกตัวอย่างกรณีศึกษาโรงเรียน Bob Hawke College ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด โรงเรียนแห่งนี้ใช้วิธี blended learning กล่าวคือการเรียนการสอนที่ผสมระหว่างการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า (face to face) และการเรียนออนไลน์ แน่นอนว่าเส้นทางช่วงแรกไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนักเรียนพิการจำนวนมากเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและตามบทเรียนไม่ทัน
โรงเรียนจึงพัฒนาการเรียนการสอน blended learning โดยยึดหลัก universal design เพื่อให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ และสร้างการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นและมีหลายแนวทางสำหรับนักเรียนแต่ละคน เช่น นักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้จะเข้าถึงรูปแบบเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา เช่น สื่อการสอนวิดีโอ เทคโนโลยีอ่านให้ฟัง (text to speech) หรือสื่อการเรียนรู้อื่นๆ ที่ถูกออกแบบให้เข้ากับความต้องการที่หลากหลาย
“การ blended learning จะให้ความยืดหยุ่นแก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมกับเนื้อหาในย่างก้าวที่ตนเองถนัด”
“ประโยชน์จาก blended learning มีมากกว่าภายในห้องเรียน สิ่งนี้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมตัวนักเรียนพิการสำหรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตลาดแรงงาน และด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนรู้เช่นนี้ นักเรียนพิการจะมีโอกาสในการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีประโยชน์ต่อการประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานยุคปัจจุบัน” คาเทียระบุ
คาเทียกล่าวว่ารูปแบบการเรียนการสอน blended learning เช่นนี้ ยังสามารถเป็นรูปแบบการออกแบบโปรแกรม reskill และ upskill ได้ด้วย โจทย์คือทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้ พร้อมกับออกแบบโปรแกรมให้เหมาะสมและรองรับความต้องการของแต่ละบุคคล เปิดโอกาสให้ปัจเจกสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ในระดับที่ตนเองถนัด ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับผู้พิการ แต่ต้องเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย เช่น แรงงานทักษะต่ำ แรงงานที่ใช้ภาษาที่สองในการทำงาน เป็นต้น
และหากอยากให้เกิดการจ้างงานอย่างยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะในหมู่ผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนการสอนเพิ่มทักษะที่มีส่วนร่วมได้ทุกคนอาจยังไม่เพียงพอ คาเทียจึงเสนอแนวทาง customised employment ร่วมด้วย กล่าวคือแนวทางการปรับงานให้เหมาะสมกับทักษะและความสามารถของแต่ละคน ซึ่งแตกต่างจากการจ้างงานทั่วไปที่มักหาคนที่ทักษะสอดคล้องกับตำแหน่งงานที่มี
คาเทียอธิบายว่า customised employment จะสร้างความยืดหยุ่นในการออกแบบอาชีพ แรงงานจะสามารถทำงานสอดคล้องกับทักษะที่มี จนกระทั่งสร้างคุณค่าและความหมายกับงาน ขณะที่นายจ้างก็ได้ผลประโยชน์ตามความคาดหวัง
“ความร่วมมือระหว่างนักการศึกษา นายจ้าง และนักนโยบาย จะเป็นแกนสำคัญที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริง นักนโยบายและรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม รวมถึงการพัฒนาตลาดแรงงานด้วยการสร้างนโยบาย และโครงสร้างการสนับสนุน” คาเทียระบุ
ทั้งนี้ คาเทียเห็นว่าการ reskill และ upskill ไม่ใช่แค่ทางเลือกเพื่อยกระดับอาชีพ แต่เป็นทางรอดในการแข่งขันท่ามกลางเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเธอเน้นย้ำว่าผู้พิการจำเป็นต้องอยู่ในความเคลื่อนไหวนี้และเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม
“นี่หมายถึงการขยับขยายให้กว้างกว่าวิธีการ one size fits all (วิธีการเดียวสำหรับทุกคน) การเรียนการสอนไม่ควรเป็นรูปแบบเดียว และเราควรสนับสนุนความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ การปรับการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับปัจเจก โดยเอาความหลากหลายของมนุษย์เป็นใจกลางของการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษา”
“เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรมและมีส่วนร่วมสำหรับ ‘ทุกคน’ อย่างแท้จริง” คาเทียระบุ
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world