นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี เมื่อ ศุภชัย วงษ์สิงห์ และ อภิรักษ์ ฟักทอง นักศึกษา ปวส. ปี 1 สาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ดีกรีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หลังสามารถคว้ารางวัลที่ 2 ในการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่ รุ่น Open (อายุไม่เกิน 20 ปี) โครงการส่งเสริมศักยภาพความเป็นนวัตกร “นวัตกรน้อย” ภายใต้โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ศุภชัย เริ่มต้นอธิบายว่า ใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ในการฝึกซ้อม สื่อสารกับทีม และต้องเรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python ซึ่งเป็นภาษาเขียนโปรแกรมระดับสูงซึ่งยังไม่มีการเรียนการสอนในระดับ ปวส. ปี 1 โดยตนและเพื่อนร่วมทีมต้องให้เวลากับการเรียนภาษาจากอาจารย์ตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนจะหัดแก้โค้ดและลงมือเขียนโปรแกรมเอง
“ส่วนตัวมีความสนใจเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาตั้งแต่เด็ก แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ คืออาจารย์วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรีได้เข้าไปแนะแนวการเรียนสายอาชีพในโรงเรียน ทำให้ได้มีโอกาสทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ตนสนใจสามารถศึกษาต่อไปได้จนถึงในระดับสูง และนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ โดยส่วนตัวตั้งใจว่าจะเรียนให้ถึงระดับปริญญาตรี และทำงานในสาขาที่เรียนมา สำหรับทุนนวัตกรรมฯ คือสิ่งที่ทำให้ตนกล้าฝันได้ไกลยิ่งขึ้น และทำให้มีกำลังใจในการแข่งขัน” ศุภชัยเล่าถึงจุดเปลี่ยนชีวิต
ศุภชัย ระบุอีกว่า ระยะทางระหว่างบ้านมาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ไกลมาก การเดินทางจึงมีค่าใช้จ่ายสูงแล้วการเรียนสาขานี้ต้องใช้ทุนค่อนข้างมาก ทั้งค่าเทอม รวมถึงอุปกรณ์ทำโครงงานต่างๆ ซึ่งหากไม่มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมาช่วย คงต้องตัดสินใจเลือกเรียนสายอื่นแทนหรือหยุดเรียนไป
ไม่ต่างจาก อภิรักษ์ เล่าเช่นกันว่า ค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. ช่วยให้มองเห็นอนาคตที่ดีในวันข้างหน้าได้ เนื่องจากครอบครัวทำงานรับจ้างรายวันไม่มีรายได้มากนัก ทุนที่ได้รับจึงช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อกับแม่ได้ ทำให้ตัวเองพอมีเวลาสามารถทุ่มเทกับการเรียนได้อย่างเต็มที่
“การเรียนสาขานี้ต้องใช้เงินสูง ทุนนวัตกรรมฯ ที่ได้รับทำให้ผมไม่ต้องเบียดเบียนพ่อแม่ ไม่ต้องไปทำงานรับจ้างเพื่อหาเงินมาเรียน จึงมีเวลากับการพัฒนาทักษะและทำโครงงานได้มากขึ้น ส่วนหลังจบ ปวส. ผมตั้งใจว่าอยากเรียนครู เพื่อจะกลับมาสอนที่วิทยาลัยแห่งนี้ในสาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียนมา เพราะที่นี่คือบ้านเรา อีกไม่กี่ปีอาจารย์หลายท่านจะเกษียณ ผมหวังว่าจะได้กลับมาสอนและพัฒนาเด็กรุ่นถัดๆ ไป เช่นที่ผมได้รับจากอาจารย์ในวันนี้” อภิรักษ์กล่าว
ณรงค์ศักดิ์ แสงเงิน หัวหน้าแผนกอิเล็กทรอนิกส์และแมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ระบุว่า ในงานฝีมือแรงงานแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา มีทีมเข้าแข่งขันในรุ่นโอเพ่นจากทั่วภาคกลางล้วนเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและระดับ ปวส. ที่มีความสามารถการ ที่นักศึกษาทั้งสองคนได้รางวัลเป็นเพราะได้ใช้ทักษะที่มีและความตั้งใจในการทำงานอย่างหนัก
ปีนี้ ทาง กสศ. มีโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นรุ่นที่ 1 เด็กกลุ่มนี้ที่เราออกไปสำรวจ ได้เข้าไปดูบ้านและสัมภาษณ์ทั้งเด็กและครอบครัว เราพบว่านอกจากปัญหาความยากจนที่ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาแล้ว เรื่องของระยะทางจากบ้านถึงวิทยาลัยก็นับว่ามีส่วนสำคัญไม่น้อย ที่ทำให้เด็กหลายคนจำเป็นต้องเลือกเรียนโรงเรียนใกล้บ้านแทน
“มีนักเรียนชั้น ม.3 หลายคนที่อยากเรียนเทคนิค แต่ติดที่การเดินทางภายในจังหวัดไม่เอื้อให้เขาเรียนได้ อย่างในจังหวัดสิงห์บุรีเรามีวิทยาลัยเทคนิคเพียงแห่งเดียว ซึ่งคล้ายกับอีกหลายจังหวัดเล็ก ๆ ทั่วประเทศ ปัญหาด้านการคมนาคมนี้เองที่ตัดโอกาสของเด็ก เพราะการเข้ามาเรียนในตัวเมืองเด็กจำเป็นต้องมีทุนอยู่หอพักหรือมียานพาหนะ นั่นยังไม่นับว่าการเรียนเทคนิคถือว่ามีค่าใช้จ่ายในการทำโครงงานและอุปกรณ์การเรียนที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย” หัวหน้าแผนกอิเล็กทรอนิกส์ฯ สาธยาย
อาจารย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทุนจาก กสศ. จึงนับว่าตอบโจทย์โดยตรงทั้งเรื่องการสนับสนุนเด็กให้ได้เรียนสายอาชีพ หากไม่มีเงินก้อนนี้เด็กหลายคนก็ต้องเลือกเรียนโรงเรียนมัธยมใกล้บ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะมันสอดรับกับสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเด็ก ขณะเดียวกันโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นระบบอัตโนมัติ หลายปีที่ผ่านมา สาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม จึงเป็นสาขาที่มาแรงและตอบโจทย์ตลาดแรงงานตรงจุด เด็กจบใหม่สามารถเข้าทำงานได้ทันที 100 เปอร์เซ็นต์