“การศึกษาที่ดีควรเหมือนแหอวนที่โอบกอดทุกคนไว้” ทลายกำแพงอคติเรื่องการศึกษาของเด็กข้ามชาติ กับ โรยทราย วงศ์สุบรรณ
สัมภาษณ์ : ณัชชา สินคีรี / ภาพถ่าย : ปองพล ศาตมัย, กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

“การศึกษาที่ดีควรเหมือนแหอวนที่โอบกอดทุกคนไว้” ทลายกำแพงอคติเรื่องการศึกษาของเด็กข้ามชาติ กับ โรยทราย วงศ์สุบรรณ

3.3 ล้านคน คือตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย

‘แรงงานข้ามชาติ’ อาจเป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยมานานหลายปี ความหมายของคำนี้เกิดพลวัตไปตามยุคสมัยและความเข้าใจที่เรามีต่อบทบาทของพวกเขาในฐานะฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างแยกขาดจากกันได้ยาก แต่อีกบทบาทหนึ่งที่เรามักมองข้าม นั่นคือการเป็นพ่อแม่ของ ‘เด็กข้ามชาติ’

ขณะที่แรงงานข้ามชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ลูกหลานของพวกเขากลับเข้าไม่ถึงโอกาสในชีวิตหลายประการ โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา การที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีสั่งมีคำสั่งปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนความเปราะบางของระบบการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติอย่างเห็นได้ชัดเจน เด็กนับพันคนถูกตัดขาดจากโอกาสในการเข้าถึงความรู้ ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายในภาพใหญ่ก็ยังไม่มีคำตอบว่าจะแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กข้ามชาติในระยะยาวได้อย่างไร

การปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น เมื่อมองย้อนเหตุการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งการที่พรรคประชาชนถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘พรรคประชาชนพม่า’ หลังจากอภิปรายเรื่องการยกระดับสิทธิแรงงานข้ามชาติ และกระแสโต้กลับมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้รับรองสัญชาติกลุ่มอพยพและบุตรที่เกิดในไทย 483,000 คน

เหตุการณ์ข้างต้นชวนให้ตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วทัศนคติของคนไทยที่มีต่อคนข้ามชาตินั้นเป็นอย่างไร รัฐไทยควรมีแนวทางการจัดการประชากรข้ามชาติอย่างไร ทั้งในแง่การจัดการแรงงาน และการจัดการศึกษาของเด็กข้ามชาติ แนวทางการจัดการศึกษาแบบใดที่จะตอบโจทย์ชีวิต ‘เด็กนอกระบบ’ เหล่านี้ และเมื่อเด็กข้ามชาติหลุดจากระบบการศึกษา จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ

วันโอวัน สนทนากับ โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาการรณรงค์นโยบายเพื่อเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติแห่งประเทศไทย (Migrant Working Group) เพื่อหาคำตอบว่าประเทศไทยจะสร้างแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติและการศึกษาของเด็กข้ามชาติอย่างไรเพื่อให้ผู้คนเหล่านี้ถูกนับรวมอย่างแท้จริง

ตลอดการทำงานของคุณ คุณเห็นปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในท่าทีของไทยต่อแรงงานข้ามชาติ และสิ่งเหล่านั้นสะท้อนอะไร

ประเด็นแรก คือบทบาทของรัฐในการจัดการประชากรและแรงงานข้ามชาติ ต้องกล่าวว่าคนข้ามชาติอยู่ในเมืองไทยมานานแล้ว แต่ประมาณปี 2544 มีจุดเปลี่ยนสําคัญในยุคทักษิณ ชินวัตร คือการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการดึงอํานาจกลับมาที่ส่วนกลาง เพราะต้องใช้มติคณะรัฐมนตรีออกแบบนโยบายในการจดทะเบียนแต่ละครั้ง   

จุดเปลี่ยนต่อมาคือยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับแรงกดดันหลังจากประเทศไทยได้ใบเหลืองกรณีประมงผิดกฎหมาย (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU) นำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งใหญ่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งเราจะขยายความเรื่องนี้ในภายหลัง แต่ถ้ากล่าวในเบื้องต้น เรามองว่าประเทศไทยมีความสามารถในการจัดการประชากรข้ามชาติมากขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ประเด็นที่สอง คือทัศนคติของคนไทย ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยอยุธยามีชาวต่างชาติรับราชการในราชสํานัก และยุคต่อๆ มา ประเทศไทยก็พึ่งพิงแรงงานต่างชาติมาตลอด ดังนั้นเราจึงค่อนข้างแปลกใจที่คนไทยดูเหมือนไม่ค่อยชินกับพหุวัฒนธรรมเมื่อพูดถึงเรื่องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศเรามีการสร้างความเป็นไทยที่จำกัดเฉพาะกลุ่มว่าต้องมีอัตลักษณ์แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้นถึงเรียกได้ว่าเป็นไทย

ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลกก็มีแนวโน้มต่อต้านคนอพยพ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง คือเรื่องผู้อพยพ ทั้งที่อเมริกาเป็นประเทศที่สร้างจากผู้อพยพด้วยซ้ำ แต่สาธารณชนก็อาจรู้สึกว่าคนที่เข้ามาใหม่จะปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมได้ยาก และอาจมาแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จํากัด โดยเฉพาะในหมู่คนที่รายได้น้อย

เราไม่อยากพูดว่าคนไทยต่อต้านคนข้ามชาติ เพราะท่ามกลางความคิดเห็นในโลกโซเชียลว่าต้องไล่พวกพม่ากลับไปให้หมด เราก็ยังเจอความเห็นทำนองว่า “ถ้าคนพม่ากลับหมดแล้วใครจะทํางาน” เราตีความว่าคนที่คิดเช่นนี้อาจได้ประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ เช่น เป็นนายจ้าง หรือเจ้าของหอพักที่แรงงานข้ามชาติเช่าอยู่ โดยรวมแล้ว เรามองว่าคนไทยส่วนมากได้รับประโยชน์และมีความคุ้นเคยกับแรงงานข้ามชาติมากขึ้น และเราก็ยังไม่เคยเห็นคนไทยใช้ความรุนแรงคุกคามคนข้ามชาติแบบจัดตั้งเหมือนในต่างประเทศ

ประเด็นที่สาม คือปัจจัยภายนอกที่กดดันรัฐบาลในการจัดการแรงงานข้ามชาติ แต่เดิมไทยกําหนดกติกาการจัดการพลเมืองในประเทศเอง แต่เมื่อไทยเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการค้าโลก ก็จะมีกติการะหว่างประเทศในเรื่องสิทธิคนทํางาน เราเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันหรือรัฐบาลอื่นก็ต้องพยายามให้กฎหมายแรงงานข้ามชาติมีการบังคับใช้ที่เป็นธรรมและไม่นําไปสู่การเลือกปฏิบัติ เพราะสุดท้ายแล้ว จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย อย่างกรณีอุตสาหกรรมอาหารทะเล หลังจากที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองกรณีประมงผิดกฎหมาย คนกําหนดนโยบายก็เริ่มคิดปรับแก้ ก็น่าตั้งคำถามว่ารัฐราชการไทยอาจจะไม่ได้ฟังคนไทย แต่ฟังกระแสตีกลับจากแรงกดดันระหว่างประเทศ นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าปัญหาที่รัฐบาลไทยเคยให้ลูกจ้างกับนายจ้างจัดการกันเอง กลายเป็นว่าต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขึ้น

อีกเรื่องที่ต้องกล่าวถึงคือปัจจัยที่ผลักให้คนอพยพและปัจจัยที่ดึงดูดคนอพยพ (push and pull factors) อย่างปัจจัยดึงดูดคือเรื่องการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยที่ผลักให้คนออกนอกประเทศ ก็เช่นสงคราม ตั้งแต่เราจัดการผู้ลี้ภัยจากเวียดนามหรือกัมพูชาในสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช เราให้พวกเขาอยู่แต่ในค่ายผู้ลี้ภัย นับแต่นั้นมาคนไทยก็จะมองว่าคนหนีสงครามเป็นภาระที่ต้องให้ความช่วยเหลือ ซึ่งก็เพราะเราให้เขาอยู่ในพื้นที่จํากัดตั้งแต่แรก อย่างกรณีชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยเข้ามาช่วงปี 2015-2016 เราก็มักจะได้ยินคำพูดทำนองว่า “เอาโรฮิงญาไปเลี้ยงที่บ้านเองสิ” หรือกรณีรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุด คนไทยก็อาจรู้สึกว่าถ้าคนเมียนมาลี้ภัยมา เราก็ต้อง ‘เลี้ยง’ พวกเขา แต่อันที่จริง มนุษย์ทุกคนไม่อยากให้ใครมาเลี้ยงหรอก ทุกคนก็หวังว่าตัวเองจะเป็นคนเก่ง จะทำงานได้ แต่พอคุณให้เขาไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เขาก็ทำอะไรไม่ได้

เมื่อกล่าวถึงแรงงานข้ามชาติในมุมที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ มักมีความเชื่อว่าแรงงานข้ามชาติจะมาแย่งงานคนไทย อยากให้คุณอธิบายเพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ผิดนี้

ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายประมาณ 3.3 ล้านคน ซึ่งรวมถึงแรงงานที่มีทักษะด้วย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติปี 2547 มีแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายราว 1 ล้านคน และคนไทยที่มีงานทำประมาณ 35 ล้านคน แต่ปัจจุบันนี้ แม้จำนวนแรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารจะเพิ่มขึ้นราวสามเท่าตัว แต่จำนวนคนไทยที่มีงานทำคือประมาณ 33 ล้านคน ซึ่งลดลงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อพิจารณาประกอบกับโครงการประชากรที่ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก กล่าวโดยสรุปคือ อัตราการว่างงานของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีแรงงานข้ามชาติเข้ามา

มุมมองต่อปัญหาการแย่งงานขึ้นอยู่กับว่าคนไทยมองการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตอย่างไร การแก้โจทย์ปัญหาแรงงานที่ทำงานสกปรกและอันตราย (dirty and dangerous) คือการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทดแทน แต่ภาคเกษตรไทยใช้เครื่องจักรกลน้อยมาก ไทยไม่ใช่เจ้าของนวัตกรรมการผลิต สินค้าเกษตรรวมไปถึงอาหารแปรรูปส่งออก ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นสินค้าหน้าตาเดิมๆ ยังต้องใช้แรงงานเยอะมาก ดังนั้นเมื่อมองในระยะยาว ปัญหาจึงอาจไม่ใช่เรื่องการแย่งงาน แต่เป็นการแบ่งคุณค่าในห่วงโซ่อุปทาน เพราะคุณค่าในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเหล่านี้ต่ำและกําไรส่วนเกินต่ำ ในเมื่อการแข่งขันในโลกนี้แข่งกันด้วยราคาที่ถูก จึงทําให้ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และต้องพึ่งแรงงานค่าแรงขั้นต่ำ

อย่างที่สองคือช่วงหลังมานี้ไทยกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อัตราส่วนของคนทํางานก็จะลดลง จากที่เกษตรกรใช้แรงงานตัวเองในการผลิต แล้วไม่ได้นับต้นทุนค่าแรงตัวเอง ทําให้พวกเขายังอยู่ได้ แต่ในอนาคต ถ้าเกษตรกรไทยซึ่งส่วนใหญ่ถือครองที่ดินเฉลี่ยแค่ 8-10 ไร่ อายุมากจนไม่สามารถใช้ตัวเองเป็นแรงงานได้แล้ว ไทยก็ต้องดึงแรงงานข้ามชาติเข้ามา ดังนั้นเกษตรกรเจ้าของที่ดินก็อาจรู้สึกว่าเขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งที่ตนไม่ได้ร่ำรวย เราจึงมองว่าการจัดการแรงงานข้ามชาติในไทยจึงต้องเชื่อมโยงกับการจัดการประชากรไทยและภาคการผลิตด้วย ทั้งนี้ เราก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะจัดการความขาดแคลนแรงงานในอนาคตอย่างไร

เรามองว่าถ้ามีการวิจัยและพัฒนา (research and development: R&D) ที่ดี งานบางอย่างจะหายไปโดยธรรมชาติ ส่วนตัวเวลาพูดถึงการแย่งงาน เรากังวลเรื่องเอไอและการผลิตที่มีมูลค่าถูกกว่าในประเทศอื่นมากกว่า คือสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ผลิตที่อื่นได้ถูกกว่าเรา อย่างไทยเราปลูกข้าว เวียดนามปลูกเยอะกว่าเรา แต่ไต้หวันผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ใครจะไปแย่งงานได้

ทั้งนี้ นักการเมืองต้องฉลาดและเก่ง ต้องมีเครื่องมือทางการค้าว่าจะทำอย่างไรให้ไทยโดดเด่นในห่วงโซ่อุปทาน เช่น มีการรวมกลุ่มต่อรองกับประเทศอื่นในการผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจึงยากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือการจัดการแรงงานข้ามชาติ

ปัญหาของไทยในการจัดการแรงงานข้ามชาติคืออะไร

ปัญหาใหญ่ของการจัดการแรงงานข้ามชาติคือการรวมศูนย์โดยรัฐ ภาระในการทําให้แรงงานถูกกฎหมายตกที่นายจ้างตกและแรงงาน อีกทั้งขั้นตอนยังเป็นแบบกระทรวงใครกระทรวงมัน เช่น กระทรวงแรงงานออกใบอนุญาตทำงาน กระทรวงมหาดไทยจัดทําบัตรสีชมพู สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีหน้าที่ออกวีซ่า

กลายเป็นว่าการจะมีแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายหนึ่งคน ทั้งแรงงานและนายจ้างต้องเจอขั้นตอนยุ่งยากหลายขั้นตอน และแยกกันทำในแต่ละหน่วยงาน เพราะถูกออกแบบโดยหน่วยงานรัฐที่มองว่าคนมาใช้บริการแค่ขั้นตอนนั้นๆ ของหน่วยงานตนเอง แต่ไม่เห็นว่าพวกเขาต้องผ่านขั้นตอนมากแค่ไหนตั้งแต่ต้นจนจบ

ทุกวันนี้เราไม่เข้าใจว่าเวลาพูดถึงเรื่องคนข้ามชาติ หน่วยงานที่มีสิทธิพูดมากกว่าคนอื่นคือหน่วยงานความมั่นคง เราคิดว่าคงเป็นเพราะวิธีคิดรัฐราชการยังเป็นมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ เขาคงคิดว่าหน่วยงานความมั่นคงอาจเข้าใจชายแดนหรือเข้าใจการมีอยู่ของประชากรบริเวณนั้น ดังนั้นการออกแบบนโยบายก็เลยเป็นไปตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่นั่งรวมกันอยู่ในห้อง การตัดสินใจทุกอย่างออกมาจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด แต่ทุกวันนี้โจทย์โลกยากขึ้น บริบทสังคมเปลี่ยนไป เราจะใช้วิธีคิดแบบนี้ไม่ได้แล้ว

ถ้าคุณใช้มุมมองของผู้เชี่ยวชาญสั่งการจากส่วนกลางให้ทุกแห่งปฏิบัติเหมือนๆ กัน บางคนก็อาจทําไม่ได้ มันไม่ตอบโจทย์ตลาดงานของเขา อย่างแรงงานทำงานบ้านก็มีโจทย์ที่แตกต่างกับแรงงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลขนาดใหญ่ ดังนั้นเราต้องการวิธีการจัดการที่ยืดหยุ่น แต่ตอนนี้มีแค่ระบบเดียวสําหรับทุกคน และคนที่ได้รับผลกระทบไม่มีอํานาจตัดสินใจ

เราพูดตลอดว่า พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เขียนขึ้นในปี 2518 ที่ดอนเมืองยังเป็นสนามบินระหว่างประเทศแห่งเดียวของไทย ซึ่งเราคิดว่ารัฐรู้ว่า พ.ร.บ. นี้อาจจะไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันแล้ว แต่รัฐก็แก้ปัญหาโดยการออกมติ ครม. เป็นครั้งๆ ไป ซึ่งถ้าเรายังจัดการคนข้ามชาติด้วยระบบราชการเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้กลับมารื้อดูเลยว่าตอนนี้เราอยู่บนฐานที่ดีพอหรือเปล่า

คนไทยต้องคิดโจทย์ร่วมกันว่าเราจะเผชิญความท้าทายในอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนแรงงาน การยกระดับการผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้น และอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในภาคการผลิตโดยตรง คือการขาดแรงงานดูแล (care worker) โดยเฉพาะในสังคมที่สัดส่วนประชากรเป็นพีระมิดหัวกลับ คือคนอายุน้อยที่มีจำนวนน้อยจะต้องแบกรับผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาวขึ้นและเพิ่มจำนวนมากขึ้น

หลังจากที่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้รับรองสัญชาติกลุ่มอพยพและบุตรที่เกิดในไทย จำนวนราว 483,000 คน ก็เกิดกระแสความไม่พอใจในโลกโซเชียลมีเดีย คุณมองว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนอะไรในประเด็นคนข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติ

เราคิดว่าสังคมไทยมีคําศัพท์ด้านประชากรข้ามชาติจำกัด ตามกฎหมายไทยมีไม่กี่คำ เช่น แรงงานข้ามชาติ ชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ ซึ่งคำว่าผู้อพยพนี้นับรวมตั้งแต่คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวจนถึงคนที่อยู่มานานแล้ว กรณีมติ ครม. นี้ คำว่ากลุ่มอพยพคือคำตามที่ระบุในบัตรประจำตัว แต่จริงๆ พวกเขาอยู่มานานแล้ว ได้บัตรประจำตัวแล้ว แต่ประสบปัญหาความยืดเยื้อในการขอรับรองสัญชาติ แต่ไทยยังใช้คำศัพท์ว่าผู้อพยพ ซึ่งฟังดูเหมือนคนที่เพิ่งเข้ามา ศัพท์เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในสังคมไทยมันจำกัด เมื่อพูดโดยไม่มีบริบท ไม่มีความเข้าใจ อ่านพาดหัวข่าว ฟังคลิปติ๊กต็อก 30 วินาที มันก็เลยดูน่าสะพรึงกลัว

นอกจากนี้ เรามีข้อสังเกตว่าสื่อโซเชียลมีเดียใช้ระบบเอ็นเกจเมนต์ในการวัดความสําเร็จ เช่น การพาดหัวแรงๆ ว่า ‘พม่ายึดไทย’ มันดูน่าคลิกมากกว่า ‘ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนไทยและคนพม่าในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี’ การใช้ภาษาแบบนี้ทำให้เราถูกกระตุ้นด้วยความเกลียดตลอดเวลา และอัลกอริทึมก็ก็จะดึงเราเข้าไปให้สื่อโซเชียลมีเดียได้ยอดเอ็นเกจเมนต์

แม้ประเด็นอาจถูกกระพือโดยแรงของโซเชียลมีเดีย แต่เราก็ตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยอาจไม่ได้คิดแบบนี้ทุกคน นี่อาจเป็นอัลกอริทึมของคนบางกลุ่ม เสียงส่วนใหญ่อาจยังไม่ได้แย่จนรัฐลุกขึ้นมาตัดสินใจพลิกกลับนโยบายนี้ ก็น่าจะเป็นนโยบายที่รัฐตกผลึกมาค่อนข้างดี มีการศึกษาหลายปี ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว

ทั้งนี้ เรามองว่ารัฐบาลก็ต้องเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ต่างประเทศก็มีบทเรียนเรื่องนี้ อย่างในสหราชอาณาจักร ปัจจัยหนึ่งที่ทําให้พรรคแรงงานกลับมาชนะเลือกตั้ง คือแผนส่งผู้ลี้ภัยกลับรวันดาที่ใช้เงินหลายล้านปอนด์ ซึ่งทำให้คนอังกฤษรู้สึกว่าแทนที่จะใช้เงินจำนวนนี้กีดกันผู้อพยพ ควรนำมาอุดหนุนระบบอื่นๆ ในประเทศดีกว่าไหม

เมื่อกล่าวถึงแรงงานข้ามชาติ ก็จำเป็นจะต้องกล่าวถึงลูกแรงงานข้ามชาติด้วย อยากถามคุณว่าการศึกษาของเด็กข้ามชาติสำคัญอย่างไร

ต้องเล่าว่าหลังจากปี 2015 ที่มีการเลือกตั้ง เมียนมาอยู่ในระบบค่อนข้างจะกึ่งประชาธิปไตย แรงงานเมียนมาจํานวนมากส่งลูกกลับประเทศไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เพราะแรงงานก็ต้องทำงาน และการเลี้ยงเด็กที่ไทยก็เสียค่าใช้จ่ายมากกว่าส่งลูกกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด สถานการณ์สงครามในเมียนมารุนแรงขึ้นมาก ดังนั้นตามสัญชาตญาณมนุษย์ เมื่อบ้านของตนไม่ปลอดภัย แรงงานเมียนมาจํานวนมากก็จะพยายามให้คนในครอบครัวได้อยู่ในที่ที่ปลอดภัยกว่า หรือถ้าคลอดลูกที่ไทย ก็ไม่เลือกจะกลับเมียนมา เด็กเมียนมาจึงเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย แต่ไม่มีหน่วยงานที่มีสถิติว่าประเทศไทยมีเด็กข้ามชาติจำนวนเท่าไร หนึ่งคือแม้เด็กเกิดที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้หมายความว่ามหาดไทยจะมีฐานข้อมูล และสองคือเด็กเหล่านี้อาจเข้ามาประเทศไทยตอนที่เริ่มรู้ความแล้ว และพวกเขาไม่ได้ถูกบันทึกในฐานข้อมูล

นอกจากนี้ หลังรัฐประหาร คนเมียนมาที่มีการศึกษาดีตัดสินใจอพยพมาอยู่เมืองไทยมากขึ้น บางคนอาจเคยเป็นครู เขาจึงมาทำศูนย์การเรียนที่ไทย ซึ่งศูนย์การเรียนเหล่านี้จะอยู่ในจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติเยอะ นอกจากนี้ โรงเรียนไทยหลายโรงเรียนก็ให้ลูกแรงงานข้ามชาติเข้าเรียนด้วย เพราะสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าจำนวนนักเรียนไม่ถึงเกณฑ์ก็จะถูกยุบ เราเคยคุยกับนายจ้างในพื้นที่ต่างๆ พวกเขารู้สึกว่าการที่เด็กได้ไปโรงเรียนมีข้อดีในเชิงผลิตภาพ เพราะพ่อแม่ที่เป็นแรงงานสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกอยู่บ้านแล้วจะเป็นอย่างไร ก็เหมือนที่คนไทยเรียกร้องศูนย์เด็กเล็ก คือเราเป็นสังคมทุนนิยม มนุษย์ทุกคนต้องขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นส่วนตัวจึงคิดว่าคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับแรงงานข้ามชาติเข้าใจความสำคัญของการมีโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนของเด็กข้ามชาติ

สิทธิแรงงานข้ามชาติเชื่อมโยงอย่างไรกับสิทธิการศึกษาของเด็กข้ามชาติ

เด็กเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ถ้าเราต้องการพ่อแม่ของเขามาทำงาน เรามักได้ยินว่าแรงงานเมียนมามีลูกเยอะ แต่เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้รู้ดีว่าการมีลูกเป็นอุปสรรคในการเลื่อนชนชั้นทางสังคม และพวกเขาก็ไม่จําเป็นต้องมีลูกเยอะๆ เพื่อมาเป็นแรงงานในครัวเรือนเหมือนอดีตแล้ว ซึ่งการจะคุมกำเนิดได้ พวกเขาก็ต้องเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

เรามักได้ยินคำกล่าวว่า “แต่เวลาคนไทยไปทำงานที่อิสราเอลหรือเกาหลี เขาไม่ให้เอาเด็กไปนะ” เราก็จะคิดในใจตลอดว่าแล้วทำไมรัฐบาลไทยไม่ต่อรองกับเกาหลีกับอิสราเอลบ้าง นายจ้างอิสราเอลผลักให้คนไทยไปทํางานในพื้นที่เสี่ยงจนเสียชีวิต เราโกรธมากที่รัฐบาลไม่ปกป้องคนไทยจากการถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ถ้ากลับมามองเรื่องนี้ในมุมของคนข้ามชาติในไทย เราก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่มีสามัญสำนึกแบบนี้ในประเทศเรา พอไทยเราไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็ลืมปกป้องคนไทยด้วยกันเองเหมือนกัน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ปัจจุบันการศึกษาเด็กข้ามชาติมีปัญหาความไม่ครอบคลุมอย่างไรบ้าง

ในบางพื้นที่ เด็กอาจเข้าไม่ถึงโรงเรียนไทย แต่จํานวนเด็กก็อาจน้อยเกินไปที่จะเปิดศูนย์การเรียนข้ามชาติ เราก็ต้องเพิ่มทางเลือกให้ตอบโจทย์ เช่น มีคนเมียนมาที่เชื่อว่าวันหนึ่งจะชนะรัฐบาลทหารได้ และเขาจะพาลูกกลับประเทศ พวกเขาก็อาจให้เหตุผลว่าโรงเรียนไทยไม่ตอบโจทย์ เพราะลูกไม่ได้เรียนภาษาพม่า ดังนั้นโรงเรียนไทยอาจตั้งโจทย์ร่วมกับผู้ปกครอง เช่น เปิดวิชาเลือกภาษาพม่า โดยผู้ปกครองร่วมจ่ายค่าการเรียนการสอนเพิ่มเติม และถ้าเด็กไทยถ้าอยากเรียนภาษาพม่าก็ไม่ใช่เรื่องแย่ คนอาเซียนควรจะเรียนรู้ภาษาระหว่างกันมากขึ้น อย่างคนสิงคโปร์หรือมาเลเซียก็พูดได้หลายภาษา เราเชื่อว่ายิ่งสื่อสารได้หลายภาษา ก็ยิ่งดีกับสังคม

อย่างไรก็ดี หลักคิดพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะพ่อแม่คนไทยหรือชาติไหนก็ตาม เวลาเลือกระบบการศึกษาให้ลูก นอกจากจะพิจารณาหลักสูตรแล้ว เขาจะคิดว่ามันสอดคล้องกับอนาคตของลูกไหม โดยเฉพาะเรื่องการใช้ภาษา เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ ภาษาจีน หรือภาษาไทย ก็เพราะเขาเห็นว่าลูกเขาจะได้ใช้ภาษาเหล่านั้นในอนาคต กล่าวคือลูกอยู่ในสังคมแบบไหน เขาก็อยากให้ลูกเรียนหลักสูตรที่จะนำไปใช้ได้ในอนาคต

การจัดการศึกษาของเด็กข้ามชาติเป็นเรื่องยาก เพราะตัวเลือกชีวิตของเขามีสามตัวเลือกหลัก คือ 1) อยู่ในไทยต่อ และอาจจะเป็นแรงงานรุ่นสอง รุ่นสาม หรือรุ่นสี่ หรืออาจศึกษาต่อและได้รับรองสัญชาติไทย อย่างกรณีน้องหม่อง ทองดี 2) กลับประเทศต้นทาง กลับไปเข้าระบบการศึกษาระดับสูงและทำงานในเมียนมา และ 3) อพยพไปอยู่ประเทศที่สาม

หากไม่อพยพไปประเทศที่สาม ก็จะเหลือแค่สองตัวเลือก ดังนั้นการที่แรงงานข้ามชาติให้ลูกเรียนภาษาพม่า เขาแค่มองว่าวันหนึ่งลูกอาจจะต้องใช้ภาษานี้ โดยเฉพาะเพื่อการเรียนการสอนในระดับสูงขึ้นที่เมียนมา กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องตั้งโจทย์การศึกษาของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย โดยต้องมองให้เห็นตอนจบว่าหลังจากเด็กเหล่านี้ผ่านกระบวนการศึกษาแล้ว เขาจะเป็นใคร ทำอะไร มีหน้าที่แบบไหนในสังคมไทย แต่เราว่าวันนี้คนถกเถียงกันในประเด็นการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องทางกายภาพ กล่าวคือ โรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน ไปรับ-ไปส่งได้ อาคารสถานที่มีความปลอดภัย

ถ้าฟังจากที่สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการพยายามปกป้องจุดยืนนโยบาย คือเขามีโรงเรียนไทยให้แล้ว คุณก็เอาลูกเข้าโรงเรียนไทยสิ แต่เราก็สงสัยว่ากระทรวงการศึกษามองโจทย์อย่างไร ถ้าผลิตเด็กเมียนมาในหลักสูตรการเรียนการสอนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ความรู้วิชาการในระดับป.1 – ป.6 หรืออาจถึง ม.3 อาจยังพอได้ แต่เมื่อขึ้นชั้นม.4 หรือต่อจากนั้นคือระดับอุดมศึกษา เด็กกลุ่มนี้ต้องเข้าเรียนที่ไหน ชีวิตของคนเราไม่ได้แค่จบป.6 เพราะสุดท้ายทุกคนก็ต้องพยายามไปถึงจุดที่ดึงศักยภาพตัวเองออกมาให้สูงที่สุดเท่าที่จะทําได้

ในมุมมองของคุณ การจัดการศึกษาของเด็กข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร

เราเชื่อว่ามีโอกาสแห่งความยืดหยุ่น เด็กได้เรียนย่อมดีกว่าไม่ได้เรียน แต่จะเรียนอะไร แบบไหน เราสามารถออกแบบร่วมกันได้ โดยไม่จําเป็นต้องมีมาตรการเดียวสําหรับเด็กทุกคน

ปัจจุบันนี้มีโมเดลการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่เอ็นจีโอทํางานร่วมกับหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ หรือทําร่วมกับผู้ปกครอง เช่น ระบบ กศน. ห้องเรียนทางเลือก หรือการเทียบโอนเพื่อวัดผลการศึกษาระหว่างประเทศ เป็นต้น แต่เราคิดว่ายังมีวิธีตั้งโจทย์ และหาคําตอบสำหรับแต่ละพื้นที่ได้ อย่างความหนาแน่นของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่บางขุนเทียน จะเอาไปเทียบกับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่ชนบทอย่างสงขลาไม่ได้ ความต้องการของเด็กข้ามชาติในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน กระทรวงศึกษาจึงต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการคิด ส่วนกลางไม่ต้องคิดแทนทั้งหมด

นอกจากนี้ การมีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น มีการสอบเทียบ โดยเฉพาะเด็กที่กลับพม่า เราต้องพิจารณาว่าเขาเข้าสู่ระบบการศึกษาในเมียนมาได้หรือไม่ ถ้าเขาอยากทําอาชีพที่ต้องมีทักษะเฉพาะทาง เขาจะทำได้ไหม เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นข้อจํากัดของศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดโดยกลุ่มคนเมียนมา เพราะหากดำเนินการสอนกันเอง จะทําอย่างไรให้หลักสูตรเหล่านี้ได้รับการรับรอง และเด็กไม่ได้สูญเปล่าทางเวลามากถึง 9 ปี

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถ้าคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทย เราต้องให้เขาได้เป็นทรัพยากร ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ ไม่ได้เรียน ไม่มีความหมายในชีวิต และเป็นภาระสังคม เราไม่คิดว่าเศรษฐกิจสังคมของประเทศไหนจะก้าวหน้าได้โดยมีประชากรไร้การศึกษาจํานวนมาก เราเชื่อว่าผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศไทย ไม่มีใครอยากให้เราอยู่ในสังคมที่ประชากรไร้การศึกษา ฉะนั้น เราอย่าให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 มาเป็นกะลาครอบเราไว้ เพราะทุกวันนี้โครงสร้างประชากรเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน เราคุยกันได้ว่ากฎหมายยังปรับใช้ได้ไหม และเราก็อยากให้กระทรวงศึกษาธิการลองคิดว่าจะเป็นความสําเร็จของประเทศไทยขนาดไหนที่คุณสามารถทําให้ผู้เรียนที่มีหลากหลายรูปแบบ หลายปัญหา มีอุปสรรคด้านภาษา และฐานะทางเศรษฐกิจ ได้เข้าสู่การศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและมีความหลากหลาย

ศูนย์ฝึกอบรมเด็กรายวันอิสระ ตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร


หน่วยงานภาครัฐควรมีหน้าที่อย่างไรในการจัดการศึกษาเด็กข้ามชาติ

ในโลกสมัยใหม่ ผู้คนมีแนวโน้มจะใช้เวลากับการศึกษาเพิ่มขึ้น เข้าสู่การศึกษาระดับสูงมากขึ้น รวมถึงพัฒนาทักษะผ่านโลกนอกโรงเรียนมากขึ้น เราจึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการลองพัฒนาให้มีพื้นที่ทดลองหรือแซนด์บ็อกซ์ (sandbox) อย่าเพิ่งกําหนดนโยบาย โดยไม่เกิดกระบวนการปรึกษาหารือก่อน 

อยากให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้นําในการตั้งโจทย์ใหม่ว่าเราจะสร้างแซนด์บ็อกซ์ ปลดล็อกอุปสรรคด้านการศึกษา โดยเน้นตัวชี้วัดคือให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้จริง และผลิตทักษะความรู้สอดคล้องกับงานและสังคมในอนาคต  

ทั้งนี้ เราไม่เชื่อว่ามีโมเดลที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันมีทางเลือกในการจัดการศึกษามากขึ้น มีระบบโฮมสคูล โรงเรียนทางเลือก หรือการเทียบโอนวุฒิต่างๆ ที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้น เราจึงอยากให้การศึกษาของเด็กข้ามชาติก็มีทางเลือกหลากหลายได้เช่นเดียวกัน คือต้องสามารถเลือกได้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคน เราเคยเจอเด็กที่พ่อแม่ทํางานสวนยางในชนบท ซึ่งมีเด็กในพื้นที่น้อยเกินไปที่จะเปิดศูนย์การเรียนรู้ข้ามชาติ ดังนั้นโรงเรียนไทยอาจตอบโจทย์พ่อแม่และเด็กข้ามชาติในกรณีนี้

ถ้ารัฐกําหนดว่าใครจะเดินเข้าประตูนี้ได้ หรือกระทั่งกำหนดว่าทางออกอยู่ตรงไหน มันก็ดูล้าหลัง ดูเหมือนระบบการจัดการการศึกษาที่ยังไม่ผ่านกระบวนการกระจายอํานาจ เราจึงอยากชวนว่ามาทลายอุปสรรคกันไหม เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วใช้เครื่องมือรัฐพัฒนาหาทางออกดีกว่า และเราก็สนับสนุนนะ หากกระทรวงศึกษาธิการพร้อมจะทํางานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือศูนย์วิจัยนโยบายด้านการศึกษาอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ผู้คนมักคัดค้านการให้การศึกษาเด็กข้ามชาติโดยให้เหตุผลว่า ยังมีเด็กไทยจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษา ทำไมไม่ให้การศึกษาเด็กไทยก่อน” อยากถามว่าเราจะหักล้างความคิดแบบนี้ได้อย่างไร

เด็กไทยหลุดจากการศึกษาถือเป็นวาระแห่งชาติ แต่เราคิดว่าเด็กไทยกลุ่มนี้ก็เจอโจทย์เดียวกันกับลูกแรงงานข้ามชาติ คือพวกเขาหลุดจากการศึกษาเพราะต้องเข้าระบบแบบเดียวเท่านั้นหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาที่ดีควรจะยืดหยุ่นและเป็นเหมือนแหอวนที่โอบกอดทุกคนไว้ คือมีวิธีการเข้าถึงที่หลากหลายและปรับให้เข้ากับความต้องการเฉพาะกลุ่ม

ถ้าการศึกษาเป็นเหมือนการที่ทุกคนต้องวิ่งเข้าไปในประตูเดียวกัน มันก็ต้องมีคนที่วิ่งไม่ถึง เพราะปัจจัยทางเชื้อชาติ ศาสนา สถานะทางสังคมเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกในใจเด็กเองก็ตาม เช่น อาจมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สบายใจที่จะไปโรงเรียน แต่ในชุมชนมีแค่โรงเรียนนี้โรงเรียนเดียว แล้วเราจะโอบเด็กเหล่านี้ให้กลับเข้ามาในระบบได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากพอ

หนึ่งในเหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหาการศึกษาของเด็กข้ามชาติ คือการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะที่สุราษฎร์ธานี อยากให้คุณถอดบทเรียนว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนอะไร  

เรื่องการปิดศูนย์การเรียนรู้นั้นดูเหมือนจะเป็นการดำเนินการเชิงโต้กลับ หลังจากมีคลิปนักเรียนร้องเพลงชาติเมียนมาหน้าเสาธงซึ่งกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์เพราะคนไทยบางกลุ่มมองว่าไม่เหมาะสม แต่เมื่อมีคำสั่งปิดโรงเรียน ก็มีปฏิกิริยาต่อต้านจากสังคมเหมือนกัน เพราะเด็กนักเรียนโรงเรียนนี้เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ และแรงงานเหล่านี้ก็เป็นคนงานของนายจ้างที่นี่ คุณได้คุยกับแต่ละฝ่ายไหมว่าจะเปิดทางเลือกอะไร ยิ่งในสุราษฎร์ธานีที่ยางพาราและอาหารทะเลอยู่ในรายการสินค้าที่ถูกจับตาเรื่องการใช้แรงงานเด็ก คุณได้ถามใครในจังหวัดไหมว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเขาจะได้รับผลกระทบหรือเปล่า เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ ก็จะกระทบนายจ้างคนไทยด้วยเสมอ ดังนั้นเราต้องดูแลแรงงานข้ามชาติ เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย มีจุดเกาะเกี่ยวกับสังคมไทย และเป็นลูกจ้างของใครสักคนหนึ่ง  

แทนที่คุณจะผูกขาดความรักชาติกับธงชาติและเพลงชาติ คุณต้องผูกขาดความรักชาติกับความกินดีอยู่ดีของประชาชนและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เราหวังว่าพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย จะเข้าใจว่าเราอยากให้คุณรักชาติในแง่ความอยู่ดีกินดีของประชาชน

เราเองก็ไม่เข้าใจคนไทยที่รับไม่ได้เรื่องการร้องเพลงชาติเมียนมาในไทย เขาร้องเพลงแปลว่าเขามีจิตสํานึกต่อประเทศเมียนมา เขาระลึกถึงมาตุภูมิของเขา และวันหนึ่งเขาก็อาจจะกลับไปที่นั่น ซึ่งก็ดูจะตอบโจทย์สังคมไทยที่ไม่อยากให้คนข้ามชาติอยู่ไทยนานๆ หรือได้รับรองสัญชาติไทย

หากถอดบทเรียนเรื่องศูนย์การเรียนที่สุราษฎร์ธานี พบว่ามีการไล่ปิดศูนย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และหลังจากปิดศูนย์การเรียน อย่างแรกคือรองศึกษาธิการจังหวัดสนับสนุนให้เด็กไปใช้โรงเรียนอื่นๆ และสองคือให้มีห้องเรียนเครือข่าย ให้โรงเรียนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทํางานร่วมกับชุมชนพม่าในการตั้งศูนย์การเรียนทางเลือก

โจทย์ของการศึกษาคือการให้เด็กได้อยู่ในระบบการศึกษาที่ดี แต่ถ้าคุณปิดศูนย์การเรียนพม่า อยากให้เด็กเมียนมาเรียนในโรงเรียนไทย คำถามคือเด็กเขาสื่อสารอ่านเขียนภาษาไทยได้ไหม คุณก็ต้องมีวิธีจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้เขา ซึ่งเราสามารถสร้างกระบวนการปรึกษาหาและหาทางออกร่วมกันได้ แต่คุณกลับใช้อํานาจจากส่วนกลาง

ปัญหาใหญ่ของการปิดศูนย์การเรียน คือคุณทํามันเหมือนเป็นอาชญากรรมร้ายแรง คุณประกาศแล้วก็ปิดศูนย์เลย โดยไม่พูดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ แม้ศูนย์การเรียนนี้อาจไม่ได้ถูกกฎหมายในสายตาประเทศไทย แต่มันก็ไม่ได้เป็นอาชญากรรม ถ้ามีการทําร้ายร่างกายเด็กต่างหากถึงเรียกว่าอาชญากรรม แต่การมีอยู่ของศูนย์การเรียนนี้ไม่ใช่ความลับ เป็นที่รับรู้อยู่แล้วว่ามีเด็กๆ มาเข้าเรียนที่นี่

เราเข้าใจคนไทยว่าพวกเราโตมาในความคิดแบบคนดีกับผู้ร้าย ต้องมีใครสักคนหนึ่งเป็นสาเหตุของปัญหา ซึ่งคนที่เรากล่าวโทษได้ง่ายที่สุดก็คือคนข้ามชาติ อีกอย่างคือคนไทยจะติดอยู่กับคำว่าความผิดกฎหมาย (illegality) เช่น กล่าวโทษแค่คนที่ไปเป็นผีน้อยว่าผิดกฎหมาย แต่ไม่โทษรัฐบาลเกาหลีและนายจ้าง ฉะนั้นเราคิดว่าคนไทยอาจมีความเชื่อว่าถูกกฎหมายคือดี ผิดกฎหมายคือไม่ดี ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะเหมาะสมสอดคล้องหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สะท้อนได้จากเหตุการณ์ปิดศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ คือข้าราชการไทยไม่ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเอง เช่น หากตรวจพบการใช้แรงงานเด็กในสินค้าเกษตรที่สุราษฎร์ธานี ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากการปิดศูนย์การเรียนหรือไม่ก็ตาม คนแรกที่เดือดร้อนคือนายจ้าง น่าตั้งคำถามว่าแล้วข้าราชการจะเข้ามารับผิดชอบอะไรไหม ดังนั้น เราจึงอยากให้มีการกระจายอํานาจ ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้มแข็งและให้มีการแบ่งภาษีเข้ามาในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้เกิดระบบการรับผิดรับชอบ (accountability) ที่ดีกว่านี้

คุณบอกว่าการปิดศูนย์การเรียนรู้จะนำไปสู่การใช้แรงงานเด็ก อยากให้คุณเล่าเพิ่มเติมว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร และจะกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร

ผลคือจะมีเด็กเข้าไปเป็นแรงงานเด็กในห่วงโซ่อุปทาน เคยมีบางแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกรายงานว่ามีการใช้แรงงานเด็กในการผลิตน้ำมันปลาหรือสินค้าจากปลา และต่อมากระทรวงแรงงานก็บอกว่าไทยไม่มีแรงงานเด็กอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ แต่ครั้งนี้ เมื่อมีการปิดศูนย์การเรียน เด็กจะไปอยู่ที่ไหน

ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด ESG (environmental, social, governance) ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามอง อย่างในปี 2015 สื่อทั่วโลกตีพิมพ์ว่าไทยมีการใช้แรงงานไม่เป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ซึ่งกฎหมายของหลายประเทศก็ห้ามซื้อสินค้าที่มีกระบวนการผลิตแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายผู้ประกอบการไทยก็ปรับตัว และรัฐบาลก็ออกกฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทเพิ่มมากขึ้น

เวลานี้หลายประเทศทั่วโลกที่เป็นคู่ค้ากับไทยก็อยากแน่ใจว่าสินค้ามีการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งก็มาในรูปแบบในเงื่อนไขทางการค้า คือคุณต้องผลิตโดยการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน แรงงานไม่เป็นหนี้จากการทํางาน และได้มีสวัสดิการสุขภาพที่ดี เป็นต้น

ตอนนี้ในหลายประเทศทั่วโลกมีการใช้กฎหมายเพื่อตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกามีกฎหมายว่าด้วยการไม่ซื้อสินค้าที่ใช้แรงงานเด็ก ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็อาจมีภาระในการจะทําให้ถูกกฎหมายเหล่านี้ แต่คำถามคือไทยเราจะปรับตัวอย่างไร จะมีเครื่องมือทางการค้าให้ผู้ประกอบการไหม หรือสุดท้ายผู้ประกอบการก็ต้องเป็นฝ่ายแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ดี

สินค้าที่เราผลิตนั้นมูลค่าต่ำมาก ดังนั้นอํานาจต่อรองในตลาดเราจึงต่ำมาก เราจึงควรตั้งคําถามในภาพใหญ่ว่าประเทศไทยจะสร้างจุดแข็งอย่างไร จะเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการต่อรองในการเจรจาการค้าโลกอย่างไร

หากเด็กข้ามชาติเข้าไม่ถึงการศึกษาจะเป็นปัญหาทั้งต่อตัวเด็กเองและสังคมไทยอย่างไร

ลองนึกภาพเด็กๆ เดินตามพ่อแม่ไปท่าเรือ ไปนั่งช่วยพ่อแม่แกะกุ้ง เด็กไปช่วยแม่เก็บลูกปาล์ม เก็บน้ำยาง เด็กอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ หรือตามไซต์ก่อสร้าง เราไม่คิดว่าภาพเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยดูแก้ไขปัญหาได้ดี และเราเชื่อว่ามันมีผลกระทบต่อผลิตภาพของแรงงานที่เป็นพ่อแม่ และจะส่งผลต่อนายจ้างด้วย

ในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมจะเพิ่มขึ้น หากเรามีคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้จํานวนมากอยู่ในสังคม และเข้าไม่ถึงบริการสังคมขั้นพื้นฐาน เมื่อความเหลื่อมล้ำถ่างออกเรื่อยๆ ก็จะส่งผลเรื่องปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาความเป็นธรรมทางสังคมต่างๆ

เรื่องง่ายๆ เช่น การได้ไปโรงเรียน ทําให้เด็กได้เข้าถึงบริการอื่นๆ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด เป็นต้น เราก็มีบทเรียนแล้วตอนโควิด-19 แพร่ระบาด สถานที่ที่มีแรงงานข้ามชาติหนาแน่นอย่างตลาดในสมุทรสาครก็กลายเป็นคลัสเตอร์ สะท้อนว่าโรคระบาดเหล่านี้ไม่มีพรมแดนและเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เมื่อหลายประเด็นในโลกนี้ไม่มีพรมแดน เราจะทำอย่างไรไม่ให้สัญชาติถูกใช้ในการแบ่งเขาแบ่งเรา

เราคิดว่าต้องเริ่มจากระบบการศึกษาในโรงเรียน สมัยเราเรียนหนังสือ จะพบว่าคำอธิบายการสร้างชาติเกิดจากการที่ไทยเรามีศัตรูคือพม่า ทั้งๆ ที่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับพม่าเกิดขึ้นก่อนรัฐชาติสมัยใหม่เสียอีก ขณะที่สงครามเย็นเป็นเรื่องใหม่กว่ามาก แต่เรากลับไม่ได้มีความทรงจําเรื่องนี้สักเท่าไร

การเริ่มต้นจากการศึกษาคงไม่เห็นผลในทันที แต่จะทําให้เข้าใจเรื่องพื้นฐานความหลากหลาย ว่าผู้คนบนโลกนี้เป็นพลเมืองเหมือนกัน เราจะสร้างสรรค์สังคมไปด้วยกัน และจะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางสัญชาติ เพศ การแสดงออก หรือความคิดเห็นทางการเมือง และการกําหนดความเป็นไทย ต้องมีความหลากหลายและอนุญาตให้วัฒนธรรมกลุ่มย่อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย

อีกสิ่งที่สำคัญคือการลดความเหลื่อมล้ำ บางคนที่รู้สึกว่าโดนทอดทิ้ง โดนเอารัดเอาเปรียบ หรือลําบากกว่าคนอื่น เขาก็ยอมรับคนข้ามชาติไม่ได้ ในขณะที่ถ้าถามเศรษฐีหรือเจ้าของโรงงาน เขาก็จะไม่ได้รู้สึกรังเกียจแรงงานข้ามชาติเท่ากับคนไทยเป็นแรงงานด้วยกัน

นอกจากนี้ก็ต้องมีการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อภาพลักษณ์ภายนอก แต่ต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นศัตรูต่อกัน และมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ แต่รัฐก็ยังมองแค่เรื่องการมีเอกสารหรือการแก้ไขสถานะเข้าเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีหน่วยงานรัฐไหนคิดจะสื่อสารข้ามวัฒนธรรม นักการเมืองก็จะไม่ค่อยอยากทํา เพราะถ้าทำก็จะถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ หรือเห็นคนชาติอื่นดีกว่า

สุดท้ายนี้ อะไรคือสิ่งแรกที่รัฐบาลไทยควรดำเนินการในการจัดการแรงงานข้ามชาติและการศึกษาของเด็กข้ามชาติ

คณะรัฐบาลชุดนี้ต้องสร้างความเป็นผู้นำด้านนโยบายขึ้นมาให้ได้ เพราะถ้าเรื่องแรงงานข้ามชาติยังต้องไปคุยกับกระทรวงแรงงาน เรื่องโรงเรียนเด็กข้ามชาติต้องไปคุยกับกระทรวงศึกษาธิการ และเรื่องมติ ครม. ต้องคุยกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ นั่นหมายความว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสําคัญกับความซับซ้อนในการจัดการประชากรข้ามชาติ

คำถามคือใครจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้ พรรคเพื่อไทยหรือพรรคภูมิใจไทย เพราะด้วยโครงสร้างรัฐบาลผสม กระทรวงเศรษฐกิจตอนนี้อยู่ในการควบคุมของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคนข้ามชาติอยู่กับพรรคภูมิใจไทย

ถ้าคุณไม่สร้างความเป็นผู้นำด้านนโยบายขึ้นมา คุณก็เริ่มเห็นแล้วว่ามีแรงงานและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และวันหนึ่งปัญหาก็จะกลับมาสู่รัฐบาล รัฐบาลจึงต้องมีความกล้าและชัดเจนว่าใครเป็นคนดูแลเรื่องนี้ เพราะหมายความว่าคุณแทบจะต้องรื้อระบบราชการดั้งเดิมที่ใช้บริหารจัดการคนข้ามชาติในประเทศไทย

การแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพ หรือความซับซ้อนของประชากรทั้งหมด จะต้องกระจายอํานาจออกไปให้คนอื่นได้ร่วมใช้ ร่วมคิด ร่วมออกแบบในบริบทที่เหมาะสม แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้กระจายอํานาจ เราคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นรัฐไทยต้องเชื่อในประชาชน เชื่อในการปกครองส่วนท้องถิ่น กระจายอํานาจและกระจายวิธีคิด ให้ทุกคนสามารถออกแบบนโยบายได้มากกว่านี้

ทั้งนี้ การจะปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่ควรเป็นหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่รัฐต้องมีส่วนผลักดันด้วย เราเชื่อว่ารัฐบาลไทยรู้ดีว่าสังคมที่ใช้หลักสิทธิมนุษยชนจะทําให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมากขึ้น และเราก็อยากให้ภาครัฐออกมารับผิดชอบต่อคนที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นแรงงานข้ามชาติ เพราะถ้าไม่สร้างระบบความรับผิดรับชอบของคนกําหนดนโยบาย เราก็ต้องหาใครสักคนมาเป็นแพะอยู่เรื่อยไป


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world