“ลองทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ถือเป็นการเติบโตของชีวิต” Teacher Story ‘ครูโบ้ สราวุฒิ’

“ลองทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ถือเป็นการเติบโตของชีวิต” Teacher Story ‘ครูโบ้ สราวุฒิ’

เพราะการได้ลองทำในสิ่งที่เราไม่เคยอยากทำ ถือเป็นการเติบโตครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเราจริง ๆ

เราเป็นครูวิทยาศาสตร์ทั่วไป… ก่อนออกไปฝึกสอน เราเคยบอกตัวเองไว้ว่า ถ้าเลือกได้ จะไม่สอนวิชาแนวชีววิทยา อย่างเรื่องระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อม
.
เพราะตอนที่เรายังเป็นนักเรียน วิชาชีววิทยามักจะเป็นวิชาบรรยาย และพอมาเป็นนักศึกษา ก็ทำคะแนนในรายวิชาเหล่านี้ได้ไม่ดีนัก จึงส่งผลให้เราไม่ค่อยเปิดใจกับวิชานี้เท่าไหร่นัก
.
แต่พอได้เข้าโรงเรียนเพื่อฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู แน่นอนว่าเราไม่สามารถเลือกวิชาได้
.
ในรายวิชาหนึ่งที่เราได้สอน มีบางช่วงที่ต้องสอนเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าตอนแรกเราไม่เปิดใจให้กับเรื่องนี้เลย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายอมเปิดใจคือ… “นักเรียน”
.
“ถ้าเราไม่สอนแล้วนักเรียนจะเอาความรู้จากที่ไหน ?”
.
นั่นเป็น little voice ที่ดังเข้ามาในหูตอนนั้น
.
ซึ่งเป็นเสมือนแรงผลักดันให้เราก้าวข้ามบางสิ่งในใจของเราออกมา ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดใจครั้งสำคัญของเรา
.
อย่างแรกที่เราทำคือการหาวิธีการสอนแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่การบรรยาย หาไปหามาก็ไม่ถูกใจสักที จนเรากลับมานั่งคุยกับตัวเองว่า ‘เราเป็นครูวิทย์ ทำไมเราถึงไม่สอนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปเลยล่ะ ?’
.
คิดได้ดังนั้น ในคาบแรกเราก็พานักเรียนออกมาสำรวจสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน และหาปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
.
นักเรียนให้การร่วมมือดี ช่วยกันคิดอย่างสนุกสนานว่าในโรงเรียนมีปัญหาใดบ้าง
.
คาบถัดมาเราก็ให้เด็ก “คิดวิธีแก้ปัญหา” สิ่งแวดล้อมจากคาบที่แล้ว และนำมา “ตั้งเป็นสมมติฐาน”
.
หลังจากที่นักเรียนได้ตั้งสมมติฐานแล้ว เราให้นักเรียนลงมือ “ทดสอบสมมติฐาน” จริง ๆ
.
กลุ่มแรก : ตั้งสมมติฐานว่า “ดินที่มีพืชคลุมดินอยู่จะพังทลายน้อยกว่าดินที่ไม่มีพืชคลุม” เราก็ให้นักเรียนลงมือทำจริง ปลูกพืชจริง มีการบันทึกผลจริง ๆ
.
กลุ่มอื่น ๆ ก็ได้ลงมือทำจริง ๆ เช่นกัน
.
มีกลุ่มหนึ่งที่ต้องทดสอบสมมติฐานในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เราก็ให้เขาได้ออกแบบการทดลองตามที่เขาได้วางไว้
.
จนมาถึงขั้นสุดท้ายคือ “ขั้นสรุป” เราให้นักเรียนเขียนสิ่งที่ทำไปทั้งหมดออกมาเป็นขั้น ๆ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
.
แรก ๆ นักเรียนยังเขียนไม่ได้ เราจึงบอกว่าให้เขียนตามที่ได้ทำไปจริง ๆ ซึ่งพอนักเรียนได้เริ่มเขียนขั้นแรกคือขั้นตั้งปัญหา ทุก ๆ อย่างก็ดูลื่นไหลไปหมด จนนักเรียนเขียนออกมาได้ครบทุกขั้นตอน
.
“หนูเขียนตามที่หนูได้ทำเลยนะคะครู”
“ผมเขียนออกมาได้เพราะได้ทำจริงครับ”
“ผมไม่เคยเรียนวิทย์ที่ได้เข้าห้องแล็บมาก่อน สนุกดีครับ อยากเรียนอีก”
“พอได้ลงมือทำจริง ๆ มันก็ทำให้จำได้ว่าเราทำอะไรไปบ้าง”
.
เสียงสะท้อนเหล่านี้แหละ ที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจกับการเปิดใจครั้งสำคัญของเรา
.
ถึงแม้มันจะเป็นการเรียนการสอนที่ดูเรียบง่าย ไม่หวือหวาตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ได้จากการสอนแบบนี้คือพวกเขาชอบเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่าเดิมขึ้นมาก
.
เราเฝ้ามองนักเรียนทุกคน และบอกได้อย่างเต็มปากว่านักเรียนทุกคนเติบโตขึ้นกว่าตอนแรกจริง ๆ
.
และไม่ใช่แค่นักเรียนที่เติบโตขึ้น เราเองก็เติบโตขึ้น
.
เพราะการได้ลองทำในสิ่งที่เราไม่เคยอยากทำ
ถือเป็นการเติบโตครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเราจริง ๆ
.
ครูโบ้ สราวุฒิ คำทับทิม
Sarawut Khamthapthim
โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์
.
#insKru #TeacherStory
#กสศ #ห้องเรียนเสมอภาค #เรียนสุขสนุกสอน
กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา