ท่ามกลางกระแส digitalization และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า แรงงานไทยกำลังอยู่บนทางแพร่งของการตัดสินใจระหว่าง ‘จะไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ในอนาคตอันใกล้มีการคาดการณ์ว่า แรงงานไทยมีความเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติและ AI ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้หลายคนต้องเปลี่ยนตำแหน่งงานหรือจำเป็นต้องย้ายสายงานใหม่ คนที่ ‘ไปต่อ’ คือคนที่สามารถพัฒนาทักษะและยกระดับรายได้ตัวเองได้ ส่วนคนที่ ‘พอแค่นี้’ คือคนที่เสียงาน หรือเปลี่ยนงานใหม่แล้วไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทักษะเดิมที่ตัวเองมีได้
ผลลัพธ์สุดท้ายคือ ปัญหาตลาดแรงงานสองขั้ว และความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำ
ไม่ต้องเถียงกันมาก ทุกคนย่อมรู้ดีว่า ‘การพัฒนาทักษะแรงงานและยกระดับคุณภาพคน’ คือคำตอบสำหรับการเตรียมความพร้อมประเทศไทยและคนไทยในการรับมืออนาคต แต่คำถามที่น่าปวดหัวกว่านั้นคือ แล้วจะทำอย่างไร?
ในประเทศพัฒนาแล้ว หนึ่งวิธีการสำคัญในการเตรียมแรงงานให้พร้อมต่อการเผชิญโลกอันผันผวน คือการพัฒนาคนผ่านระบบอาชีวศึกษาและการศึกษาสายอาชีพ กระนั้นผู้กำหนดนโยบายต่างก็รู้ดีว่า วิธีคิดและการจัดการระบบอาชีวะแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการ ‘คิดใหม่’ และ ‘ยกเครื่อง’ กันครั้งใหญ่
101 ชวนเจาะลึก 3 ฉากทัศน์ของอาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจความเป็นไปได้ของแนวทางการศึกษาสายอาชีพในโลกใหม่ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้มองเห็นว่าอะไรคือเงื่อนไขสำคัญที่จะเป็นจุด turning point ของอาชีวศึกษาในอนาคต
อาชีวศึกษากับการปะทะกันของ 2 เรื่องเล่า
ปัจจุบันการศึกษาสายอาชีพวางอยู่บนการปะทะกันของเรื่องเล่า (narrative) อย่างน้อย 2 ชุด
เรื่องเล่าแบบแรก – เป็นการมองอาชีวศึกษาในแง่ลบ (pessimistic) กล่าวคือ การศึกษาสายอาชีพจะกลายเป็นการศึกษาที่ผู้คนมองข้ามและเป็นตัวเลือกที่สองในการศึกษา ฐานคิดสำคัญของเรื่องเล่านี้คือ การศึกษาสายอาชีพไม่เพียงพอต่อการรับมือการดิสรัปต์ทางเทคโนโลยีและกระบวนการ digitization ในเศรษฐกิจ เมื่อตลาดแรงงานเกิดปรากฏการณ์ตลาดแรงงานสองขั้ว (job polarization) หรือปรากฏการณ์ที่แรงงานทักษะสูงและทักษะพื้นฐานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงงานทักษะระดับกลางหรือกลุ่มแรงงานฝีมือจะค่อยๆ หายไป คนที่จบอาชีวศึกษาส่วนใหญ่จะตกอยู่ในกลุ่มหลัง
เรื่องเล่าแบบที่สอง – เป็นการมองอาชีวศึกษาในแง่บวก (optimistic) กล่าวคือ การศึกษาสายอาชีพจะขยายขอบเขตการเรียนรู้มากกว่าที่เคย และไม่ได้จำกัดการเรียนรู้อยู่แค่วัยใดวัยหนึ่ง แต่ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเรียนรู้ได้ โดยมีการปรับหลักสูตร รูปแบบ ตลอดจนสถานที่ในการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น หากมองในแง่นี้จะกล่าวได้ว่าการศึกษาสายอาชีพจะขึ้นมามีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะระบบการศึกษาที่ผลิตแรงงานระดับสูงที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการ และสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ตลาดแรงงานสองขั้ว
เรื่องเล่าทั้งสองชุดต่างตอบโต้และถ่วงดุลกันเสมอมา มีหนึ่งองค์กรที่ศึกษา ติดตาม และวิเคราะห์ประเด็นนี้อย่างจริงจัง คือ Cedefop (European Centre for the Development of Vocational Training) หรือหน่วยงานของสหภาพยุโรปที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาและการฝึกอบรมระดับอาชีวศึกษาประจำสหภาพยุโรป โดย Cedefop ได้จัดทำรายงาน Vocational education and training in Europe 1995-2035 : Scenarios for European vocational education and training in the 21st century ที่ประมวลองค์ความรู้ที่ได้จากการติดตามความเป็นไปของระบบการศึกษาสายอาชีพในสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 1995 และการสัมภาษณ์เชิงลึกของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น หน่วยงานภาครัฐ กลุ่มนายจ้าง แรงงาน เป็นต้น เพื่อสร้างฉากทัศน์ (scenario) อาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21
วัตถุประสงค์หลักของการสร้างฉากทัศน์นี้ขึ้นมา คือเพื่อทำให้เห็นถึงภาพความเป็นไปได้และการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากระบบอาชีวศึกษาเป็นการพัฒนาในลักษณะขึ้นกับเส้นทางในประวัติศาสตร์ (path dependent) อย่างมาก ฉะนั้นการจะปรับเปลี่ยนการศึกษาสายอาชีพให้ตอบโจทย์โลกที่มีความผันผวนสูงขึ้นอยู่กับนโยบายที่เลือกใช้ในวันนี้
Cedefop สร้างฉากทัศน์อาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21 ออกมา 3 ฉาก ซึ่งมีหลักและเนื้อหาที่ต่างกันออกไป ได้แก่ (1) Lifelong learning at the heart – Pluralist VET (2) Occupational and professional competence at heart – Distinctive VET และ (3) Job-oriented training at the heart – Special purpose and/or marginalised VET
ฉากทัศน์ที่ 1 : อาชีวศึกษาแบบพหุนิยม โดยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นศูนย์กลาง
สำหรับ ‘อาชีวศึกษาแบบพหุนิยม โดยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นศูนย์กลาง’ (lifelong learning at the heart – pluralist VET) นั้นวางอยู่บนพื้นฐานของการขยายความเข้าใจ ความหมาย และแนวคิดของการศึกษาสายอาชีพเสียใหม่ โดยให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่อิงกับตลาดแรงงาน นอกจากนี้การเรียนรู้ในระบบอาชีวศึกษาจะไม่ถูกจำกัดว่าจะต้องเรียนในสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการ (integrated lifelong learning)
อาชีวศึกษาแบบพหุนิยมเป็นการนิยามความหมายของการศึกษาสายอาชีพใหม่ จากเดิมที่อาชีวศึกษาจะเป็นการเรียนการสอนที่แยกย่อยไปตามทักษะเฉพาะ เช่น ช่างยนต์ ช่างกล ช่างก่อสร้าง ฯลฯ ในฉากทัศน์นี้รูปแบบการศึกษาดังกล่าวจะพบเห็นได้น้อยลง ในทางกลับกันจะเห็นรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะเชื่อมโยงและผสมผสานมากขึ้น เนื่องจากทักษะการรู้รอบกลายเป็นเรื่องสำคัญในโลกยุค VUCA (volatility หรือความผันผวน, uncertainty หรือความไม่แน่นอน, complexity หรือความซับซ้อน และ ambiguity หรือความคลุมเครือ)
ในฉากทัศน์อาชีวศึกษาแบบพหุนิยม ขอบเขตระหว่างการศึกษาสายอาชีพและสายสามัญจะพร่าเลือนและทับซ้อนกันมากขึ้น ไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา และยังเน้นย้ำความจำเป็นในการผสมผสานทักษะอาชีวศึกษาและวิชาทั่วไปเข้าด้วยกัน โดยจะโฟกัสที่การพัฒนาทักษะและความสามารถโดยรวม
สำหรับอาชีวศึกษาในฉากทัศน์นี้ยังต้องการการวางทิศทางการศึกษาใหม่ จากที่แต่ก่อนเมื่อจบการศึกษามาก็จะได้วุฒิการศึกษาตามทักษะที่เรียนเพื่อเอาไปใช้ต่อสำหรับการทำงานในสายอาชีพนั้นๆ แต่อาชีวศึกษาแบบพหุนิยมจะเปิดให้วุฒิการศึกษาครอบคลุมทักษะที่กว้างมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของทักษะและความสามารถเฉพาะทาง ตลอดจนความจำเป็นที่ผู้เรียนต้องมีการปรับปรุงและเรียนรู้ทักษะใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคผันผวน
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของการเรียนอาชีวศึกษาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน กลุ่มเป้าหมายจะเกิดการขยายกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยเน้นที่ความต้องการของผู้เรียนทุกวัย ซึ่งสอดคล้องกับระบบหลักสูตรที่จะเน้นไปที่การออกแบบหลักสูตรให้เหมาะกับแต่ละบุคคล การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning) และการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน (project-based learning) จะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายและผสมผสานรูปแบบการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการสอนให้หลากหลายที่สุด
และหากมองต่อไปยังเส้นทางความก้าวหน้าของอาชีวศึกษาในฉากทัศน์อาชีวศึกษาแบบพหุนิยมก็อิงอยู่กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีความโปร่งใสในทุกระดับ เพื่อลดกำแพงที่จะกั้นการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในอาชีพ ขณะเดียวกันด้วยการคาดการณ์ว่าอาชีวศึกษาจะขยับไปในทางที่โฟกัสทักษะที่ครอบคลุม กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะ และการเรียนรู้โดยการทำงานจริง ทั้งหมดส่งผลต่อการกำกับดูแลการศึกษาสายอาชีพ ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือกลุ่มทุน เช่น การกำหนดทิศทางหลักสูตร การเปิดรับผู้เรียนเข้าฝึกงาน หรือการสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากร เป็นต้น
ด้านบทบาทของภาครัฐเอง แม้จะไม่ได้ถึงขั้นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในระดับโครงสร้างและเนื้อของระบบอาชีวศึกษา แต่ภาครัฐก็จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดนโยบายและกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับทิศทางการศึกษาที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในฉากทัศน์นี้ที่การศึกษาสายอาชีพมีเส้นทางการเติบโตที่ยืดหยุ่นและผู้เรียนมีทักษะที่กว้างขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกการกำกับดูแลและการร่วมมือระหว่างภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นหากกลไกที่ว่านี้อ่อนแอลง ฉากทัศน์อาชีวศึกษาแบบพหุนิยมมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดการกระจัดกระจาย (fragmentation) และความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น
ฉากทัศน์ที่ 2 : อาชีวศึกษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยเน้นทักษะด้านวิชาชีพเป็นศูนย์กลาง
สำหรับ ‘อาชีวศึกษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยเน้นทักษะด้านวิชาชีพเป็นศูนย์กลาง’ (occupational and professional competence at heart – distinctive VET) มีความพยายามที่จะเสริมย้ำจุดโดดเด่นของอาชีวศึกษา อย่างการศึกษาวิชาชีพที่จะนำไปประกอบอาชีพ โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
อาชีวศึกษาในฉากทัศน์นี้จะถูกจัดระเบียบตามข้อกำหนดและเอกลักษณ์ของอาชีพหรือวิชาชีพนั้นๆ โดยมีการกำหนดรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้เรียนจะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับตลาดแรงงาน แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงการรักษาสมดุลระหว่างการเรียนภาคทฤษฎีในโรงเรียนกับการฝึกอบรมในสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักคือเยาวชนที่ศึกษาในสายอาชีพ นอกจากนี้ภารกิจหลักของอาชีวศึกษาก็คือการช่วยให้เยาวชนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นอย่างมืออาชีพ ชำนาญการในทักษะเฉพาะของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดรับต่อนวัตกรรมใหม่ๆ
ด้านแนวทางการเรียนรู้จะเน้นที่การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐาน (practice-based learning) และการเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐาน (work-based learning) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการฝึกงานให้ทันสมัยและการเรียนรู้ภาคปฏิบัติเป็นพิเศษ โดยการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุกผ่านการฝึกงานจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงที่ผ่านมา และหากพิจารณาถึงเป้าหมายของอาชีวศึกษาพบว่า มุ่งเน้นที่จะสร้างการเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐานเป็นมาตรฐานหลักครอบคลุมทุกสายงานและทุกระดับชั้น
นอกจากนี้ในเชิงนโยบายจากภาครัฐอาจมีการสนับสนุนโมเดลการศึกษาแบบเฉพาะทางด้วยการทำ MOU ส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน การบัญญัติข้อตกลงเกี่ยวกับอาชีพและภาคส่วนต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานร่วมกัน เป็นต้น
แต่กระนั้น ฉากทัศน์อาชีวศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงก็มีความเสี่ยงที่ผู้เรียนอาจตามเทคโนโลยีและตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ทัน ประเด็นเรื่องบทบาทของแรงงานทักษะระดับกลางและความมั่นคงในระยะยาวของอาชีพก็ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมต้องตั้งคำถาม
ฉากทัศน์ที่ 3 : อาชีวศึกษาแบบวัตถุประสงค์พิเศษ โดยมีการฝึกฝนที่เน้นอาชีพเป็นศูนย์กลาง
สำหรับ ‘อาชีวศึกษาแบบวัตถุประสงค์พิเศษ โดยมีการฝึกฝนที่เน้นอาชีพเป็นศูนย์กลาง’ (job-oriented training at the heart – special purpose and/or marginalised VET) เป็นฉากทัศน์ที่ตีความความเข้าใจ ความหมาย และแนวคิดของการศึกษาสายอาชีพให้แคบลง โดยจะโฟกัสที่การฝึกฝนสำหรับการประกอบอาชีพ ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็น (reskilling) และการพัฒนาทักษะ (upskilling) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานระยะสั้นและระยะกลาง
หากมองในแง่ตำแหน่งแห่งที่ของอาชีวศึกษาในระบบการศึกษาโดยรวมพบว่า เน้นไปที่การให้ผู้เรียนได้ฝึกงานในตลาดแรงงานและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีทักษะพื้นฐานเพื่อการจ้างงาน (employability skills) ซึ่งหากมองต่อไปในเรื่องคุณค่าของแรงงาน (employability) ในความหมายแคบ ก็เพื่อให้แรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงานได้มีทักษะใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และหากมองในความหมายที่กว้างขึ้นมา ก็เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่เน้นการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด (lifelong learning) แต่ถึงอย่างนั้นการศึกษาสายอาชีพในฉากทัศน์นี้ก็ยังไม่อาจทัดเทียมกับการศึกษาสายสามัญได้
นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายของอาชีวศึกษาก็หดตัวลงเช่นกัน โดยกลุ่มผู้เรียนหลักคือกลุ่มแรงงานผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นและการพัฒนาทักษะเดิมแบบทันท่วงที หรือกลุ่มแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกงานในโลกยุคใหม่ ไม่เพียงแต่กลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตัวหลักสูตรเองก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน
หลักสูตรของการศึกษาสายอาชีพในฉากทัศน์นี้จะมีคอร์สการฝึกอบรมที่สั้นลง โดยเปิดสอนผ่านแหล่งการเรียนรู้ทางการศึกษาระบบเปิด (open educational resources) ซึ่งทิศทางการสอนในลักษณะนี้จะกลายมาเป็นทิศทางหลักในการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา ไม่ใช่แค่นั้น การสอนเพื่อพัฒนาทักษะรายบุคคลตามความถนัดยังเป็นอีกเทรนด์ของการสอน เนื่องจากผู้เรียนมีความใกล้ชิดกับตัวงานผ่านการฝึกฝนในขณะที่ทำงานจริง (on-the-job training)
ในแง่ของเส้นทางและโอกาสในการก้าวหน้าของแรงงาน อาชีวศึกษาภายใต้ฉากทัศน์นี้ต้องการการจัดฝึกอบรมที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้กลุ่มแรงงานผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงหลักสูตรและโปรแกรมการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของเขาได้ง่ายขึ้น
ด้วยหลักสูตรที่เน้นให้ผู้เรียนได้สัมผัสวิชาชีพนั้นๆ ผ่านการลงมือทำงานจริง แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมส่งผลต่อความสำคัญของสถาบันการอาชีวศึกษา พบว่าในฉากทัศน์นี้สถาบันการอาชีวศึกษามีความสำคัญน้อยลง เมื่อเทียบกับความสำคัญของภาคเอกชน ที่จะขึ้นมามีบทบาทหลักในการกำกับดูแลการศึกษาสายอาชีพแทน เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนทั้งในแง่ของความรู้ สถานที่ทำงาน ตลอดจนแหล่งทุนนั่นเอง
หลังจากได้เห็นทิศทางอนาคตของอาชีวศึกษาแบบวัตถุประสงค์พิเศษแล้ว ประเด็นถัดมาคงไม่พ้นคำถามที่ว่านโยบายจากภาครัฐควรมีหน้าตาอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะของตนเองได้เต็มศักยภาพตามแผนการศึกษาที่วางไว้ ซึ่งนโยบายที่สำคัญคงหนีไม่พ้นนโยบายด้านความโปร่งใสเพื่อป้องกันการที่แรงงานจะถูกเอาเปรียบ หรือระบบเอื้อให้แรงงานหรือกลุ่มทุนใดมากจนเกินไป ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้แล้ว นโยบายที่ดูจะเกี่ยวข้องน่าจะเป็นนโยบายทางตลาดแรงงานมากกว่านโยบายที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นอกเหนือไปจากเรื่องนโยบายของภาครัฐ ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือเรื่องความเสี่ยงที่จะต้องระวังในอาชีวศึกษาในฉากทัศน์นี้ พบว่าการศึกษาสายอาชีพมีการประเมินทักษะพื้นฐานและทักษะการข้ามสายงานหรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skills, transversal skills) ที่ต่ำเกินไป ซึ่งประเด็นนี้อาจกลายมาเป็นผลเสียต่อแรงงานในอนาคตได้
สังคมต้องเป็น ‘ผู้กำหนดอนาคต’ ของ ‘อาชีวะ’
การศึกษาฉากทัศน์ไม่เพียงทำให้เราพอมองเห็นว่า การศึกษาสายอาชีพในยุคอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่ยังทำให้เรารู้ด้วยว่า สังคมใดจะมุ่งไปสู่ฉากทัศน์แบบไหนขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นมองเห็นการเปลี่ยนแปลงและเลือกที่จะลงทุนเชิงนโยบายเพื่อวางรากฐานให้กับระบบอาชีวะหรือไม่ เพราะการออกแบบระบบอาชีวศึกษานั้นยึดโยงอยู่กับการออกนโยบายทางการเมือง นโยบายทางการศึกษา ตลอดจนนโยบายทางเศรษฐกิจ
การมีวิสัยทัศน์มองเห็นโอกาสและความท้าทายในโลกที่ผันผวน มองเห็นศักยภาพของระบบอาชีวะและสายอาชีพ และเข้าใจความเหลื่อมล้ำที่เป็นคอขวดสำคัญของการพัฒนามาอย่างยาวนาน หากปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายเพียงภาคส่วนเดียวคงจะเป็นเรื่องยากเกินไป ภาคเอกชนเองมีส่วนอย่างมากในการกำหนดทิศทางของอาชีวศึกษา ผ่านการร่วมออกแบบหลักสูตรการฝึกทักษะเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ตลอดจนร่วมสนับสนุนทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนความรู้ ทุนมนุษย์ หรือทุนทรัพย์ เป็นต้น
เหนืออื่นใดคือทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อการศึกษาสายอาชีพ หากสังคมยังคงมองว่าอาชีวศึกษาเป็นเพียงแหล่งรองรับนักเรียนที่ไร้ความสามารถและมีคุณค่าไม่เทียบเท่ากับการศึกษาสายสามัญ ก็คงเป็นการยากที่อาชีวะจะสามารถขึ้นมาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะแม้นโยบายจะดึงดูงใจมากเพียงใด แต่หากค่านิยมเช่นนี้ยังคงถูกผลิตซ้ำออกมาในสังคม คงไม่มีประชาชนคนใดจะคิดและเชื่อว่าการศึกษาสายอาชีพจะสร้างชีวิตใหม่ให้พวกเราได้จริงๆ
นี่จึงเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนจะมองข้ามไม่ได้