ครั้งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ของ กสศ. ผอ. โรงเรียนบ้านยกกระบัตรไม่เคยเชื่อว่าในบริบทของความขาดแคลนโอกาสทุกด้าน จะมีแนวทางหรือนวัตกรรมใด มาช่วยเปลี่ยนแปลงให้เด็กทุกคนของโรงเรียนที่ชีวิตรายล้อมด้วยสังคมโรงงานอุตสาหกรรม สามารถเฉียดเข้าใกล้การพัฒนาสู่ ‘นวัตกรน้อยแห่งศตวรรษที่ 21’ ได้ เฉกเช่นเดียวกับโรงเรียนต้นแบบ
จนสามปีที่ผ่านมากับบททดสอบอันข้นคลัก ในฐานะโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ใจกลาง ‘พื้นที่สีแดง’ ของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ที่กระทบเป็นลูกโซ่ตั้งแต่ปากท้อง เศรษฐกิจชุมชน โรคภัยไข้เจ็บ จนไปถึงการศึกษาของเด็ก ๆ เมื่อโรงเรียนไม่ได้เปิดเรียนปกติเลยตลอดสองปีเต็ม
หากในวันนี้ที่วิกฤตรุนแรงเริ่มลดราลง ไม่เพียงแค่ตัวเลขของนักเรียนที่กลับมาเรียนได้ครบ 100% ในเทอมใหม่ของปีการศึกษา 65 เท่านั่นที่ทำให้ ผอ. ภูมิใจ แต่เด็ก ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีพื้นฐานทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองที่เข้มแข็ง และพิสูจน์แล้วว่าเอาตัวรอดผ่านวิกฤตมาได้ โดยไม่เสียศูนย์กับ ‘ภาวะความรู้ถดถอย’ อันเป็นปัญหาใหญ่ที่เด็กนักเรียนทั่วโลกกำลังเผชิญ
ไปดูกันว่าที่โรงเรียนบ้านยกกระบัตร ต.ท่าทราย จ.สมุทรสาคร เขาทำได้อย่างไร กับจำนวนครูประจำการ 14 คน ในโรงเรียนที่มีนักเรียน 354 คน และแทบพูดได้ว่า ‘ขาดความพร้อมในทุก ๆ ด้าน’
‘วิกฤตลง’ ในดงอุตสาหกรรม
บททดสอบคุณภาพ ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’
“เราเป็นโรงเรียนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะขณะโรงเรียนอื่นกลับมาเปิดกันแล้ว ตำบลท่าทรายยังถูกสั่งปิดต่อไม่มีกำหนด คือปิดก่อน เปิดทีหลัง ด้วยรอบโรงเรียนคือเขตอุตสาหกรรม โรงงานเยอะมาก หากถามว่าสองปีที่เปิดโรงเรียนไม่ได้ เราพานักเรียนผ่านมาได้อย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปที่การวางรากฐานทั้งครูและนักเรียน จนเรามีเทคนิควิธีในการรับมือ ทุกคนปรับตัวได้ และที่สำคัญคือปรับตัวได้ดีมาก ๆ ด้วย”
ผอ.สมพิศ กอบจิตติ โรงเรียนบ้านยกกระบัตร เผยถึงการข้ามผ่านโจทย์ยาก เนื่องจากสมุทรสาครเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด และต้องรับผลกระทบจากภาวะการณ์ระบาดรุนแรงที่สุด
“เราเข้าร่วมโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP ของ กสศ. มาถึงปีที่สามแล้ว ย้อนไปวันแรกที่ได้ดูงานที่โรงเรียนบ้านปลาดาว อันเป็นโรงเรียนต้นแบบ เราคิดแต่ว่าคงทำไม่ได้เหมือนเขา เพราะไม่มีความพร้อมสักอย่าง แต่ก็กลับมาลองวางแผนกัน ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด จากนั้นจึงเริ่มเปลี่ยนระบบ นำการเรียนการสอนแบบ Active Learning มาใช้
“ตอนนั้นเราเทออกมากองหมดเลย ว่าครูหรือเจ้าหน้าที่ที่มีใครทำอะไรได้ ถนัดอะไรบ้าง จากนั้นแชร์ข้อมูลแล้วหาแนวทางกัน ต้องขอบคุณมูลนิธิสตาร์ฟิชที่เปิดโอกาสให้เราบริหารจัดการตัวเอง ไม่เคยกำหนดให้ทำตามเขา แต่ช่วยประคองและแนะนำจนโรงเรียนเราค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการได้ ในบริบทที่เราเป็น”
จากคิดว่าไม่น่าทำได้ แต่เพียงปีแรกทั้งครูและนักเรียนกลับทำให้เห็นว่า เมื่อความเพียรของการทำซ้ำเริ่มแสดงผล ทุกคนก็สามารถคิดและลงมือทำได้อย่างเป็นขั้นตอน เกิดกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ ที่กลายเป็นทักษะติดตัวและงอกเงยดอกผลต่อเนื่อง ให้เด็กได้นำมาใช้เมื่อต้องเรียนรู้กันตามลำพัง
‘Maker Space & Steam Design Process’
ถ้าผู้เรียนมีพลังสร้างสรรค์ ‘โรงเรียน’ ก็เพียง ‘สถานที่’
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คือก่อนหน้านี้เด็กเขาถูกครอบไว้ด้วยความคิดว่าต้องทำตามคำสั่ง ทีนี้พอเราใช้กระบวนการคที่เปิดโอกาสให้คิด ว่าในหนึ่งโจทย์งานสามารถมองไปทางไหนได้บ้าง แล้วลองลงมือปฏิบัติ คราวนี้เห็นเลยว่าเด็กแต่ละคนคิดต่างกัน หลายคนพาความคิดไปได้ไกลกว่าที่ครูคาดการณ์ไว้เสียอีก”
ผอ.สมพิศ เล่าถึงการนำกระบวนการ Maker Space และ Steam Design Process จากโรงเรียนบ้านปลาดาวมาใช้ จนสามารถบ่มเพาะนวัตกรน้อยที่คิดเป็น วางแผนการทำงานได้ ถ่ายทอดอธิบายผลงานของตน และเปรียบเทียบงานกับของเพื่อนได้ว่าดีไม่ดีอย่างไร ต้องปรับแก้ตรงไหน หรือสามารถพลิกแนวทางการทำงานได้เมื่อเห็นทางตัน
Maker Space คือการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ โดยมีครูเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือวัสดุ และมีผู้เชี่ยวชาญไว้คอยให้คำแนะนำ ส่วน Steam Design Process คือ 5 ขั้นตอนการทำงานที่เริ่มจาก คำถามกำหนดขอบเขตปัญหา (Asking) จินตนาการรวบรวมข้อมูล (Imagine) วางแผนแก้ปัญหาที่เชื่อมโยงกับข้อจำกัด (Plan) สร้างสรรค์ชิ้นงานตามลำดับขั้น (Create) และ สะท้อนประเมินเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ (Reflect & Redesign)
“เมื่อเด็กอยู่กับกระบวนการนี้ทุกวัน เขาจะซึมซับการวางแผน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พอผ่านมาสองปี มันเห็นผลชัดเลยว่าเด็กมีทักษะเพิ่มขึ้นทุกด้าน จากเมื่อก่อนที่ทำอะไรได้แค่ตามครูบอก ตอนนี้พอได้โจทย์งานไป เขาจะสำรวจทันทีว่าวัสดุมีอะไรบ้าง แล้วจะลำดับขั้นตอน จินตนาการถึงสิ่งที่จะทำคร่าว ๆ ก่อนลงมือทำ ซึ่งระหว่างนั้นถ้าไม่ใช่อย่างที่คิดก็ปรับเปลี่ยน หรือพองานเสร็จก็วิเคราะห์แก้ไขให้ดีขึ้นได้”
“ทักษะเหล่านี้เอง ที่ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองจากที่บ้านได้ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ด้วยโจทย์งานที่ครูส่งไปให้ ด้วยกล่องการเรียนรู้ หรือ Learning Box ที่ช่วยเสริม”
“เราอาจพูดไม่ได้ว่ามันช่วยเด็กได้ 100% แต่ที่เห็นชัดเลยคือแม้เด็กบางคนขาดแคลนเครื่องมือไม่สะดวกเรียนออนไลน์ เขาก็ยังพอประคองตัวไว้ไม่ให้หลุดไปจากการเรียนโดยสิ้นเชิง เพราะเขารู้แล้วว่าตัวเองคือศูนย์กลางของการเรียนรู้ ทีนี้จะที่บ้าน ชุมชน หรือโรงเรียน มันพบบทเรียนในนั้นได้ทั้งหมด”
บุคลากรเท่าเดิม แต่คุณภาพเพิ่มขึ้น
‘ใครมีสิ่งไหน ก็นำสิ่งนั้นมาแบ่งปัน’
ผอ. โรงเรียนบ้านยกกระบัตร กล่าวว่า แม้จะมีกระบวนการที่ดีเพียงใด แต่ถ้าไม่ได้ขับเคลื่อนผ่านแก่นแกนสำคัญ คือบุคลากรคุณภาพ ที่อาจมีจำนวนน้อย คือครู 14 คน กับเจ้าหน้าที่ตำแหน่งอื่น ที่รวมทั้งหมดมี 19 คน การจัดการศึกษาคุณภาพคงไม่อาจเกิดขึ้นได้
“ความมุ่งมั่นตั้งใจของครูเราคือพลังที่ยิ่งใหญ่กว่านวัตกรรมไหน ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือมาจากที่อื่น ทุกคนรวมใจเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ครูจำนวนน้อยนิดของเราจะอยู่ทำงานที่โรงเรียนเสมอ ไม่ว่าช่วงเย็นหรือเสาร์อาทิตย์”
“ทุกเทอมเราจะสำรวจความต้องการครูว่าต้องการพัฒนาทักษะด้านใด แล้วจะเชิญวิทยากรมาจัดอบรมให้ หรือวัฒนธรรมองค์กรอีกอย่างของโรงเรียนคือการแลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดความถนัดเพื่อช่วยเหลือกันในหมู่ครู อย่างช่วงปิดโรงเรียนเราต้องสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ ครูหนุ่มสาวของเราที่ถนัดเรื่องเทคโนโลยี ก็อาสาอบรมถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนครูคนอื่น หรือครูอาวุโสเองก็ยินดีเสมอที่จะเป็นครูพี่เลี้ยงดูแลครูบรรจุใหม่ คนที่เพิ่งมาถึงจึงเข้าใจระบบการสอนได้เร็ว นี่คือจุดแข็งของคุณภาพที่เข้ามาทดแทนความด้อยเรื่องปริมาณ ใครถนัดสิ่งไหนก็นำสิ่งนั้นมาแบ่งปัน จึงทำให้ทุกคนสามารถทำงานไปได้อย่างพร้อมเพรียง”
ร่วมมือชุมชน สร้างระบบติดตามที่ช่วยเก็บเด็กไว้ได้ 100%
อีกสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนทำมาตลอด และยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงปิดเรียนออนไซต์ คือระบบติดตามนักเรียนที่ทำร่วมกับชุมชน โดยเริ่มจากในโรงเรียน ครูประจำชั้นจะรายงาน ผอ. ทุกสัปดาห์ถึงสถานการณ์เด็กแต่ละคน ใครมา ใครขาด ใครไม่ส่งงาน เมื่อมีเด็กหาย ครูประจำชั้นจะติดต่อไปยังผู้ปกครอง แล้วถ้ายังไม่พบตัวเด็ก ผอ. จะลงพื้นที่ติดตามด้วยตนเอง ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายกรรมการสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน อบต. ผู้นำชุมชน ที่มีข้อมูลเชิงลึก และเครือข่ายชุมชนที่กว้างขวาง
“ระบบดูแลรายคนคือเหตุผลที่ผ่านสองปี เด็กเรายังอยู่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครหลุด ทั้งที่ความเสี่ยงสูง เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานในโรงงาน เด็กอยู่ห้อง เรียนเอง แต่ครูเรารู้พื้นฐานเด็กอยู่แล้ว ใครอ่านได้ไม่ได้ ครอบครัวเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ซึ่งข้อมูลนี้ครูเขาจะส่งต่อกันเมื่อเด็กเปลี่ยนชั้น เมื่อผนวกรวมกับความช่วยเหลือของชุมชน ก็ยิ่งทำให้เราตามเด็กได้เร็ว และช้อนเขาไว้ทันก่อนจะสายเกินไป”
“คนเราจะทำงานที่ดีที่สุดได้เมื่อเขาอยากทำ แล้วงานนั้นจะยั่งยืน”
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวว่า เข้าสู่ปีที่สามแล้วที่ได้ทำงานกับโรงเรียนบ้านยกกระบัตร สตาร์ฟิชเชื่อว่าทุกโรงเรียนมีจุดเด่นของตัวเอง และเมื่อเข้าร่วมโครงการ ย่อมหมายถึงความตั้งใจอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งบทบาทของสตาร์ฟิชจะเป็นโค้ชที่เชื่อในความหลากหลาย ค้นหาจุดดีและสนับสนุนให้กลายเป็นจุดเด่น
“คนเราจะทำงานที่ดีที่สุดได้เมื่อเขาอยากทำ แล้วงานนั้นจะยั่งยืน เหมือนเด็ก ถ้าอยากเรียน เขาจะทำได้ดีและจดจ่อได้นาน สไตล์ของสตาร์ฟิชจึงไม่มีบล็อก ไม่มีแนวปฏิบัติตายตัว แต่เราเน้นให้คำแนะนำ ให้เครื่องมือ เปิดประเด็นชวนคิดชวนคุย และมีโรงเรียนให้ดูเป็นตัวอย่าง ซี่งเราจะบอกเสมอว่าไม่จำเป็นต้องทำตามกัน เพราะไม่มีโรงเรียนไหนเหมือนกัน แม้ทำงานกับเด็กกลุ่มที่ใกล้เคียงกันก็ตาม”
“อย่างโรงเรียนบ้านยกกระบัตร เราเห็นแล้วว่าการทำงานที่ผ่านมาคือเน้นทักษะอาชีพ มี Maker Space ที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง และเด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ด้วยระบบการคิดแบบ Steam Design Process เมื่อเด็กทำซ้ำ 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปี มันก็ยิ่งกลายเป็นระบบความคิดอัตโนมัติที่ฝังลงในตัวเด็ก เพราะฉะนั้นจะเจอโควิด โรงเรียนปิด มาไม่ได้ยังไงก็ตาม เขาจะมีต้นทุนติดตัวในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง”
และนี่คืออีกหนึ่งแนวทางการทำงานของโรงเรียนและภาคีเครือข่าย ที่แสดงให้เห็นถึงการสร้าง ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ ที่เข้มแข็ง และพร้อมรับมือได้กับทุกวิกฤตปัญหา เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กยังคงดำเนินต่อไปได้ ไม่มีใครต้องหลุดไปกลางทาง อันจะเป็นต้นแบบสำคัญของการขยายผลไปยังโรงเรียนในพื้นที่อื่น ที่มีบริบทใกล้เคียงกันในอนาคต