จากผู้ช่วยช่างไฟรับเหมาสู่เส้นทางการเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า

จากผู้ช่วยช่างไฟรับเหมาสู่เส้นทางการเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า

บาส-พันธกานต์ อาจโยธา ผู้ช่วยช่างไฟ รับเหมาติดตั้งไฟฟ้าตามหมู่บ้าน ด้วยความตั้งใจแรกเพียงอยากจะหารายได้แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง กับเป็นตัวผลักดันสู่เส้นทางการเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า บาสค้นพบความชอบหลังจากการได้ทำงานและคลุกคลีจนตั้งเป้าว่าจะเข้าเรียนเพื่อจบออกไปทำงานสายงานนี้

การเชื่อมต่อสวิตช์ไฟ เปลี่ยนหลอดไฟ แม้กระทั่งช่วยหยิบจับสิ่งของ นับเป็นประสบการณ์เล็กๆ ที่เบิกทางสู่การเป็นวิศวกรไฟฟ้า​บาสรู้ว่าหากมีความรู้ความสามารถก็มีโอกาสออกไปรับเหมางานไฟฟ้า ซึ่งสามารถสร้างหารายได้ได้จำนวนมาก

 

เพียงประสบการณ์และความสามารถอาจไม่พอ

“จุดเปลี่ยนคือตอนอยู่ ม.6 ที่จะไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะทางบ้านไม่ดี ​คิดว่าอยากออกไปหางานทำช่วยที่บ้าน แต่พ่อกับแม่อยากให้เรียนต่ออีกสักหน่อยเพราะจบ ม.6 ​ออกไปก็ทำงานอะไรไม่ได้มาก ก็เลยกลับมากู้ กยศ.เรียนต่อด้านไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เพราะคิดว่าเรียนสายอาชีพจะได้จบไวๆ และออกมาทำงานได้เลย” บาสเล่า

เส้นทางการศึกษายังไม่สิ้นสุดแค่นั้น  บาส เล่าเราให้ฟังว่า ​ ช่วงที่ใกล้เรียนจบ ปวส. อาจารย์แนะนำว่าบาสควรจะได้เรียนต่ออีกสักหน่อย อีกทั้งทางครอบครัวก็เห็นด้วยที่จะอยากให้บาสได้เรียนสูงๆ สุดท้ายเลยตัดสินใจคิดว่าจะกัดฟันเรียนอีก 3 ปี จบไปก็จะได้วิศวกรรมบัณฑิตเพราะคิดว่าไหนๆ ก็เดินหน้ามาถึงขนาดนี้แล้วก็อยากเดินหน้าไปต่อจนสุดทาง​ซี่งจะทำให้มีโอกาสได้งาน และค่าตอบแทนที่ดีขึ้น

จุดเปลี่ยนอีกครั้งอยู่ตรงที่ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประกาศรับสมัครทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ซึ่งทุนนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเยาวชนในสายอาชีพที่มีผลการเรียนดีแต่ฐานะไม่ดี ให้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 

​ฟ้าหลังฝน ความโชคดีที่มาหลังความโชคร้าย

ตอนนั้นทางอาจารย์ที่สอนอยู่ก็มาพูดคุยเรื่องรายได้ของครอบครัวก็พบว่าเข้าเกณฑ์ เลยสมัครแต่ไม่ได้คิดว่าจะได้เพราะต้องไปแข่งกับคนทั้งประเทศ และส่วนตัวก็ไม่ได้มีผลการเรียนดีมาก ช่วงปวส. ได้เกรด 3.46  ​จนถึงวันประกาศผลตอนนั้นประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ถูกตัดหน้ารถล้มแขนหักต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเกือบสัปดาห์

“ตอนเกิดอุบัติเหตุโทรศัพท์มือถือก็พังหมด ไม่สามารถติดต่อใครได้ เลยขอยืมโทรศัพท์แม่มาใช้พอเปลี่ยนมาเป็นซิมของตัวเองก็พบว่ามีสายเข้าจากทางอาจารย์ติดต่อเข้ามาหลายครั้ง เมื่อโทรกลับไปก็รู้ว่าตัวเองได้รับทุนแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นดีจาก คิดว่าเป็นโชคดีที่เกิดขึ้นหลังจากโชคร้ายต้องมาเจ็บตัวนอนโรงพยาบาล”

 

ฝึกงานเสริมประสบการณ์เติมเต็มทฤษฎีในห้องเรียน

พันธกานต์ กล่าวว่า ความตั้งใจก็อยากจะเรียนให้สูงที่สุดถึงปริญญาเอก แต่​อีกใจก็อยากเรียนจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้า แล้วออกมาทำงานก่อนเพราะอยากช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านเพราะตอนนี้ที่บ้านพ่อซึ่งทำงานอยู่คนเดียวอายุ 60 ปี แล้ว​ไม่อยากให้ต้องทำงานหนักเลยอยากไปทำงานช่วยหารายได้ให้พ่อได้พักบ้าง

ส่วนเป้าหมายในชีวิตที่เคยตั้งเป้าว่าอยากเป็นผู้รับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า แต่จากที่ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.พังโคน จ.สกลนคร ก็อยากเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ซึ่งตอนนั้นได้ติดตามรุ่นพี่ออกไปทำงาน บางวันต้องไปเช็คหม้อแปลงไฟฟ้าว่าทำงานดีไหม มีข้อบกพร่องอะไรตรงไหนบ้างและเข้าไปซ่อมแซมแก้ไข  หรือบางวันต้องออกไปสำรวจแนวเสาไฟฟ้าแรงสูงที่อยู่ในพื้นที่ป่าภูเขาว่ามีต้นไม้เข้าใกล้หรือไม่ โยต้องเดินเช็คไปเรื่อยๆ หากพบกิ่งไม้เข้ามาใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงที่ไม่มีฉนวนก็จะแจ้งกลับไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกมาตัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟช็อตในอนาคต

“ช่วงฝึกงานได้ประสบการณ์ ได้ความรู้เยอะมาก เพราะในห้องเรียนก็ได้แต่เรียนทฤษฎีได้ปฏิบัติน้อย พอมาฝึกงานก็ได้เห็นของจริง และรุ่นพี่ก็บอกว่าอยากรู้อะไรให้ถามเลย แต่บางงานเขาไม่กล้าให้เด็กฝึกงานทำเพราะกลัวว่าจะเกิดอันตราย แต่ก็จะมีงานที่ไม่ต้องเสี่ยงมากก็จะได้ทดลองทำ เช่นหม้อแปลงช็อตและสับฟิวส์หม้อแปลงแล้ว ​สายไฟแรงสูงขาดแล้วเขาตัดไฟหมดก็ช่วยซ่อมได้”​

 

ทำจิตอาสาใช้สิ่งที่เรียนมาทำประโยชน์สู่สังคม

ในเวลาว่าง “บาส” จะรวมตัวกับเพื่อนๆ ออกค่ายทำจิตอาสาซ่อมไฟให้กับหมู่บ้านในพื้นที่ต่าง ๆ   โดยประสานไปยังผู้ใหญ่บ้านล่วงหน้าว่าจะเข้าไปช่วยซ่อมไฟ บ้านไหนอยากให้ซ่อมอะไรก็ลงชื่อไว้ ไปถึงพื้นที่ก็ไปช่วยซ่อม ทั้ง ซ่อมพัดลม หลอดไฟ เบรกเกอร์ คัทเอาท์ ซ่อมเสร็จเราก็รู้สึกดีได้ช่วยคนอื่น เขาก็ดีกใจขอบคุณพวกเรา เลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำ           

จากที่ได้โอกาสการทางการศึกษา​ “บาส” ยืนยันว่าจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดและออกมาทำงานนำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคม อีกด้านหนึ่งจากสิ่งที่เห็น ผศ.ดร.สุริยา แก้วอาษา ซึ่งเคยสอนหนังสือมาตั้งแต่ตอนชั้น ปวส.​ จนตอนนี้อาจารย์เป็นคณบดีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตเพราะอาจารย์เป็นเด็กบ้านนอกเหมือนกันแต่เรียนเก่งและสอบชิงทุนได้เรียนต่อพอเรียนจบก็หักเงินเดือนทุกเดือนเดือนละ 500 บาทตั้งแต่จบใหม่จนถึงทุกวันนี้เพื่อไปช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส จึงคิดว่าหาตัวเองเรียนจบก็อยากทำแบบอาจารย์บ้างคือแบ่งเงินเดือนไปช่วยเหลือคนอื่น

ทั้งหมดเพื่อเป็นการส่งต่อโอกาสที่ตัวเองได้รับไปยังคนอื่นที่ยังขาดโอกาสให้สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สบายขึ้น มีความสุขมากขึ้น

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค