หนึ่งในงานของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำอยู่คือ พยายามทำให้เด็ก 20% ล่างสุดของเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้เรียนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตอยู่ได้
เด็ก เยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กนั้น เป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสแน่ๆ
จำนวนมากถึงมากที่สุดมาจากครอบครัวแหว่งกลางที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
เด็กและเยาวชนเหล่านี้ส่วนมากเดินเข้าสถานพินิจฯและศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเพราะปัญหายาเสพติด
ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 ที่ จ.อุบลราชธานี มีเด็กและเยาวชนอยู่ในการดูแลมากที่สุดในประเทศและมากสุดของภาคอีสานคือ สามร้อยกว่าคน ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้คือ ส่วนมากมาจากจ.ศรีษะเกษ
เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้เด็กเหล่านี้หันเข้าสู่การศึกษาอีกหน
เด็กบางคนบอกว่า แค่ตื่นเช้าขึ้นมา ความรู้สึกว่า ต้องไปโรงเรียนก็รู้สึก หายใจไม่ออกแล้ว
การที่เด็กถูกจับ ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ หรือถูกศาลสั่งให้เข้าศูนย์ฝึกฯ เหล่านี้ ล้วนทำให้พวกเขาต้องหลุดจากระบบโรงเรียนแบบครึ่งๆ กลางๆ
การจะลงเรียนต่อให้จบ ม.2 ม.3 หรืออื่นๆ ผ่านระบบการศึกษานอกโรงเรียนหรือที่เรียกกันว่า กศน.ก็ต้องรอเวลากศน.เปิดเทอมเสียก่อน ถึงจะค่อยได้เรียน
ช่องว่างเรื่องเวลานี้ กลายเป็นช่องโหว่ของชีวิตที่อาจจะกู่ไม่กลับ ยิ่งการเรียนในระบบเป็นยาขมหมัอใหญ่อยู่แล้ว หลุมดำของชีวิตก็ย่อมเกิดได้ง่าย และยากยิ่งที่จะตะเกียกตะกายกลับขึ้นมาได้
กศส.ร่วมกับกรมพินิจฯ สนับสนุนให้ศูนย์การเรียนซีวายเอฟซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียน ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เข้าไปจัดการเรียนให้กับเด็กและเยาวชนที่จังหวัดนครพนมเป็นแห่งแรก และผลที่ได้ก็น่าพอใจ
โครงการนี้จึงถูกขยายมาที่ศูนย์ฝึกฯ เขต 5 อุบลราชธานี
ผลสำเร็จรุ่นแรกที่อุบลฯนี้ น่าชื่นใจยิ่ง
มีเด็กสมัครใจเรียน 45 คน
จบการศึกษาทั้ง 45 คน
ทุกคนได้รับวุฒิและใบรบ.ที่ออกให้โดยกระทรวงศึกษาธิการตามที่พวกเขาตั้งใจ
พึงเข้าใจว่า วุฒิ ม.3 มีความหมายมากตามกฎหมายแรงงาน
มันเป็นดอกผลที่นำมาซึ่งความตื่นเต้นให้คนที่เกี่ยวข้องมากๆ
มากขนาดกระทรวงยุติธรรมถามมาว่า สนใจจะขยายรูปแบบการจัดการศึกษาแบบนี้ให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกและสถานพินิจทั่วประเทศไหม
เมื่อเช้านี้ ทางศูนย์ฝึกฯ เขต 5 ได้จัดพิธีมอบวุฒิบัตรให้กับเด็กในกระบวนการยุติธรรมที่อุบลราชธานี
ทางกระทรวงยุติธรรมส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีมาเป็นประธาน รองอธิบดีกรมพินิจฯ มาร่วม กระทรวงศึกษาธิการส่งที่ปรึกษารัฐมนตรีมาด้วย ผมไปในนาม กสศ.
ผมพูดหลังมอบวุฒิบัตรให้น้องๆชุดหนึ่งว่า ทุกคนที่มาตื่นเต้นและดีใจ ความรู้สึกคงไม่ต่างกับคนเป็นพ่อแม่เห็นลูกรับปริญญา
คนมีลูกรับปริญญามักรู้สึกไม่ต่างกันว่าลูกๆโตแล้ว มีหางเสือแล้ว ยืนได้แล้ว เหลือแต่จะสร้างอนาคตของเขาเอง
นัองๆ เหล่านี้ก็ไม่ผิดกัน
การที่เขาตั้งลำกลับทิศมาได้โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องนำทางนั้น ถ้าเราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี เราก็จะมั่นใจได้ว่า น้องๆ ลูกๆ ทั้งหมดนี้จะหาและสร้างอนาคตของเขา ครอบครัวของเขาได้แน่
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีกระบวนการศึกษาที่ทำให้พวกเขาค้นพบว่า แท้จริงแล้วเขาเป็นใคร เขามีศักยภาพแค่ไหน เขาจะดีและเก่งขึ้นได้อย่างไร ความฝันของเขาคือ อะไร
แน่นอนว่า กระบวนการนี้พวกเขาต้องตั้งใจมั่นและลงแรงไม่รู้สักเท่าไหร่
ที่สำคัญพอๆกันคือ ถ้าเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯไม่เปลี่ยนจิตใจและบทบาทจากผู้คุมขังมาเป็นครู
ไม่เปลี่ยนศูนย์ฝึกและสถานพินิจจากที่กักขังเป็นพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่เรียนรู้ ก็ยากที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะผลิบานขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
บทบาทของผู้บริหารกรมพินิจฯ หลายท่าน ท่านรองอธิบดีศิริประกาย วรปรีชา ฯลฯ โดยเฉพาะ “ผอ.ยอด-จิตติมา กระสานติ์กุล” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จ.อุบลราชธานี ที่เอาใจใส่อย่างที่สุด ยื่นมือออกมายาวที่สุดเท่าที่ท่านจะดูแล “ลูกๆ” ของท่านได้ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้ออกดอกดอกผลอันน่าอัศจรรย์ขึ้นได้
เมื่อทราบว่า เด็กคนนี้อยากมีร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์ อยากเรียนต่อโรงเรียนช่าง เด็กเรียนต่ออีกนิดหน่อยก็จะได้วุฒิ ม.3
ท่านผอ.ยอดไม่รีรอที่จะต่อสายไปหาม.ราชภัฏในพื้นที่ เมื่อมีคำยืนยันว่า ให้ส่งเด็กไปได้เลย ท่านก็ให้โอกาสเด็กด้วยการยื่นเรื่องถึงศาลโดยใช้ความตั้งใจเรียนของเด็กเป็นทุน ขอลดหย่อนเวลาต้องขัง เพื่อให้ลูกได้ออกไปทันเข้าเรียนต่อแบบไม่มีอุปสรรค
ท่านเอาใจใส่เด็กเป็นรายคน ผลักดันทีมของท่านให้เปลี่ยนตนเองจากผู้คุมขังมาเป็นครู เปลี่ยนศูนย์ฝึกจากที่กักขังเป็นพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่เรียนรู้อย่างจริงจัง
ถ้าท่านเป็นข้าราชการมือสั้น มหัศจรรย์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
ครับ ดอกไม้ 45 ดอกบานที่อุบลฯเมื่อเช้านี้
สิ่งที่พวกเด็กทำ ไม่ใช่แค่มอบคืนชีวิตจิตใจให้กับตนเองแต่พวกเขายังถมทางให้คนอื่นๆที่อาจตกอยู่หรืออาจจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันในวันข้างหน้า ได้มีโอกาสยืนตัวขึ้นมาใหม่เช่นเดียวกันและทุกฝ่ายต่างหวังว่า ดอกไม้เหล่านี้จะค่อยๆแย้มบานขึ้นในอีกหลายพื้นที่
เมื่อเช้านี้ ผมเห็นลูกคนหนึ่งที่พ้นออกนอกรั้วศูนย์ฝึกไปแล้วแต่งชุดนักเรียนกลับมารับวุฒิบัตร ม.3 ก้มกราบที่ตักแม่ของเขา
เมื่อเช้านี้ ผมได้ยินน้องคนหนึ่งพูดในเวทีว่า “ผมเชื่อว่า ผมจะทำให้ผมดีขึ้นได้กว่านี้อีก…”
เมื่อเช้านี้ ผมเห็นดอกไม้ 45 ดอกบานที่อุบลฯ
ขอขอบคุณ : อาจารย์ภัทระ คำพิทักษ์ คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานระหว่างลงพื้นที่มอบเกียรติบัตรให้กับน้องๆ ภายในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 ที่ จ.อุบลราชธานี