ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล: สอนเด็กตั้งคำถาม ทลายโครงสร้างเหลื่อมล้ำ

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล: สอนเด็กตั้งคำถาม ทลายโครงสร้างเหลื่อมล้ำ

หนึ่ง – ครูทิวไม่เคยฝันอยากเป็นครู แต่การเป็นครูวิชาสังคม ทำให้เขาตั้งคำถามกับระบบ

สอง – ความมั่นใจในตัวเองของครูทิว ถูกทำลายหายวับนับตั้งแต่วันที่เริ่มเข้ามาเป็นครูเพียงแค่ไม่กี่วัน

สาม – ในวัยเด็ก ครูทิวมีทุกอย่างเพียบพร้อม เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นข้าราชการครู ไม่เคยมองเห็นความเหลื่อมล้ำหรือตั้งคำถามถึงความแตกต่าง จนกระทั่งมัธยมย้ายตัวเองไปเรียนในโรงเรียนสาธิตฯ เขาเห็นความหลากหลายมากขึ้น เห็นเพื่อนนั่งรถโดยสารไกลถึง 80 กิโลเมตร ทุกวันเพื่อมาเรียน

ด้วยเหตุผลสามข้อนี้ เราจึงชวน ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ในฐานะครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนวัดธาตุทอง จับเข่าคุยถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย

 

การอยู่ในอาชีพครู ทำให้มองเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง

ผมเคยมั่นหน้ามั่นโหนกกับการฝึกสอนมากๆ แต่ทุกอย่างมลายหายไปหมด ตั้งแต่เข้ามาเป็นครูจริงๆ ผมจำได้ว่าสัปดาห์แรกที่เข้าไปสอนถึงกับเข่าทรุด นี่เราอยู่บนโลกใบไหนวะเนี่ย ผมไม่เข้าใจเด็กเลย เราคิดว่าเราเต็มที่ เราจริงจัง แต่ทำไมเด็กถึงเป็นแก้วคว่ำอยู่ เด็กไม่สนใจเรียน ไม่สนใจครู ห้องเรียนมีแต่ขยะ ผมเคยคิดอยากจะแก้ไขพฤติกรรมนักเรียน โดยไปหยิบไม้กวาดแล้วเราก็ไล่กวาดขยะในห้องให้เด็กเห็น กวาดไปสักพัก เด็กนักเรียนก็วิ่งมา เราก็ดีใจว่า เห้ย! มีเด็กนักเรียนเห็นแล้วจะมาช่วยเรากวาด แต่เปล่า เขาเอาขยะมาทิ้งใส่หน้าเรา ช่วงนั้นผมรับไม่ได้ถึงขนาดพยายามจะเปลี่ยนวิธีในการจัดการเด็ก ใช้วิธีที่หลากหลาย ลองให้เด็กตั้งกติกาได้เอง พยายามจะให้อำนาจเขาและ empower แต่ก็พัง

นึกถึงช่วงนั้นแล้วผมท้อมาก นอกเหนือจากเราท้อกับนักเรียนแล้ว ก็มาท้อกับระบบราชการอีก ผมมักเจอคำพูดทำนองว่า “ก็คิดเสียว่าที่นี่ก็เป็นอย่างนี้แหละ” “อีกหน่อยเดี๋ยวก็ชิน” คือชินทั้งกับเด็กและปัญหาในระบบ มันทำให้ผมตั้งคำถามว่าเราจะอยู่กันไปแบบนี้หรือ ผมไม่อยากอยู่แบบนี้ และเชื่อว่าคงจะมีคนที่คิดเหมือนผม

เมื่อไม่ยอมศิโรราบต่อปัญหา ครูทิวทำอย่างไร 

ผมกลับมาคิดว่า จุดเริ่มต้นเราอยู่ตรงไหน แล้วก็พบว่าสิ่งที่จะช่วยคลี่คลายได้คือ การเข้าใจเด็ก ผมเคยเป็นครูที่ดุมาก ใช้อำนาจในห้องเรียนเยอะมาก เหตุผลที่ต้องทำแบบนั้น เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรจัดการกับเด็กพวกนี้ได้แล้ว ทั้งที่จริงๆ เราเป็นคนใจดี สนุกสนาน แต่เพราะเราไม่เข้าใจเด็ก ก็เลยต้องดุ ระบบมันบีบให้เราต้องเป็นครูแบบนั้น 

พอปรับวิธีคิดของเราแล้ว เราเริ่มเข้าหาและคุยกับเด็กมากขึ้น จนถึงจุดที่เราทำให้เด็กไว้ใจมากพอ ทำให้เขาสบายใจมากพอที่จะเล่าชีวิตให้ฟัง อ๋อ…ที่เด็กไม่มาโรงเรียน ไม่ใช่ว่าเขาเกเร แต่เขาต้องไปช่วยที่บ้านทำงาน เด็กอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ อัดแน่นอยู่กับครอบครัวอีก 7 คน ไม่มีพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ ไม่มีโต๊ะกินข้าว ไม่มีมุมส่วนตัว

ทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับการศึกษานะครับ ความสัมพันธ์ที่ทำให้เด็กไว้ใจเรา เชื่อใจเรา ก็ทำให้เรารับรู้ข้อมูลมากขึ้น ได้มองเห็นชีวิตนักเรียนอีกหลายๆ มิติ และนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะสถานะทางบ้าน สิ่งแวดล้อม ปัจจัยพื้นฐานทางบ้านของเด็ก แม้แต่โต๊ะอ่านหนังสือ ล้วนมีผลกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กหมดเลย

การจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของเด็กคนหนึ่ง โรงเรียน-พ่อแม่-ครอบครัว-ครู-กระทรวง ต้องทำงานด้วยกันอย่างไร 

สถาบันครอบครัวหรือบ้าน คือพื้นฐานของสังคมไทย

ไม่มีพ่อแม่คนไหนหรอกที่ไม่อยากให้ลูกได้ดี แต่เราเกิดมาไม่เท่ากัน พ่อแม่บางคนเป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำ จริงอยู่ว่าถ้าคุณฐานะทางบ้านไม่ดี ไม่ได้แปลว่าคุณจะเลี้ยงลูกไม่ดี แต่มันไม่ใช่ทุกครอบครัวไง พ่อแม่บางคนเลิกงานกลับบ้าน 2-3 ทุ่ม บางคนทำงานกลางคืน บางคนต้องทำงานตลอดเวลา เพราะว่าได้ค่าแรงน้อย ถ้าเขาหยุดงานไปปุ๊บ เท่ากับว่าครอบครัวไม่มีรายได้ 

ผมยกตัวอย่าง ตอนประชุมผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองคนไหนไม่มา อย่าไปตัดสินว่าเด็กคนนี้มีปัญหาพ่อแม่ไม่ใส่ใจ แต่เขาอาจจะไม่มีทางเลือก เพราะถ้าขาดงานเพียงครึ่งวัน เท่ากับว่าเขาขาดรายได้แล้ว ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่แก้ไขที่ตัวพ่อแม่อย่างเดียว เพราะจะโยงไปถึงระบบใหญ่ มันคือเรื่องโครงสร้างของระบบ 

 

ระบบโครงสร้างที่ว่านั้นคืออะไร

ผมมองไปถึงระบบใหญ่ก่อนเลย คือระบบการศึกษา

หนึ่ง – ตอนนี้ระบบเราเหมือนกำลังอยู่ในภาวะตามหาคนรับผิดชอบ โรงเรียนเองก็ผลักภาระการดูแลเด็กไปให้พ่อแม่ พ่อแม่เองก็ผลักภาระมาให้โรงเรียน พ่อแม่มองว่าโรงเรียนเป็นสถานรับเลี้ยงลูก เพราะตัวเขาเองต้องทำงานเยอะมาก

สอง – ครูมีงานที่ต้องทำเยอะมาก ครูไทยไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอนหนังสือ ครูบางคนต้องสอน 20 คาบต่อสัปดาห์ ยังไม่รวมกิจกรรม ลูกเสือ ชุมนุม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน คาบ IS (Independent Study) คาบโครงงาน คาบจิตอาสา งานธุรการ สวัสดิการ งานพิเศษต่างๆ คำถามคือ ครูจะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาการสอนและดูแลเด็กอย่างทั่วถึง เรื่องนี้ผมว่าระบบใหญ่ควรจะรับฟังได้แล้ว

ความเสมอภาคทางการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากอะไร

นี่คือสิ่งที่ผมพูดมาตลอด ผมพูดตรงนี้เลยว่าเราควรเปลี่ยนระบบการศึกษาด้วย ‘รัฐสวัสดิการ’ เพราะนี่คือหนทางที่จะทำให้ความเสมอภาคเกิดขึ้นอย่างแท้จริง 

ตอนผมเรียนประถม ผมถามเพื่อนว่า ใครอยากเป็นอะไรกันบ้าง ทุกคนมีความฝันสูงๆ อยากจะเรียนโน่น เรียนนี่เต็มไปหมด แต่พอผมโตขึ้น ผมไปถามความฝันของเพื่อนผมตอนมัธยมคือ คือความฝันบางคนมันเหลือแค่ความต้องการอยากหลุดพ้นจากความลำบากเท่านั้นเอง เขาไม่กล้าฝันอะไรที่ไกลกว่าการดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า เพราะความไม่มั่นคงในชีวิตไงที่ทำให้เขาต้องแบกรับสิ่งเหล่านี้ไว้บนบ่า 

แล้วจะดีกว่าไหม ถ้าหากว่าเราทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาโดยที่ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน ก็ได้รับโอกาสในการเข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้บ้าน หรือเลือกวิธีการเรียนรู้ที่้หมาะสมกับตัวเองได้

ผมอยากบอกว่า วิธีคิดของรัฐมัน based on อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเหมือนกันนะครับ คือเราเชื่อว่าประเทศจะพัฒนาได้ขึ้นอยู่กับปัจเจก หมายถึงบุคคลจะต้องดิ้นรนเพื่อพัฒนาตัวเอง ถ้าหากว่าคุณยังจนอยู่ แปลว่าคุณยังขยันไม่พอ แต่ความจริงแล้วเด็กบางคนไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อเขา เด็กบางคนเลิกเรียนปุ๊บต้องไปทำงานพิเศษ เพื่อจะหาเงินซื้อข้าว หาเงินมาจ่ายค่าเทอม เพราะพ่อแม่เขาไม่สามารถหาได้มากพอ อย่าไปบอกว่าเขาไม่ขวนขวายหรือพยายามไม่พอ แม้แต่เวลาทำการบ้านเขายังไม่มีเลย แล้วถ้าเขาอยากได้รับการช่วยเหลือ เขาต้องพิสูจน์ตัวเองอีกว่าเขามีคุณค่ามากพอที่จะได้รับสิ่งนี้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ถูกมองในมิติของสิทธิที่เด็กทุกคนควรจะเข้าถึงได้ 

ในฐานะผู้ถ่ายทอดความรู้ ครูทิวมีวิธีไหนที่พอจะช่วยให้เด็กๆ พ้นจากสภาวะแบบนี้ได้

มันไม่มีวิธีการสอนแบบไหนที่ทำให้ชีวิตเด็กดีขึ้นหรอก ไม่มีการสอนแบบไหนที่ทำให้เด็กรวยขึ้น มันไม่มี

แต่สิ่งที่ผมทำแล้วผมรู้สึกว่าสักวันหนึ่งจะได้ผลคือ ผมสอนให้เด็กตั้งคำถาม เราเคยชินกับการอบรมขัดเกลาให้เด็ก romanticize กับสังคมที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำภาพความลำบาก จนลดทอนการตั้งคำถามว่าอะไรคือรากของปัญหาที่แท้จริง อะไรคือสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำยังไม่หายไป

ถ้าคุณเป็นคนที่เผชิญกับความลำบาก คุณต้องดิ้นรน คุณต้องปากกัดตีนถีบ สักวันหนึ่งคุณต้องมีชีวิตที่ดี คุณต้องพยายามมากกว่านี้ เหนื่อยกว่านี้ เพราะคุณไม่มีโอกาส คุณต้องก้มหน้าก้มตาทำทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น โดยที่ลืมตั้งคำถามไปว่าอะไรเป็นต้นเหตุให้ชีวิตเป็นแบบนี้ อะไรที่ทำให้พ่อแม่เหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้รวยขึ้น การศึกษาเราไม่เคยสอนให้เด็กตั้งคำถามแบบนี้เลย 

สุดท้ายแล้วการศึกษาควรจะพาเด็กๆ ให้รู้จักการวิพากษ์หรือไม่ เพราะตอนนี้เราขาดการตั้งคำถาม ขาดการมองเห็นและความเป็นไปได้ใหม่ๆ และผู้ใหญ่มักจะมีคำตอบตายตัวให้กับเด็ก จนทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีหาคำตอบที่นอกเหนือไปจากที่ครูกำหนดหรือตำราหนังสือแบบเรียนกำหนด

ทำไมการสอนเชิงวิพากษ์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กรู้จักตั้งคำถามได้

เพราะการที่เด็กมองเห็นถึงรากโคนจะช่วยให้เขาถอดรื้อปัญหาได้ ทำให้เด็กประกอบองค์ความรู้ได้เอง รู้วิธีวิเคราะห์แยกแยะ และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เด็กจะรู้จักสืบเสาะหาข้อมูล ตั้งคำถามแล้วหาคำตอบจากโจทย์ในห้องเรียนสู่โจทย์ในชีวิต เขาจะเชื่อมโยงตัวเองกับโลกโดยมีครูเป็นผู้ซัพพอร์ต 

แต่ข้อจำกัดของครูก็เป็นอีกอย่างที่ต้องช่วยกัน empower คือการสอนในเชิงวิพากษ์ ครูไม่กล้าที่จะออกนอกกรอบ เพราะกลัวว่าเมื่อออกนอกกรอบแล้วจะถูกตั้งคำถาม กลายเป็นความผิด ผมเข้าใจเพราะครูเองก็ถูกปลูกฝังให้อยู่ในกรอบมาตลอด ไม่มีแนวคิดเชิงปฏิรูปที่จะเปลี่ยนแปลงหรือช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองได้เร็วขึ้น 

สุดท้ายแล้ว ทำไมผมถึงบอกว่าการสอนแบบนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ การสอนแบบนี้จะทำให้เด็ก ไม่ว่าเด็กรวย เด็กจน หรือเด็กที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแบบไหนก็ตาม พวกเขาจะได้มองเห็นปัญหาอย่างแท้จริง ได้เข้าใจปัญหาที่มีอยู่ในสังคม ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความไม่ยุติธรรม ได้มองเห็นมุมมองที่กว้างขึ้นในทางสากล 

เมื่อชุดความคิดแบบนี้ถูกปลูกฝังในเด็กรุ่นใหม่มากขึ้นๆ คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามมากขึ้น มองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เริ่มมองเห็นรากของปัญหา ก็จะเกิดเป็นบรรทัดฐานใหม่ เกิดเป็น value ค่านิยมใหม่ของสังคม สุดท้ายคือมองเห็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม