แม้ไม่ใช่อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงโดยตรง แต่ในฐานะหัวหน้าภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรและประมง อาจารย์จันทร์เพ็ญ ไชยนุ้ย จากวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี(วษป.ปน.) ก็ได้สัมผัสใกล้ชิดกับน้องๆ นักศึกษาทุนทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 ที่ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาซึ่งอาจารย์เป็นผู้ดูแล จนเกิดเป็นความผูกพัน และทำให้อาจารย์กลายเป็นครูคนสำคัญในการสร้างน้องๆ นักศึกษาทุนนวัตกรรมที่ วษป.ปน. ให้ได้พัฒนาตนเองและมองเห็นเป้าหมายในชีวิต โดยเฉพาะในฐานะที่ปรึกษาของนักศึกษาซึ่งพร้อมช่วยแก้ปัญหาทุกเรื่องราว เพื่อให้ลูกศิษย์ทุกคนไปถึงเส้นชัยคือเรียนจบ มีงานทำ และดูแลตนเองได้ในวันหนึ่ง
ย้อนไปเมื่อครั้งที่ได้สัมผัสกับนักศึกษาทุนรุ่น 1 อาจารย์จันทร์เพ็ญย้อนความว่า เด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คือตัวแทนของเยาวชนหลายคนในพื้นที่ชายขอบห่างไกล ที่ต้องไขว่คว้าหาโอกาสทางการศึกษาอย่างยากลำบาก แต่เด็กๆ เหล่านี้ล้วนผ่านการคัดเลือกเข้ามาด้วยผลการเรียนที่ดี มีความอยากเรียนหนังสือเป็นที่ตั้ง ภาพของนักศึกษาทุนจึงเหมือนเป็นเด็กที่ค่อนข้างพร้อม หากสิ่งที่อาจารย์รับรู้ได้คือพวกเขาต่างมีความขาดพร่องในบางเรื่อง ซึ่งมาในรูปรอยของปัญหาหลากรูปแบบ อาจารย์จันทร์เพ็ญจึงได้นำวิธีการหลายอย่างมาใช้ดูแลเด็กๆ โดยเฉพาะการให้ความใกล้ชิดในทุกด้าน ด้วยเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยผ่อนปัญหาหนักให้เบาลง แล้วลูกศิษย์ทุกคนจะสามารถข้ามพ้นปัญหา และเดินต่อไปได้
‘ปัญหา’ คือธรรมชาติของช่วงวัยของเขา
อาจารย์จันทร์เพ็ญกล่าวว่าผลการเรียนคือสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงปัญหา ดังนั้นครูจะต้องจับความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กให้ได้ และหาทางช่วยเหลือให้เขามีกำลังใจในการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงตนเอง
สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งเปลี่ยนระดับชั้นอาจมีปัญหาเรื่องการปรับตัว ผลการเรียนอาจยังไม่นิ่ง แต่กับคนที่ผลการเรียนตกอย่างเห็นได้ชัด นั่นหมายถึงเขาจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องเรียนเราก็สามารถพูดคุยทำความเข้าใจ สอนเสริมเพิ่มเติมให้เขานอกเวลาในวิชาที่อ่อนได้
แต่หากว่ามีทั้งเรื่องผลการเรียนร่วมกับพฤติกรรมการเข้าเรียนซึ่งเปลี่ยนไป นั่นหมายถึงเด็กมีปัญหาอื่นๆ ในฐานะที่เป็นครู เราต้องทำทุกทางเพื่อนำเขากลับมาบนเส้นทางให้ได้ สิ่งหนึ่งที่เราทำคือการคุยกับผู้ปกครองของเด็กทุกคนตั้งแต่วันปฐมนิเทศน์ สอบถามให้เขาพูดถึงสิ่งที่คาดหวังในตัวเด็กๆ ซึ่งเป้าหมายที่เราได้ยินมากที่สุดคืออยากให้เรียนจบ มีงานทำ เราก็จะใช้สิ่งนี้สื่อสารกับเด็กและผู้ปกครองไปตลอด ทุกครั้งที่เกิดปัญหาเราจะคุยกับผู้ปกครองให้ช่วยดูแลเด็กใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อช่วยกันรักษาความคาดหวังนั้นไว้ ขณะเดียวกันก็ย้ำกับเด็กๆ ให้มองเห็นเป้าหมายอยู่เสมอ ไม่ยอมละวางตามเวลาที่ผ่าน
“เพราะแน่นอนว่าปัญหาคือสิ่งที่เราต้องเจอ เป็นธรรมชาติของช่วงวัยและชีวิตของเขา เด็กทุกคนที่เราได้พบไม่ว่าจะเป็นเด็กทุนหรือไม่ใช่เด็กทุนก็ต่างมีปัญหากันทั้งนั้น แต่นั่นไม่ใช่ข้อแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ได้ เราถึงได้เลือกวิธีการเข้าหาใกล้ชิดกับเขา ซึ่งจะทำให้เขากล้าบอกความจริงทุกอย่างกับเรา แล้วจะทำให้เราสามารถช่วยเขาได้ แม้ไม่ได้ด้วยตัวเองก็อาจจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนครู จากผู้ปกครอง หรือจากผู้บริหาร นั่นคือความหมายของการที่เราบอกว่า ครูต้องทำทุกทางที่ทำได้เพื่อให้ศิษย์ผ่านปัญหาอุปสรรคจนไปถึงเป้าหมาย
“เรามักจะบอกเด็กว่า ถ้ายอมแพ้ให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหันหลังให้การเรียน เราจะติดอยู่แค่ตรงนั้น ต้องพยายามเริ่มใหม่ต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเลือกก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ยอมหยุด วันหนึ่งเราจะมีทางเลือกสำหรับอนาคตมากขึ้น กว้างขึ้น แล้วต้องปลูกฝังให้เขาเก็บทัศนคตินี้ไว้กับตัวให้ได้ เพราะครูไม่สามารถอยู่กับเขาไปได้ตลอด เขาต้องตระหนักได้ด้วยตัวเอง ส่วนเรื่องที่สำคัญที่สุดที่เราจะทำได้ คือถ้าเขาพร้อมไปต่อ ครูจะช่วยทุกวิถีทางเพื่อให้เขาเรียนจนจบ”
เรียนรู้ความแตกต่าง เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจ
อาจารย์จันทร์เพ็ญเล่าถึงการเป็นอาจารย์ในพื้นที่พหุวัฒนธรรมว่า แม้เป็นคนพื้นที่โดยกำเนิด แต่ความเป็นชาวพุทธซึ่งต้องทำงานกับเด็กๆ ในวิทยาลัยที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทำให้ต้องอาศัยความพยายามในการเข้าถึงเด็กๆ โดยเฉพาะการเสริมกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อทำให้เด็ก เข้าใจความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในความหลากหลาย
“แรกๆ ที่มาสอนเรารู้สึกได้ถึงความห่าง ด้วยประเพณีวัฒนธรรมหรือภาษาที่ต่างกัน แต่เราเริ่มที่ตัวเราก่อน คือพยายามเรียนรู้ภาษามลายูถิ่น(ยาวี)ให้เข้าใจ ศึกษาพื้นฐานศาสนาอิสลาม ทั้งเรื่องวิถีปฏิบัติ อาหาร วันสำคัญต่างๆ หาความรู้ให้มากและเพิ่มเติมเรื่อยๆ พอเราเริ่มเข้าใจความห่างก็ค่อยๆ ลดลง หรือนักศึกษาบางคนเขายังไม่เข้าใจภาษาไทยดี เราก็หาเวลาสอนให้เพิ่มเติม หรือแนะนำให้เขาหาความรู้ด้วยตัวเองโดยใช้อินเตอร์เน็ต เพราะอยากให้เขาตามบทเรียนได้ เราเชื่อว่าเด็กทุกคนทำได้ คิดได้ คิดเป็นและเรียนรู้ได้หมด เพียงแต่เขาต้องเข้าใจก่อน สนุกกับมันก่อน และเห็นประโยชน์ของสิ่งที่เรียนก่อน แล้วเขาจะทำได้”
ความภาคภูมิใจของ ‘ครูที่ปรึกษา’
อาจารย์หัวหน้าภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรและประมง วษป.ปน. กล่าวว่า ถึงวันนี้ที่นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ชั้น ปวส. รุ่น 1 ของทางวิทยาลัยกำลังจะเรียนจบ ใกล้ถึงฝั่งฝัน สำหรับคนเป็นครูนับว่าเป็นความภูมิใจที่ได้เห็นลูกศิษย์ทุกคนอยู่บนเส้นทาง มีผลการเรียนในเกณฑ์ดี และพร้อมสำหรับการก้าวสู่บทเรียนชีวิตขั้นถัดไป
“ถึงตอนนี้สิ่งที่เราต้องทำคือให้กำลังใจเขา อยู่ข้างๆ เขาในช่วงเวลาที่ต้องเลือกเส้นทางอนาคต บางคนเลือกเรียนต่อ บางคนตัดสินใจทำงาน สำหรับเราก็จะช่วยเขาจนเต็มกำลังทั้งในเรื่องแนะแนวการเรียนหรือสถานที่ทำงาน เรามองว่าลูกศิษย์หลายคนของเราเหมือนดินเหนียวที่ขึ้นรูปเขาได้ง่าย ส่วนบางคนอาจเป็นดินทราย เป็นวัตถุดิบที่เราประกอบเป็นรูปร่างไม่ง่าย หรือยังมองไม่เห็นรูปร่างชัดเจน แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราก็ได้ช่วยให้เขาค้นหาตัวเองจนพบ แล้วไปต่อในแบบที่ตัวเองเป็นได้ พึ่งพาตนเองได้ เลี้ยงชีพได้ เพียงเท่านั้นงานของเราก็สำเร็จแล้ว” อาจารย์จันทร์เพ็ญ ผู้ได้รับเลือกจากนักศึกษา วษป.ปน. ให้เป็น ‘ครูในดวงใจ’ ติดต่อกันหลายปี กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค