“ครูรัก(ษ์)ถิ่น” เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อ “เจียระไนคน” คัดกรองคนรุ่นใหม่ที่มีคุณลักษณะพิเศษ เข้าสู่การเรียนรู้อย่างเข้มข้น ปรับพื้นความรู้ในวิชาจำเป็นทั้งภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ และเมื่อจบหลักสูตรแล้ว จะกลับไปสอนหนังสือยังโรงเรียนในท้องถิ่นของตนเอง นำความรู้ไป ยกระดับระบบการศึกษาในท้องถิ่นให้ทัดเทียมโรงเรียนคุณภาพต่อไป
โดยกระบวนการคัดกรองเฟ้นหาผู้ที่จะได้รับทุนในโครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” มี 3 ข้อสำคัญคือ 1.มีแววเป็นครู 2.อยากมีอาชีพเป็นครู และ 3.ฐานะครอบครัวยากจนหรือขาดแคลนทุนทรัพย์
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อธิบายให้เห็นถึงโครงการนี้ว่า ครูรักษ์ถิ่นเป็นงานสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่ห่างไกลตามแนวคิด ให้มาเรียนครูจนจบปริญญา แล้วมาเป็นครูที่บ้านเกิด ขณะนี้เพิ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 โดยรุ่น 1 มีสถาบันอุดมศึกษา ร่วมผลิตครูในโครงการนี้ 11 สถาบันทั่วประเทศ และในรุ่น 2 มีเข้าร่วมเพิ่มอีก 4 สถาบัน รวมเป็น 15 สถาบัน โดยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ไม่ใช่แค่ต้องผ่านการวัดแววความเป็นครูตั้งแต่ยังเรียนชั้น ม.6 เท่านั้น แต่ยังมีเครื่องมือคัดสรรเพื่อให้แน่ใจว่า จะกลายเป็นบุคลากรที่ได้รับการยืนยันว่ามี “คุณภาพ”
“หลักเกณฑ์การคัดเลือกจะมีฐานข้อมูลของ สพฐ.ระบุว่า ในแต่ละปี พื้นที่ตำบลหนึ่งมีนักเรียนจบ ม.6 จำนวนกี่คน จากโรงเรียนใด เช่น ตำบลนี้เรารับ 1 อัตรา มีเด็กจบ ม.6 รวม 4 คน จบจากโรงเรียนในอำเภอ จะต้องติดตาม 4 คนนี้แล้วคัดเลือกให้เหลือ 1 คน เป็นโควตาของตำบล นี่คือเด็กจบแล้วเข้าเกณฑ์ เข้ากระบวนการคัดเลือกได้”
ดร.อุดม ยังอธิบายถึง Enrichment Program ซึ่งเป็นโปรแกรมเสริมพิเศษสำหรับเด็กเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการดูเรื่องจิตวิทยาของเด็ก เนื่องจากว่าเด็กทุกคนอาจจะมีพื้นฐานทางด้านครอบครัวแตกต่างกัน
ต้องดูเรื่องพื้นฐานที่จะเข้าไปสู่การเรียนรู้อย่างเข้มข้นได้ ปรับพื้นความรู้ในวิชาจำเป็น ทั้งภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ที่สำคัญต้องเรียนรู้เรื่องของการใช้เงิน เด็กทุนของเราจะต้องบริหารจัดการเงินซึ่งเป็นรายได้ที่ตัวเองไม่เคยได้มาก่อน เพราะได้ค่าครองชีพเดือนละ 6,000 บาท ค่าเอกสารตำราที่จำเป็นอีก 2,000 บาท รวมแล้ว 8,000 บาท ทุกมหาวิทยาลัยกังวลว่า เด็กจะต้องรู้จักใช้เงินแล้วเท่าทันต่อสภาวะทางเศรษฐกิจที่ตัวเองกำลังจะเผชิญ นี่คือสิ่งสำคัญ – ผอ.สำนักพัฒนาครูฯ กล่าว
การเป็นครูที่จะต้องกลับไปเป็นกำลังสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในชุมชนบ้านเกิด สิ่งสำคัญคือ คุณภาพของผู้ที่เรียนจบ ดร.อุดม ขยายประเด็นนี้ว่า เราได้เลือกสถาบันที่มีคุณภาพระดับสูงที่จะทำงานร่วมกันในโครงการนี้ เพื่อผลิตครูให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการออกแบบหลักสูตร เพื่อให้เด็กที่จบไปแล้วอยู่ในพื้นที่ได้ เพราะเงื่อนไขสำคัญของโครงการนี้คือ ผู้รับทุนจะต้องใช้ทุนด้วยการเป็นครูในภูมิลำเนา 6 ปี จากนั้นจึงจะสามารถขอย้ายไปยังโรงเรียนอื่นได้
“ระยะเวลา 6 ปี ที่เด็กทุนต้องทำตามเงื่อนไข มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการและผลิตครูเหล่านี้ ต้องตามไปช่วยเหลือทั้งเชิงวิชาการ เทคนิค หรือแม้แต่ความก้าวหน้าของเขา เพราะเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย 1 ที่กับการผลิตเด็ก 1 คน คือ 10 ปี เป็นกลไกอย่างหนึ่งในการผลิตครู เคลื่อนไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ จากนั้นก็ต้องไม่ทิ้งเขาให้โดดเดี่ยว 6 ปีก็ต้องออกแบบ นี่คือรอบ 10 ปีที่มหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับโรงเรียน พัฒนาน้องๆ แล้วฟีดแบ็คกลับไปที่มหาวิทยาลัย เพี่อมาดูกันว่าผ่านไป 1 ปีแล้วต้องปรับอะไรเพื่อที่จะผลิตครูที่มีคุณภาพสูง”
การผลิตครูคุณภาพสูง และจะเป็นครูซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของชุมชน เป็นสิ่งที่ต้องลงทุน ดร.อุดม อธิบายแนวคิดของโครงการฯว่า การคัดเลือกผู้ได้รับทุนในโครงการฯ มาจากพื้นที่ชนบท ต้นทุนชีวิตจะไม่เท่ากับเด็กในเมือง คุณภาพการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กชนบท ต่างกัน 2 ปีกว่าๆ เด็กจบจากภูธรแค่เข้ามาถึงในตัวเมืองก็ต้องปรับตัวแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องลงทุน ต้องสอนทั้งทักษะวิชาชีพครูและทักษะการเอาตัวรอด
การลงไปค้นหาเด็กนักเรียน ม.6 ในพื้นที่โรงเรียนห่างไกล เมื่อวันหนึ่งเด็กคนนั้นได้ทุนเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้ ดร.อุดม คุ้นเคยกับบรรดาน้องๆ ที่ได้รับทุนและสัมผัสได้ถึงปณิธานความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็น “เรือจ้าง”อย่างแน่วแน่
“พอเปิดเทอมแล้วน้องๆ บุคลิกเปลี่ยนไป แววตา ความตั้งใจของเขาชัดเจนขึ้นมาก เหมือนว่ามันสมกับที่เขาได้รับโอกาสจากโครงการนี้ แล้วทุกคนตระหนักว่ามีเพื่อนอีกหลายคนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เขาเป็นคนที่ได้โอกาส มีปณิธานที่ค่อนข้างสูง จากที่เราเคยเห็นแววตาของเขาเมื่อตอนเรียน ม.6 เขามีความหวัง แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนเป็นมีความมุ่งมั่นชัดเจนมาก”
“ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พ่อแม่ลงจากดอยมาส่งลูกเข้าเรียน พาลูกเข้าไปในหอพัก คุยกับผู้ปกครองบางคนก็ยังไม่เชื่อเลยว่าลูกจะได้เข้าเรียนที่ มช. ทำให้เราย้อนกลับไปคิดถึงตอนไปค้นหาเด็ก พ่อแม่บางคนบอกว่าส่งลูกเรียนถึง ม.6 สายตัวแทบขาดแล้ว แต่วันที่ลูกเข้ามหาวิทยาลัยพ่อแม่ก็ภูมิใจ คือเห็นความชัดเจนมาก เราก็เป็นห่วงว่าน้องๆที่ เข้ามาจะคิดว่าตัวเองเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่กล้าแสดงออก แต่กลายเป็นว่าวันนี้บางคนฉายแววในการเป็นผู้นำ ศักยภาพออกมาชัดมาก ถ้าเขาไม่ได้ก้าวมาถึงจุดนี้ก็จะหายไปโดยที่ไม่ถูกดึงออกมา เราเลยคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อว่าขั้นตอนการพัฒนาของเขาจะเป็นอย่างไร” ผอ.สำนักพัฒนาครูฯ เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งกำลังเดินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายการสร้างครูเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค