หนึ่งในปัจจัยของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มาจากสถานที่ตั้งโดยเฉพาะกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่เขาสูง ไปจนถึงพื้นที่บนเกาะที่มีปัญหาทั้งเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรและการเดินทาง จนเป็นอุปสรรคให้ครูต่างถิ่นต้องถอดใจขอย้ายออก กระทบไปถึงการเรียนของเด็กที่ขาดความต่อเนื่อง
โรงเรียนอ่าวกะพ้อ ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่เคยประสบปัญหามีอัตราการโยกย้ายของคุณครูที่มาประจำการสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ “โรงเรียนทางผ่าน” ด้วย ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่กลางทะเลฝั่งอันดามันระหว่างจังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต การเดินทางที่เร็วที่ที่สุด คือเดินทางข้ามฝากโดยเรือเฟอรีประมาณ 1 ชม. แต่หากช่วงมรสุมก็จะเดินทางลำบาก
“ครูที่โรงเรียนย้ายบ่อยมาก เพราะครูที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ มาอยู่สักพักก็ไป แต่ก่อนที่เห็นก็คือมาบรรจุเป็นครูผู้ช่วย พอเริ่มปรับตัวได้เด็กเริ่มคุ้นเคยกับครูก็ขอย้าย ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนที่ไม่ต่อเนื่อง บางคนต้องอยู่ 4 ปี แต่พอ 2 ปี ก็ทำเรื่องขอย้ายเป็นกรณีพิเศษ” อุดม กูลดี ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ เล่าถึงสถานการณ์ที่ผ่านมา
ความคุ้นเคย ความผูกพัน เชื่อมครูกับชุมชน
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นับเป็นอีกความพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการค้นหาเด็กที่มีความสามารถ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นครู และมีฐานะยากลำบากในพื้นที่ห่างไกล มาเรียนครูเมื่อจบแล้วไปก็จะกลับไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนในพื้นที่ของตัวเอง
ผอ.อุดม มองว่า โครงการนี้จะแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ได้ 100% เพราะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ก็จะคุ้นเคยกับชุมชนกับโรงเรียน เมื่อได้มาเป็นครูก็จะไม่ย้ายไปไหน และยังเข้าใจบริบทชุมชน เข้าใจวัฒนธรรม อย่างในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การที่มีครูที่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรม ศาสนา ก็จะช่วยให้เกิดความผูกพันกับชุมชนได้ง่ายขึ้น
“ตัวผมเองก็เป็นคนในพื้นที่บ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนไป 400 เมตร ตอนเด็กก็เรียนที่นี่ เป็นศิษย์เก่าที่นี่ ต่อมาก็เป็นครูที่นี่ เป็นรองผอ.ที่นี่ สุดท้ายก็ขอย้ายกลับมาเป็น ผอ.ที่นี่ ตอนนี้ก็พยายามชวนครูที่เป็นคนในพื้นที่ให้กลับมาสอนที่โรงเรียน”
ถ้าไม่มีโครงการนี้ลูกเขาคงไม่ได้เรียนต่อ
สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ทางโรงเรียนได้รับการประสานมาจากทาง กสศ. ว่า ทางโรงเรียนอ่าวกะพ้อจะมีตำแหน่งว่างที่เด็กซี่งจบการศึกษาจะกลับมาบรรจุ 1 ตำแหน่ง จากนั้นจึงได้เริ่มต้นประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ชวนนักเรียนชั้น ม. 6 และผู้ปกครองมาฟังรายละเอียดควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจในชุมชน ประสานผ่านผู้นำชุมชน ให้คนที่สนใจมาสมัคร
ผอ.รร.อ่าวกะพ้อ เล่าให้ฟังว่า ทาง มรภ. ยะลาก็ประสานมาให้ช่วยพาไปเยี่ยมบ้านนักเรียนในพื้นที่ ซึ่งได้พาทีมงานไปเยี่ยมบ้านจนครบทุกคน ซี่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะสิ่งที่คณะทำงานได้มาลงพื้นที่ ได้มาเห็นของจริง ได้สัมผัสได้พูดคุยกับเพ่อแม่เด็กโดยตรง บางทีเราเองยังนึกไม่ถึงเลยเด็กเขาลำบากกันถึงขนาดนี้ บางหลังที่ไปนี่คุยไปพ่อแม่เขาร้องไห้ไปด้วย บอกว่าถ้าไม่มีโครงการนี้ลูกของคงไม่ได้เรียน
สุดท้ายเด็กจากโรงเรียนอ่าวกะพ้อ ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 จำนวนสองคน ซึ่งเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน เป็นเด็กดี แต่ฐานะยากลำบาก โดยคนหนี่งจะกลับมาบรรจุที่โรงเรียนอ่าวกะพ้อ และอีกคนจะไปบรรจุที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง ซึ่งทั้งคู่เริ่มต้นเข้าเรียนแล้วอยู่ในช่วงการปรับตัวไม่มีปัญหาอะไร
การทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพ รร.ปลายทาง
อีกสิ่งที่สำคัญในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือการพัฒนาโรงเรียนปลายทาง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันผลิตครูและโรงเรียนปลายทางที่นักศึกษาเมื่อจบการศึกษาแล้วจะกลับมาบรรจุ ทั้งการร่วมกันช่วยออกแบบหลักสูตร จัดระบบการเรียนการสอน รวมไปถึงการทำงานเชื่อมโยงกับชุมชนด้วย ทั้งหมดผลดีที่เกิดขึ้นก็จะส่งไปถึงเด็กนักเรียน
สำหรับโครงการครูรักษ์ถิ่นรุ่นที่ 2 ขณะนี้ได้รับการประสานมาแล้วว่าในพื้นที่จะมีตำแหน่งว่างที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง 1 อัตรา ซึ่ง ผอ.อุดม มองว่า การทำงานจะง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมาเพราะทุกอย่างเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว แต่คาดว่าจะหนักในขั้นตอนการคัดเลือกเพราะคิดว่ามีเด็กมากกว่าเดิมที่จะเข้ามาสมัครในโครงการ เพราะได้เห็นตัวอย่างจากรุ่นที่ 1 และผู้ปกครองจำนวนมากอยากให้ลูกหลานจบมารับราชการทำงานที่มั่นคง
“ตอนนี้เด็กๆ ให้ความสนใจโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นอย่างมาก ยิ่งได้เห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่สองคน ซี่งชาวบ้านทุกคนอยากให้เด็กๆ เข้าโครงการกลับมาเป็นครูสอนหนังสือที่บ้านตัวเอง ซี่งเชื่อว่าสุดท้ายโครงการนี้จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่โรงเรียนตั้งไว้ก็คือทำให้เด็กดี เด็กเก่ง เด็กมีความสุข” ผอ.อุดม กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค