จากสายเลือดศิลปินที่อยู่ในตัว “สมทรง บุญวัน” ที่มีคุณพ่อเป็นหัวหน้าวงละคร “คณะสมศักดิ์ลูกเพชร” ทำให้เริ่มซึมซับการร้องรำทำเพลงมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก และเอาจริงเอาจึงฝึกหัดการแสดงมาตั้งแต่ 9 ขวบ ทั้ง รำไทย โขน ละครชาตรี ลิเก ฯลฯ ก่อเกิดกลายเป็นความผูกผันกับ ศิลปะการแสดงดนตรีและนาฎศิลป์ไทยเป็นชีวิตจิตใจ
หลังแต่งงานเธอได้ผันตัวเองจากนางเอกละครชาตรีมาเป็น “แม่ครู” สอนนาฎศิลป์ไทยโดยใช้บ้านหลังเล็กๆ ของตัวเองเป็นโรงละครย่อมๆ สอนเด็กนักเรียน และเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพราะทนไม่ไหวที่ต้องเห็นเด็กแถวบ้านเที่ยวเล่นเตร็ดเตร่แบบไร้จุดหมายชีวิต บางคนไม่ได้เรียนหนังสือเพราะฐานะทางบ้านยากจน ครูสมทรง จึงยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการให้การศึกษาโดยชักชวนเด็กๆ มาร้องรำทำเพลงศิลป์การแสดงและดนตรีไทย
เราคิดว่าสอนเด็กให้มีวิชานาฎศิลป์ไทยติดตัวไปหารายได้ แม้จะได้เงินไม่มากนักก็ยังดีกว่าต้องหิวโหยจากปัญหาความยากจน หรือ อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือลักเล็กขโมยน้อย กลายเป็นปัญหาสังคมของเด็กและเยาวชนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่อาศัยอยู่แถววัดใหญ่สุวรรณาราม ต.ช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี
ถ่ายทอดทักษะ ปั้น “ยุวศิลปิน”สืบสานนาฏศิลป์ไทย
จากการสอนเด็กเป็นงานอดิเรก ที่เริ่มด้วยความใจบุญชอบช่วยเหลือเด็กๆ แบ่งปันความรู้ ถ่ายทอดทักษะนาฎศิลป์ที่ตัวเองมีติดตัวมา หวังว่าพวกเขาจะมารับช่วงต่อเป็น “ยุวศิลปิน” ในอนาคต เพราะนับวันตัวเองก็อายุมาขึ้นทุกวัน ปัจจุบันอายุ 70 กว่าปีแล้ว ยิ่งเห็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่นิยมศึกษาศิลปะการแสดงของไทย จึงเป็นห่วงว่าสักวัน โขน ละครชาตรี ลิเก ที่หาดูยากสักวันคงสูญหาย จึงเริ่มจริงจังฝึกเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้ได้มีความรู้นาฎศิลป์ไทย
ตลอด 12 ปีที่ผ่านมาแม่ครูสมทรง มุ่งมั่นทำงานเพื่อเป้าหมายรักษาอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย โขน ละคร ล่าสุดได้เปิดรับเด็ก 25 คน ที่สนใจอยากเรียนโขนละครเข้ามาร่วมโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ปี 2563 โดยได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ได้มีโอกาสเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเปิดสอนทุกวันช่วงปิดเทอมและสอนวันเสาร์อาทิตย์ในช่วงเปิดเทอม
คำชมเชย และรายได้เสริม ความภูมิใจของเยาวชนรุ่นใหม่
ทุกวันยกเว้นวันพระจะได้ยินเสียงดนตรีไทยอันแสนไพเราะ ฉิ่ง ฉาบ ระนาด ฆ้อง กลอง จากฝีมือเด็กๆ ดังกระหึ่มใกล้ๆ วัดใหญ่สุวรรณารามเป็นประจำ ทั้งเด็กเล็กอายุยังน้อยไปจนไปถึงเยาวชนวัยหนุ่มสาวมารวมตัวร้องระบำนาฎศิลป์ไทย อาทิ ระบำสี่ภาค ระบำชนไก่ ระบำสุโขทัย ระบำลพบุรี หรือ ระบำศรีวิชัย ฯลฯ โดยมี แม่ครูสมทรง เป็นผู้ฝึกสอน
เมื่อเห็นเด็กคนไหนเริ่มฉายแววเก่งมีความสามารถ แม่ครูสมทรง จะพาไปออกงานโชว์ เช่น งานวัด งานสงกรานต์ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแก้บน ทำให้เด็กๆ ได้มีรายได้ 200 – 300 บาทต่อครั้ง และยังเก็บความภาคภูมิใจกลับมาจากคำชมถึงความเก่ง ที่แม้จะเป็นเด็กรุ่นใหม่แต่มีหัวใจรักษ์ศิลป์การแสดงไทยอย่างน่าทึ่ง ซึ่งนับวันจะหาเยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยน้อยลงทุกที
สร้างอนาคตด้วย “นาฏศิลป์” พาเด็กพ้นวงจรเสี่ยง
แม้พื้นที่โรงละครบริเวณลานบ้านจะคับแคบ แต่ด้วยความรักความเมตตาที่ดูแลเอาใจใส่เด็กแต่ละคนไม่ต่างจากลูกตัวเอง ทำให้ “ครูสมทรง” เป็นที่เคารพรักจากเด็กๆ และได้รับความไว้ววางใจจากผู้ปกครอง ซึ่งแต่ละคนภูมิใจที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกหลานตัวเองจากที่เคยเที่ยวเตร่ไปวันๆ กลับสามารถมาแสดง โขน ละครชาตรี ลิเก หนังตะลุง ได้อย่างอ่อนช้อยงดงาม มีงานแสดงเข้ามาไม่ขาดสายช่วงก่อนสถานการณ์ โควิด-19
จากเด็กบางคนยากจนไม่มีพ่อแม่ ชีวิตใกล้สิ้นหวัง เกือบไปติดยาเสพติด หรือ หลุดนอกระบบการศึกษาได้กลับมามีความรู้การศึกษาไม่ไปเกกมะเรกเกเร ทำให้ “หลวงพ่อชุบ” เจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม เมตตาสงสารอยากช่วยเหลือจึงเปิดใต้ถุนศาลาการเปรียญวัด ให้คณะละครแม่ครูสมทรง ได้ใช้เป็นโรงละครซักซ้อมเพิ่มเติม
ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าบ้านแม่ครูสมทรง คับแคบเกินไป เพราะนับวันมีเด็กยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์หลุดออกนอกระบบการศึกษาเข้ามาร่วมกิจกรรมดีๆ กับ แม่สมทรง มากขึ้นเรื่อยๆ แถมเจ้าอาวาสยังใจดีให้ใช้โรงครัวของวัดเป็นโรงทานเลี้ยงข้าวเด็กๆ เหล่านี้อีกด้วยทำให้เด็กยากจนได้มาฝากท้องหลังซ้อมละครเสร็จ
เปิดขายต้มเครื่องในหมูจุนเจือคณะละครช่วงโควิด-19
ยามใดวัดมีงานบุญจะเรียกใช้คณะละครแม่ครูสมทรงได้โชว์ความสามารถ จากงานเล็กๆ งานแก้บนงานขึ้นบ้านใหม่ไปจนถึงรับงานใหญ่ๆ บางคนต่อยอดนำความรู้ที่แม่ครูสมทรง มอบให้ “เปิดหมวก” บริเวณหลังศาลากลางจังหวัด หรือ ตามตลาดนัดคนเดิน
แต่พอสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระลอกใหม่ ความสุขความสนุกสนานจากการได้ร้องรำทำเพลงด้วยกันที่วัดใหญ่สุวรรณารามกลับทำไม่ได้ รายได้ที่เคยเข้ามากลับหดหาย ต้องมาขอข้าวก้นบาตรจากวัดพอเอาตัวรอดในช่วงนี้ไปให้ได้
อีกด้านหนึ่ง แม่ครูสมทรง ต้องหันมาพลิกบทบาทเป็น “แม่ครัว” ขาย “เครื่องในหมูต้ม” เพื่อยังชีพและหารายได้หล่อเลี้ยงคณะละคร
เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งเหมือนกันทุกคน
ต้องค้นหาความสามารถที่ตัวเองถนัด
สิ่งที่พอทำได้เวลานี้คือการสั่งสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ตักเตือนถึงความกตัญญูกตเวที ต้องมีสำนึกอยู่เสมอ โดยเฉพาะวัด ให้ที่พักพิงด้านการซ้อมศิลปะดนตรี และยังเป็นโรงครัวเลี้ยงอาหาร การดูแลวัดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ควรนิ่งเฉย เช่น ล้างถ้วย ล้างชาม เก็บขยะ ทำความสะอาด กวาดลานวัดให้ดูสะอาดอยู่เสมอ เพื่อตอบแทนข้าวทุกเม็ดที่ญาติโยมนำมาถวายพระ เช่นเดียวกับกิริยามารยาทต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะวัดเหมือนบ้านหลังที่สอง
เด็กบางคนอาจจะเรียนไม่เก่งและฉลาดเทียบได้กับ เด็กปกติทั่วไปที่โอกาสดี มีพ่อแม่ครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยเด็กๆ ก็เก่งชำนาญในสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด เช่น เด็กบางคน ยากจน กำพร้า อ่านหนังสือไม่ออก บวกเลขยังไม่ถูก แต่กลับท่องบทละครชาตรีได้อย่างคล่องแคล่ว นี่คือการศึกษาที่แม่ครู มอบให้
นับเป็นต้นแบบ “ครูพี่เลี้ยง” ที่ทำงานกับเด็กด้วยความเสียสละอย่างแท้จริง ด้วยการปั้น เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็น “ยุวศิลปิน” ผู้สืบสานวัฒนธรรมดนตรีนาฎศิลป์ไทยให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค