การศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีอาจเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับเด็กๆ หลายคน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่หลายคนมีความสามารถ และความมุ่งมั่นตั้งใจอยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อจบออกมามีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง แต่สุดท้ายฐานะการเงินก็เป็นอุปสรรคฉุดรั้งให้เด็กหลายคนต้องออกมาทำงานหาเงินหลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย
น้องมัส-มะห์สวานี กาซอ หนึ่งในเด็กๆ หลายคนที่เคยถอดใจเตรียมออกมาหาทำงานหลังเรียนจบ ม.6 จนกระทั่งได้รับ “โอกาส” จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.). ให้ทุนเรียนต่อจนจบปริญญาตรี และกลับมาบรจุเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิด ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา
“ถ้าไม่มีโครงการนี้หนูก็คงไม่ได้เรียนต่อเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล พ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนระดับปริญญาตรี พื้นที่ที่หนูอยู่ไม่ค่อยมีคนได้เรียนปริญญาตรีจบม.ปลายก็ออกมารับจ้างทำงานในพื้นที่ทั้งทำสวนยาง ทุเรียน ลองกอง ตั้งใจเรียนมาตลอดเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 พอ ม.5 ก็ถามพ่อแบบจริงจังว่าจะส่งให้เรียนไหม พ่อก็บอกว่าไม่ใช่จะไม่ส่ง แต่เราไม่มีเงินก็คิดว่าจะไม่ได้เรียนแล้ว จนมีทุนนี้ก็ทำให้มีหวังและสุดท้ายก็ได้เดินหน้าสู่เป้าหมายที่อยากกลับมาเป็นครูสอนน้องๆ ในพื้นที่”
ฝันอยากเป็นครูกลับมาสอนเด็กให้มีความสุข
ตอนนั้นเริ่มรู้ตัวเองตั้งแต่ประถมว่าอยากเป็นครูเพราะที่โรงเรียนเคยได้เรียนกับครูใจดี เรียนแล้วมีความสุข ทำให้เราอยากกลับมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนให้เด็กมีความสุขเหมือนที่เราได้รับบ้าง ได้กลับมาพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านเราให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงต้องใช้โซลาร์เซลล์ ถนนเป็นลูกรัง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ต้องใช้น้ำจากเขา
ข้อดีของการเป็นครูที่มาจากในพื้นที่นั้น มะห์สวานี มองว่า ถ้าเป้นครูที่มาจากที่อื่นต้องมาสอนในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ก็อาจไม่รู้ว่าชุมชนของเราเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าพื้นที่มีอะไรบ้าง ขัดสนตรงไหน ต้องพัฒนาตรงไหน แต่เรามาจากในพื้นที่ มีจุดเด่นมีสินค้า OTOP จะพัฒนาอย่างไรให้ดีขึ้น สิ่งที่ขาดแคลนจะพัฒนาอย่างไรให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้เท่าทันเพื่อน
ครูจากพื้นที่ทำให้รู้จักและพัฒนาชุมชนได้ดีขึ้น
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นนอกจากจะให้ทุนจนเรียนจบแล้ว เมื่อเรียนจบยังได้ไปบรรจุในพื้นที่บ้านเกิดทันที โดย มะห์สวานี จะไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนท่าละมัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เธอเคยเรียนตอนชั้นประถมปัจจุบันยังมีครูที่เคยสอนเมื่อทราบข่าวว่าจะได้กลับไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนก็ติดต่อมาให้กำลังใจและคำแนะนำ
“การกลับมาเป็นครูที่นี่อีกครั้ง จะทำให้เรารู้จักทั้งโรงเรียน ทั้งคุณครู ทั้งชุมชน ทั้งนักเรียน เป็นความคุ้นเคยที่จะทำให้เราสามารถสอนเด็กได้ดีขึ้น ดึงให้ผู้ปกครองให้มาร่วมพัฒนาชุมชนได้ง่ายขึ้น อย่างในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เด็กเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ข้อมูล ข่าวสารเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อยากเข้าไปพัฒนาตรงนี้ให้ดีกว่าเดิม”
ขอตอบแทน”โอกาส” ที่ได้รับทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
อีกจุดเด่นที่สำคัญของนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์) คือการเป็นนักพัฒนาชุมชนควบคู่กับการเป็นครู ซี่ง มะห์สวานี เห็นด้วยว่า การเป็นครูไม่ใช่แค่การการสอนหนังสือแต่ต้องพัฒนาชุมชนควบคู่ไปด้วย เพราะหากอยู่ในชุมชนที่ไม่ดี เด็กก็จะเรียนรู้ได้ไม่ดี หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีเด็กก็จะเรียนรู้ได้ดีกว่าเดิม ครูจึงควรเป็นหนี่งในกำลังร่วมพัฒนาชุมชน และะขอใช้โอกาสที่ได้รับนี้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ตอนทำกิจกรรมเข้าค่ายช่วงคัดเลือกรับสมัครทุน ทาง มรภ.ยะลา ได้พานักเรียนที่สมัครผ่านการคัดเลือกรอบแรกไปลงพื้นที่ เกาะยอ จ.สงขลา โดยให้โจทย์ไปสานสัมพันธ์กับคนในหมู่บ้าน ไปศึกษาว่าชุมชนมีอะไรดี อะไรที่ต้องพัฒนา ต้อการอะไร ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ในพื้นที่ของเราเมื่อกลับมาเป็นครูในพื้นที่จริง
ทุนนี้ไม่ได้สานฝันแค่ตัวหนู แต่สานฝันเด็กหลายๆ คนให้เป็นจริง
“ตอนประกาศว่าได้รับทุน หนูดีใจมากน้ำตาไหลเลย ถ้าหากไม่มีทุนวันนี้เราคงไม่มีโอกาสได้เรียน พอมีโอกาสได้เรียนก็ได้สานฝันของตัวเองให้เป็นจริง ทุนนี้ไม่ได้สานฝันแค่ตัวหนูเอง แต่สานฝันเด็กหลายๆ คนให้เป็นจริง ได้นำความรู้นี้ไปพัฒนาชุมชน ไปพัฒนาโรงเรียน ไปพัฒนาเด็ก ๆ ทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้น ชุมชนของเราก็จะพัฒนามากขึ้น ทุนนี้จึงไม่ใช่ได้แค่ตัวเราแต่ได้ทั้งหมู่บ้านทั้งชุมชน”
มะห์สวานี เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้เด็กๆ ในพื้นที่รู้จัก กสศ. เพราะโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น น้องๆ ก็จะสอบถามเข้ามาเรื่อยๆ ว่าเปิดรับสมัครหรือยัง ถ้ามีทุนอะไรก็ให้แจ้งข่าวด้วยนะ พอมีความคืบหน้าเราก็จะแจ้งไปตลอด เพราะทุนของกสศ. เป็นเหมือนโอกาสที่จะทำให้พวกเขาได้ศึกษาต่อ
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค