จากที่ไม่เคยมีความคิดว่าจะเป็นครูมาก่อน แม้จะได้โควตาเรียนครูที่ราชภัฏลำปาง แต่ก็ตัดสินใจเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจปี 2532 และเริ่มต้นอาชีพเป็นตำรวจตระเวนชายแดน 2533 อยู่ชุดป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แต่จากการที่ต้องจับกุมผู้กระทำผิด ก็จะเห็นภาพเด็กๆ มาร้องไห้เวลาไปจับพ่อแม่ญาติพี่น้องเขา ทำให้สุดท้ายต้องขอย้ายตัวเองมาทำงานเป็นครู ตชด.
“เวลาเห็นเด็กๆ มาร้องไห้ตอนไปจับพ่อแม่เขาบ่อยๆ เราก็เกิดความรู้สึกไม่ดี รู้ตัวเลยว่าเราใจไม่แข็งพอ ตอนนั้นพอดีทราบว่า มีรร.ตชด. เราก็ขอย้ายไปเป็นครูช่วยพัฒนาเด็กตรงนั้น ช่วยให้ความรู้ตั้งแต่ต้นทางไม่ให้เด็กกระทำผิดเรื่องยาเสพติด ทำผิดกฎหมาย ตัดไม้ทำลายป่า ตรงนั้นน่าจะเป็นประโยชน์กว่า” พ.ต.ท.วัชรินทร์ ยศรุ่งโรจน์ ครูใหญ่ รร.ตชด.บ้านหนองแขม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่กล่าว
วางปืนมาจับชอล์กสอนหนังสือเด็ก
หลังจากต้องวางปืนมาจับชอล์กสอนหนังสือเด็กที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมป์ 2 อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ รับผิดชอบสอนหนังสือเด็กชั้น ป.3 ครูใหญ่วัชรินทร์ เล่าให้ฟังว่า ไม่เคยสอนหนังสือมาก่อน ก็อาศัยไปศึกษาจากคู่มือครูที่เป็นหนังสือ เพราะยุคนั้นยังไม่มีสื่อให้ศึกษามาก ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มี Google ให้หาข้อมูลตัวอย่างได้เหมือนปัจจุบัน
สำหรับวิชาที่สอนในตอนนั้นก็มีไม่เยอะมาก แค่ประมาณ 5 กลุ่มวิชา ภาษาไทย ภาษอังกฤษ กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต-สปช. กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย-สลน. กลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ-กพอ. พอสอนแล้วเด็กมีความรู้มากขึ้นพูดภาษาอังกฤษง่ายๆ ได้ ตอนนั้นก็ภูมิใจ และคิดว่าตัวเองเริ่มเป็นครูแล้ว และพยายามฝึกฝนทักษะการสอนของตัวเองให้มากขึ้น
ตระเวนอบรมเพิ่มทักษะการสอน
“ตอนนั้นมีจัดฝึกอบรมครูที่ไหน ผมก็สมัครไปอบรมกับเขาหมด เพราะต้องการเพิ่มทักษะให้ตัวเองจะได้สอนเด็กให้ดีขึ้น เพราะการไปสอนเด็ก เด็กจะยึดเราเป็นต้นแบบ ถ้าเราสอนผิดมันก็ผิดไปเลย เด็กก็จะจำและเรียนรู้อะไรที่ผิด สมมติเราไปสอนว่าโลกแบน เขาก็จะเชื่อว่าโลกแบน ดังนั้นการที่เราจะถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์เราต้องรู้ว่ามันเป็นเรื่องจริงไม่ให้เขาจำหรือเรียนรู้ในสิ่งที่ผิด”
ยิ่งได้ไปอบรมบ่อยครั้ง ทักษะการสอนก็ดีขึ้น ได้นำเอาความรู้ เทคนิคต่างๆ มาช่วยในการสอน อย่างการเขียนแผนการสอน การประเมินนักเรียน จากแต่เดิมที่ประเมินเด็กแค่เด็กอ่านได้ เขียนได้ นิสัยดี แต่พอได้ไปอบรมก็จะรู้วิธีการประเมินแบบเป็นระบบ มีการใช้เกณฑ์เข้ามาประกอบ และยืดหยุ่นกับสภาพความเป็นจริง ผลลัพธ์ก็จะเกิดกับเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งทักษะชีวิตและวิชาการโดยเด็กนักเรียน ตชด. ส่วนมากเขามีทักษะชีวิตอยู่แล้ว เราก็เข้าไปเติมวิชาการให้เขาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต
เริ่มต้นเป็นครูใหญ่เร่งแก้ไขปัญหาตกเขียว
จนกระทั่งปี 2548 ตำแหน่งครูใหญ่ที่ โรงเรียนตชด.บ้านหนองแขมว่างลง ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ พ.ต.ท.วัชรินทร์ มารับหน้าที่ครูใหญ่ในพื้นที่สีแดงเวลานั้น ซี่งมีทั้งปัญหายาเสพติด และการตัดไม้ทำลายป่า เด็กจำนวนมากไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะปัญหาตกเขียว งานแรกที่ทำคือ เรียกผู้ปกครองมาคุยเพื่อแก้ปัญหาตกเขียว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากญาติๆ ที่เห็นแก่เงินค่านายหน้า เราก็เอากฎหมายไปบอกเขาเลยว่าอายุไม่ถึง 15 ปี ยินยอม หรือไม่ก็มีความผิด รวมทั้งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแล พอรู้ว่าเราเอาจริงก็เริ่มหายไป
“เด็กบางคนพอไปเรียนต่อที่อื่น เขาก็โทรศัพท์ไปชวนเด็กให้หยุดเรียนมาทำงานที่ร้านคาราโอเกะ เราก็ใส่เครื่องแบบไปตามที่ร้านเลย บอกว่าผมมาตามลูกศิษย์ผม อายุไม่ถึง 18 ปี ผิดกฎหมายทำแบบนี้ไม่ได้ ถึงจะจบจากโรงเรียนเราไปแล้วแต่ก็ยังคอยเอาใจใส่ติดตามความเป็นอยู่เขาเพราะความเป็นห่วง”
ครูตชด. มีใจ มีไฟ ต้องเติมเต็มยุทธวิธีการสอน
สำหรับโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ผนึกกำลังกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาครู ตชด. นั้น
พ.ต.ท.วัชรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะครู ตชด. มีแต่ใจกับกำลัง แต่ยังขาดยุทธวิธีชั้นเชิงที่จะไปถ่ายทอด ที่ผ่านมาจะใช้แผนการสอนแบบสำเร็จ หรือใช้หนังสือเป็นหลัก หากไม่มีประสบการณ์ ก็จะบูรณาการการสอนได้ยากโดยเฉพาะครู ตชด. ใหม่ๆ เพราะครูที่เขาจบมาทางด้านครูโดยตรง เขาจะเรียนทั้งเรื่องจิตวิทยา หลักสูตรการบริหารจัดการ การเขียนแผนการสอน การประเมินมาครบถ้วน นักเรียนก็จะมีพัฒนาการที่ไว เพราะใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ประยุกต์ใช้สื่อได้
“ตรงนี้เหมือนเป็นการเติมเต็มให้ครู ตชด. ที่มีไฟ มีกำลัง แต่ต่อยเหมือนมวยวัด คือมีแรง แต่จะให้น็อคคู่ต่อสู้ก็ต้องใช้แรงเยอะ ใช้หัวใจสู้ อาจต้องเจ็บหน่อย แต่หากมีชั้นเชิง เอาชั้นเชิงไปสอนให้เขา การต่อยก็จะมีชั้นเชิง ก็จะช่วยผ่อนแรง รู้จังหวะและเดินหน้าสู่เป้าหมายได้ดีขึ้น”
ทุ่มเทเรียน 10 ปีจนจบ ดร.ด้านวิจัยและพัฒนา
ในฐานะที่มีประสบการณ์การเรียนจนจบปริญญาเอกในระหว่างการสอนอยู่ที่โรงเรียน ตชด. พ.ต.ท.วัชรินทร์ เล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่เรื่องที่ยากแต่ต้องมีความตั้งใจ เริ่มจากที่เรียนจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ พอมาเป็นครูก็อยากไปเรียนปริญญาโทด้านบริหารการศึกษาแต่หลักสูตรให้เรียนเฉพาะคนที่จบมาสายการศึกษาเท่านั้น จึงหันไปเรียนด้านวิจัยและพัฒนาที่ มรภ.เชียงใหม่
โดยใช้เวลาวันเสาร์ อาทิตย์ ไปเรียน ให้เพื่อนเข้าเวรแทน ส่วนวันธรรมดาก็กลับมาเข้าเวรแทนเพื่อน เป็นอย่างนี้จนเรียนจบใน 4 ปี แม้จะเหนื่อยหน่อยแต่ก็เป็นเป้าหมายที่อยากเดินไปให้ถึง อีกทั้งยังต้องยอมลงทุนเองโดยกู้เงินมาเรียน ส่วนปริญญาเอกนั้น เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ด้านการบริหารและการพัฒนาซึ่งใช้เวลา 5 ปีกว่า ในการเรียนจนจบปริญญาเอก
มุ่งมั่นตั้งใจเป็นครูทดแทนบุญคุณแผ่นดิน
ทั้งหมด พ.ต.ท.วัชรินทร์ มองว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นความภูมิในที่ได้ทำเพื่อเด็กๆ เป็นการทดแทนบุญคุณแผ่นดิน เพราะสมัยเด็กๆ ก็เคยเป็นเด็กเกเร ท้าตีท้าต่อยกับคนอื่นไปเรื่อยจน ม.5 ก็โดนให้ออกจากโรงเรียน มาอยู่บ้านทำนา เพื่อนที่เคยเที่ยว เคยเกเรด้วยกันก็หายหมด ชีวิตเริ่มไม่สนุก จึงไปขอแม่กลับไปเรียนอีกครั้ง
“เราเลยได้รู้สัจธรรมการใช้ชีวิต และตั้งใจว่าจะเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาสอนเด็ก สอนให้เด็กๆ ที่มีชีวิตยากลำบาก ยากจน ทำไร่ ทำสวน หลายคนได้เป็นตำรวจ เพียงแค่เราอย่าไปดูถูกตัวเอง ต้องให้โอกาสตัวเอง” พ.ต.ท.วัชรินทร์ กล่าว
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค