การจราจรที่หนาแน่นติดขัดในทุกเช้าวันทำงาน ระบบขนส่งสาธารณะที่แออัดไปด้วยผู้คนที่มีจุดหมายเดียวกัน คือเร่งรีบไปถึงที่ทำงานให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน เด็กนักเรียนหลายคนที่กำลังมุ่งหน้าไปโรงเรียนซึ่งอยู่ไกลบ้าน ก็ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันนี้อย่างเสียไม่ได้
จึงแทบจะเป็นเรื่องปกติ ที่แม้จะทราบดี ว่า การเรียนหนังสือนั้นสำคัญเพียงไร แต่การเดินทางและเหตุผลอีกมากมาย ทำให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่เด็กในกรุงเทพและในจังหวัดใหญ่ๆ หลายๆ คน ถอนหายใจ ส่ายหน้า และเลือกที่จะตอบไปในทางเดียวกัน ว่า “ถ้าเป็นไปได้ ก็ไม่อยากไปโรงเรียน” ขณะที่ เด็กนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารแห่งหนึ่ง กลับมีมุมมองต่อโรงเรียนที่ต่างออกไป
โรงเรียนบ้านห้วยสลุง โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก มีนักเรียนคละชั้น รวมกันเพียง 80 กว่าคน เป็นสถานที่ซึ่ง ด.ต.หญิง วิไล ธนวิภาศรี ครูใหญ่ของโรงเรียนบอกว่านักเรียนของที่นี่ อยากมาโรงเรียนทุกวัน เพราะพวกเขามองว่าโรงเรียนนั้นเป็นมากกว่าสถานศึกษา แต่เป็นเสมือน “บ้านหลังที่สอง”
“เด็กในโรงเรียนของเราอยากมาโรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นที่พึ่งพิงที่สำคัญที่สุด ไม่เพียงแต่จะฝากอนาคตไว้เท่านั้น แต่ยังถือว่า เป็นพื้นที่ที่เห็นความสำคัญของวัยเด็ก ซึ่งบางแง่มุม บ้านของพวกเขาอาจจะมอบให้ไม่ได้ เด็กบางคนเมื่ออยู่บ้านจะกลายเป็นกำลังแรงงานหลักของบ้าน ต้องทำงานบ้านหรือต้องไปใช้แรงรับจ้างเก็บผลผลิตทางการเกษตร”
สำหรับเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่าเด็กบ้านไกลหรือเด็กพักนอนในโรงเรียน อาจจะมองเห็นโรงเรียนสำคัญยิ่งกว่านั้น เพราะโรงเรียนได้กลายเป็นเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่พวกเขาฝากทั้งชีวิตและปากท้องไว้ในทุกๆ วัน
เด็กบ้านไกลทุกคน จะบอกเหมือนๆ กันว่า มื้ออาหาร และที่พักอาศัย ที่ดีที่สุดที่พวกเขาได้รับนั้นอยู่ที่โรงเรียน หากตามไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาก็จะเห็นว่า เมื่อกลับบ้านแต่ละมื้อจะได้กินเพียงแค่ข้าวกับน้ำพริกและผักที่เก็บได้จากรอบๆ บ้านหรือละแวกใกล้เคียงเท่านั้น บ้านพักนักเรียนบางคนไม่มีฝาบ้านหรือเป็นเพียงเพิงพักชั่วคราวเท่านั้น” ด.ต.หญิง วิไลเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กในโรงเรียนแห่งนี้ ก่อนจะบอกอีกว่า
นักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยสลุง ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ หลายคนมีความต้องการเร่งด่วนเรื่องการจัดการศึกษา ดูแลความเป็นอยู่ด้านคุณภาพชีวิต สุขอนามัย รวมถึงความช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์การศึกษา ประสบปัญหาด้านระยะทาง และการเดินทางในพื้นที่กันดาร บางส่วนที่ไกลออกไปต้องใช้บริการรถรับส่งรายเดือนซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 250-300 บาท
นอกจากนี้ นักเรียนบางส่วน เป็นเด็กที่มาจากหมู่บ้านที่ห่างออกไปประมาณ 50-60 กิโลเมตรในพื้นที่ดอยสูง รวมถึงเด็กที่บ้านใกล้แต่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ การดูแลเด็กทั้งสองกลุ่มนี้ ทางโรงเรียนได้จัดอาคารพักนอนเป็นอาคารชั่วคราวให้ โรงเรียนจะมีการจัดนมผงพระราชทานให้นักเรียนทุกคนในตอนเช้า และจัดสรรอาหารกลางวันโดยการสนับสนุนจาก อปท. ในพื้นที่ โดยโรงเรียนได้จัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันทั้งการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์เช่นปลา หมู และไก่ เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาเป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนทั้งโรงเรียน
ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง เล่าอีกว่า ในส่วนของอาหารแต่ละมื้อของเด็กทั้งหมด จะมีทั้งการวางแผนล่วงหน้าว่ารายการอาหารที่ปรุงในแต่ละวันจะมีอะไรบ้างเพื่อให้ได้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน หรือบางครั้งก็จัดสรรอาหารจากวัตถุดิบในแหล่งใกล้โรงเรียนหรือตามฤดูกาล การบริหารจัดการเรือนพักนอนใช้จัดระบบพี่ดูแลน้องทั้งเรื่องที่พักและอาหาร ให้เด็กโตดูแลเด็กเล็ก จัดหาทั้งอาหารเช้าและเย็นให้กับเด็กในที่พักคนอื่นๆ รวมถึงจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียนหรือกิจกรรมในตอนเช้า โดยมีครูเข้าเวรกำกับดูแล
เด็กชายธนชัย วิเชียรรังสี นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง เล่าว่า เด็กบ้านไกลหรือเด็กพักนอน จะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่เด็กโตจะจัดเวรดูแลเรื่องอาหาร มื้อเช้าและมื้อเย็น เด็กเล็กจะช่วยกันดูแลความสะอาดในโรงเรียน อาคารเรียน อาหารที่จัดหาเป็นข้าวสวยหุงร้อนๆ และกับข้าวง่ายๆ หนึ่งอย่าง เช่นผักผัด หรือแกงจืด บางครั้งก็มีน้ำพริกเพิ่มขึ้นอีกอย่าง การจัดเตรียม ต้องกะปริมาณให้เพียงพอสำหรับทุกคน แบ่งหน้าที่ตั้งแต่เรื่องการเตรียมวัตถุดิบ หั่นหมู หั่นผัก ไปจนถึงการล้างจาน หน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ในทุกๆ วัน ถือเป็นโอกาสสำคัญในการช่วยฝึกเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ เมื่อกลับบ้านก็ใช้ความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนไปใช้กับที่บ้าน กลับไปทำอาหารให้ผู้ปกครอง ช่วยทำงานบ้านแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้
เด็กหญิงจิตรานุช วิเทศสุขสม ป.6 โรงเรียน ตชด. บ้านห้วยสลุง เล่าว่า เด็กบ้านไกลส่วนใหญ่จะรักโรงเรียนมาก เพราะต้องอาศัยอยู่ในโรงเรียนเหมือนบ้าน บางราย ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ไม่กลับบ้าน เพราะที่บ้านไม่มีใครอยู่ ผู้ปกครองต้องไปทำงานรับจ้างที่อื่น ส่วนใหญ่รับจ้างเก็บผลผลิตทางการเกษตร ผู้ปกครองของพวกเขาจะไม่อยู่บ้านจนกว่าจะหมดฤดูเก็บเกี่ยว
ขณะนี้ทีมงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กระจายกันลงพื้นที่ โรงเรียนสังกัด ตชด. ตามภูมิภาคต่างๆ ภายหลังการลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ระหว่าง กสศ. และ ตชด. เพื่อคัดกรองและสนับสนุนนักเรียนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนทุนเสมอภาค โดยมีน.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข นายไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และคณะ เพื่อรับทราบถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงาน เช่น ปัญหาการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อจัดเก็บข้อมูลรายได้และสถานะครัวเรือนทั้งข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายสภาพบ้านของนักเรียน ตชด. พบว่าเด็กเกือบทั้งหมดมีฐานะยากจนพิเศษ ขาดเรียนบ่อยเพราะต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ ส่วนใหญ่อายุไม่ตรงตามเกณฑ์เนื่องจากครอบครัวโยกย้ายถิ่นฐานบ่อย ตามแหล่งการจ้างงาน ขณะที่ครัวเรือนมีรายได้ไม่แน่นอน ได้รับเพียงค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำหรือน้อยกว่า
นายไกรยส กล่าวว่า การลงพื้นที่ เป็นโอกาสสำคัญของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภารกิจเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในทุกระดับ ในการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการทำงาน นอกจากนั้นยังช่วยทำให้ทราบว่า เด็กๆ เห็นโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สอง ใช้เวลากับโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน และครูเป็นเสมือนพ่อแม่ของเด็กอีกคน ซึ่งกสศ.จะแชร์ข้อมูลเหล่านี้ไปให้ประชาชน ภาคเอกชน ห้างร้านที่สนใจจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. มีเงินอยู่ก้อนไม่ใหญ่ เทอมละประมาณ 1,500-2,500 บาทต่อคนให้กับเด็กยากจนพิเศษเหล่านี้ แต่ถ้าภาคเอกชนในจังหวัด ท้องถิ่น หรือประเทศอยากจะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างทางโอกาสและคุณภาพการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนเหล่านี้ให้มากกว่า 1,500-2,500 บาท กสศ.ก็พร้อมที่จะเป็น “สะพานบุญ” ให้ความพยายามช่วยเหลือและความเป็นภาคีหุ้นส่วนความเสมอภาคทางโอกาสสามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน จากประชาชนทุกคนในสังคมไทย
จึงอาจกล่าวได้ว่าข้อมูลที่คุณครูทุกคนเสียสละฝ่าฟันอุปสรรคและความยากลำบากในการเดินทางเข้าไปเก็บมาส่งให้แก่ บก.ตชด. และ กสศ. จะถูกเอาไปใช้ขยายผลไกลไปกว่า “บ้านหลังแรก” และ “บ้านหลังที่สอง” ของเด็กๆ ยากจนพิเศษ และครอบครัวเหล่านี้ จนสามารถดึงเอาความช่วยเหลือที่ห่างไกลทั้งจาก กรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ให้กลับมาช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่เสมอภาคอย่างยั่งยืน
ผู้ที่สนใจบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือน้องๆ สามารถเข้าไปบริจาคและใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้อัตโนมัติที่ https://donate.eef.or.th/main-donate และสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2 079-5475