มีครูจำนวนมากยอมสลัดทิ้งชีวิตความสุขสบาย นำพาตัวเองไปอยู่กับความขาดแคลนทุรกันดาร ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก แล้วเหตุผลอะไรทำไมครูถึงยอมทุ่มเทหัวใจและความอดทนเพื่อเด็กนักเรียนในชนบท อย่าง ‘ครูบอย’ หรือ นพรัตน์ เจริญผล ครูโรงเรียนบ้านนาเกียน (โรงเรียนขยายโอกาส) ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ครูน่าจะเห็นบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ ก่อนนำมาซึ่งคำตอบทำไมครูถึงยอมเสียสละเลือกมาคลุกคลีกับเด็ก ๆ บนยอดดอยสูงแห่งนี้นานกว่า 7 ปี ผลักดันเด็กนักเรียนถึงฝั่งรุ่นแล้วรุ่นเล่า
จุดเริ่มต้นของชีวิต ‘ครูบอย’
นพรัตน์ เปิดใจเล่าว่า เหตุผลที่เลือกมาเป็นครูมีเพียงเหตุผลเดียว ‘เคารพในอาชีพครู’ และตั้งใจว่าอยากไปพัฒนาการศึกษาบนดอยสูงอย่างน้อยอาจช่วยอะไรได้บ้าง จนที่สุดมีโอกาสขึ้นมาสอนจริงๆ สิ่งที่เห็นชัดเจนในพื้นที่ยังขาดโอกาสและความรู้ที่ทัดเทียมทันสมัย แตกต่างกับเด็กในเมืองอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องอุปกรณ์การเรียนมีจำนวนไม่สอดรับพอให้เด็กได้ใช้ทุกคน ขณะที่ด้านคุณภาพชีวิตเด็กส่วนใหญ่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีฐานะครอบครัวยากจน
ส่วนตัวเริ่มสอนหนังสือครั้งแรกปี 2555 โรงเรียนบ้านเชียงคาน จังหวัดเชียงราย ต่อมาสมัครสอบครูอัตราจ้างโรงเรียนบ้านขุนแม่ตื่นน้อย ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่กันดาร จำได้ว่าการเดินทางวันนั้นเส้นทางลำบาก กว่าจะมาถึง ต.แม่ตื่น จำขึ้นใจเลย (ยิ้ม) ในใจยังแอบภาวนาขอให้สอบไม่ได้ สุดท้ายได้สอนที่โรงเรียนนี้ เพราะไม่มีใครมาสมัครสอบ วันเวลาผ่านไปได้เปลี่ยนความรู้สึกว่าคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมรอบตัวจนซึมซับชอบไปเอง ตอนนี้ไม่เคยคิดเรื่องความลำบากอีกเลย
ปี 2559 ย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านใบหนา ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันนี้ย้ายมาสอนอยู่โรงเรียนบ้านนาเกียน (โรงเรียนขยายโอกาส) สอนถึงระดับชั้น ม.3 ห่างกับโรงเรียนบ้านใบหนา ราว 10 กิโลเมตร รถโฟว์วิลเป็นพาหนะสำคัญใช้สำหรับเดินทางบนดอยแห่งนี้
เด็กทุกคนต้องจบ ม.3 มีใบประกาศนียบัตรสมัครงาน
เด็กนักเรียนบนดอยส่วนใหญ่จบแค่ระดับชั้น ม.3 ไม่ค่อยมีใครได้เรียนต่อสูงๆ หลายครอบครัวค่อนข้างอัตคัดยากจนติดขัดเรื่องค่าใช้จ่าย ภาระต่างๆ
“ในใจคิดเสมอว่าอย่างน้อยเราต้องช่วยเหลือเด็กๆ ทุกคนให้จบชั้น ม.3 มีใบประกาศนียบัตร ไว้ใช้สมัครงานเพราะทุกวันนี้จำเป็นอย่างมาก เราไม่ได้แค่ไปสอนหนังสือแต่ยังเป็นพี่เลี้ยง คอยดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเด็กๆ ด้วย”
เราได้สัมผัสวิถีชีวิตเด็กๆ และชาวบ้าน เราควรต้องหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้พวกเขา อย่างน้อยอาจเป็นสื่อกลางเล็กๆ คอยช่วยสื่อสารไปถึงโลกภายนอกให้รู้ว่ายังมีเด็กอีกจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ระดมทุนจัดโครงการ ‘พาเด็กดอยไปลอยทะเล’
ตั้งแต่ปี 2559 เราทำโครงการ ‘พาเด็กดอยไปลอยทะเล’ โดยพาเด็กนักเรียนบ้านใบหนา และบ้านนาเกียนไปเที่ยวทะเลครั้งละประมาณ 40 คน จะสลับกันไปทีละโรงเรียน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเราได้มาจากการระดมทุนขอบริจาค มีผู้ใหญ่ใจดีคอยช่วยสนับสนุน เป้าหมายต้องการพาเด็กๆ ไปเที่ยวทะเล พาเปิดหูเปิดตาเปิดโลกให้เด็ก เราพยายามทำโครงการนี้ทุกปี ถ้าปีไหนไม่มีเงินเด็กๆ ต้องอดไป
“ถ้าชาตินี้ครูไม่พาไปทะเล ชาตินี้ก็คงไม่มีโอกาสได้ไปแล้ว” คำพูดใสๆ ออกมาจากปากเด็ก ถูกจุดประกายความคิดว่าต้องพาเด็กไปเที่ยวทะเล พวกเรามีความสุข เด็กๆ มีความสุขที่เราช่วยเติมเต็มได้ในบางครั้ง หลายคนไปเที่ยวทะเลยังเก็บน้ำทะเล เก็บทรายมาไว้เป็นที่ระลึก พวกเขาตื่นเต้น สนุกสนาน และมีความสุขที่ได้ไปเที่ยวทะเลจริง ๆ
‘เซเว่น’ ขวัญใจเด็กอมก๋อย
บางปีเด็กนักเรียนไม่ได้ไปเที่ยวทะเล ครูจะพาไปเที่ยวสวนสัตว์ วัด บางครั้งก็พาไปร้านสะดวกซื้ออย่าง ‘เซเว่น’ ต้องเหมารถลงเขาเดินทางไป 55 กิโลเมตร ไปกลับรวม 110 กิโลเมตร ใช้เวลาร่วมครึ่งวัน “เชื่อไหมว่าเด็กอมก๋อยชอบเซเว่นมาก พวกเขายกให้เป็นสวรรค์ มีของกินเยอะแยะมากมาย ถึงแม้ของกินมากแค่ไหน เด็กๆ ก็ไม่มีเงินมากพอจะซื้อได้ บางคนซื้อขนมห่อเดียวแต่แบ่งกันกินกับเพื่อนหลายคนก็มีความสุขแล้ว”
ที่เราพาเด็กไปเซเว่นไม่จำเป็นต้องไปซื้อของ แต่แค่พาพวกเขาไปหาประสบการณ์ไปเปิดโลก ให้ได้เห็นสิ่งต่างๆ เท่ากันเหมือนคนอื่นทั่วไป หลายคนอาจมองเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเด็กบนดอยอมก๋อย ‘เซเว่น’ ก็คือห้างสุดหรูของพวกเขา ที่สักครั้งตั้งใจอยากมาเที่ยว” ครูบอย เล่าความสุขของเด็ก ๆ