เสริมทักษะการเกษตรแบบครบวงจร บ่มเพาะ ครูรัก(ษ์)ถิ่น สู่นักพัฒนาชุมชนพื้นที่ห่างไกล

เสริมทักษะการเกษตรแบบครบวงจร บ่มเพาะ ครูรัก(ษ์)ถิ่น สู่นักพัฒนาชุมชนพื้นที่ห่างไกล

การบ่มเพาะครูรัก(ษ์)ถิ่นเพื่อกลับไปเป็นครูในพื้นที่ห่างไกล  ต้องผสมผสานทั้งวิชาความรู้ และทักษะการเป็นนักพัฒนาชุมชน ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่ความสามารถในการมองเห็นปัญหาก่อนจะออกแบบนวัตกรรมไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเองที่แตกต่างกันไปตามบริบทของชุมชนแต่ละแห่ง

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงได้ออกแบบกิจกรรมเสริมหลักสูตร ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ค้นคว้า ทดลอง และลงมือปฏิบัติที่เน้นไปเรื่องการเกษตรแบบครบวงจร เชื่อมโยงวิถีเศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาที่ต้องทำงานร่วมกับกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นรากฐานต่อยอดไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมของตัวเองที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ที่แตกต่างกันไปในวันที่นักศึกษาจบไปเป็นครูบรรจุในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

ดร.วัชรวร วงศ์กัณหา อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาโคกหนองนาโมเดล เล่าให้ฟังว่า นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นแต่ละปีจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เน้นไปเรื่องการเกษตรตามศาสตร์พระราชา ที่พัฒนาความเข้มข้นไปในแต่ละชั้นปี

เริ่มจากปี 1 ที่เป็นขั้นพื้นฐานเน้นเรื่องขั้นพอเพียง การทำแปลงผัก เลี้ยงไก่ไข่ มาใช้กินในชีวิตประจำวัน เริ่มจากหลักพออยู่พอกินที่เรียนรู้แล้วจะทำต่อเนื่องในพื้นที่มหาวิทยาลัย ปี 2 จะเป็นขั้นแบ่งปัน นอกจากนำผลิตผลการเกษตรมากิน และเหลือนำไปจำหน่ายแล้วบางส่วนจะนำไปเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้คนอื่น เช่น ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงพยาบาล ปี 3 จะเป็นขั้นปฏิวัติ ต่อยอดจากโลกของการเกษตรปัจจุบันที่มีองค์ความรู้อยู่แล้ว เป็นการทดลองปลูกพืชชนิดใหม่ เลี้ยงสัตว์ด้วยรูปแบบใหม่โดยหานวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือ และ ปี  4 จะเป็นการช่วงที่กลับไปฝึกงานโรงเรียนปลายทางจะต้องมีงานวิจัย ที่ทดลองทำตามโจทย์ของบริบทพื้นที่และกลับไปทำที่ชุมชนด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ที่ถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ ซึ่งจะควบคู่ไปกับการปูพื้นที่ฝึกความเป็นวิทยากร และผู้นำชุมชนด้วย

เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน
ต่อยอดเป็นนวัตกรรมของตัวเองกลับไปใช้ในพื้นที่

นอกจากนี้จะมีการเข้าค่าย ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นการไปหาปราชญ์ชาวบ้านหรือเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้ และ ครั้งที่สองจะไปเข้าค่ายที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในส่วนของไปพบปราชญ์ชาวบ้านจะเป็นการเรียนรู้และกลับมาพัฒนาทำแล็บของเขาต่อเองที่มหาวิทยาลัย

 ทั้งหมดจะเป็นการเรียนการเกษตรทั้งพืชและสัตว์ เช่น ไปพบปราชญ์ปีหนี่งอาจจะเป็นการเรียนปลูกผักในดินปกติ เลี้ยงปลาในบ่อปกติ แต่พอปีสองเขาจะปลูกผลักไฮโดร หรือเลี้ยงกุ้งหอยปูปลาในวงบ่อ ไม่ยืนต้น ปลูกพืชพี่เลี้ยงให้ได้ป่า ที่อยู่อาศัย ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ดินก็จะเรียนเรื่องการบำรุงดิน ได้เรียนครบทุกเรื่องที่จะต้องทำ พอกลับมาเขาก็จะนำสิ่งที่ได้มาปรับเข้ากับพื้นที่ของตัวเอง  เสริมกับการไปที่ภูสิงห์ฯ ก็จะไปเรียนรู้ความรู้ใหม่เช่นเรื่องการเลี้ยงกุ้งแม่น้ำ โคนม ฯลฯ ตอนปีหนี่งจะไป 5 วัน ปีสองจะไป  2 สัปดาห์ที่จะเรียนรู้สิ่งที่อยากรู้ในเชิงลึก

“วางแผนไว้คร่าว ๆ ว่าถ้าเขาไปเรียนรู้จนครบ 2 สัปดาห์กลับมา อาจจะได้วิชา เช่น ฉีดวัคซีน ผสมเทียมวัว ที่จะต้องเรียนรู้ในทุกขั้นตอนตามกระบวนการและลงมือปฏิบัติได้จริง ผ่านหลักสูตรแล้วเขาก็จะได้ใบประกาศนียบัตร หลักสูตรระยะสั้น และพอขึ้นปี 3 ก็จะเริ่มไปทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยที่ภูสิงห์  ไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาและร่วมกับวิจัย ส่วนปี 4 ก็นำเอาความรู้ที่ได้ไปแชร์ในท้องถิ่น นำนวัตกรรมที่สร้างขึ้นไปทดลองในพื้นที่จริง ทั้งหมดจึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้ธรรมดา แต่เป็นทั้งการเรียนรู้เชิงลึกและเชิงกว้างที่สอดรับกับความสนใจที่แตกต่างของแต่ละคน และสุดท้ายก็สามารถนำไปใช้งานได้จริงในพื้นที่”​

เริ่มจากศึกษาบริบทพื้นที่
เชื่อมโยงการเรียนรู้ให้ใช้ได้จริงในพื้นที่โรงเรียนปลายทาง

ดร.วัชรวร อธิบายว่า แต่ละกิจกรรมจะสอดรับกันหมดเชื่อมทุกศาสตร์เพราะครูรัก(ษ์)ถิ่น จะต้องทำได้หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การไปเก็บบริบทชุมชน ที่จะให้เด็กลงพื้นที่เก็บทุกปี ตอนปี  3 ก็จะเสนอหัวข้อวิจัยเชื่อมโยงกับที่ไปเก็บบริบทชุมชน เชื่อมร้อยการทำงานเข้าหากันสุดท้ายปี 4 ก็จะนำงานวิจัยที่ออกแบบลงไปทำที่พื้นที่  นำนวัตกรรมที่คิดไปใช้กับพื้นที่  โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาของแต่ละสายคอยให้คำปรึกษาให้เด็กมองเห็นปัญหาชุมชนตรงเป้าหมาย และทำให้การวางเป้าหมายและการแก้ไขปัญหาเดินไปถูกทาง

“ทางอาจารย์ที่ปรึกษาจะพยายามคุยกับเด็กให้มองบริบทภูมิสังคมของตัวเองว่าที่โรงเรียนปลายทางที่จะไปบรรจุว่ามีภูมิสังคมแบบใด เช่น อุบลราชธานี พื้นที่รอบเขื่อนสิรินธร น่าจะทำเรื่องประมง หรือเรื่องน้ำไหม ถ้าเป็นเมืองเลยก็อาจเป็นพืชไร่ ปศุสัตว์ โซนอีสานใต้ อีสานกลาง จะทำเรื่องพืชพื้นราบ จะพยายามชวนคุยให้เขามองตามบริบทของพื้นที่ตัวเอง แม้จะเป็นเกษตรแต่ละพื้นที่ในอีกสานก็แตกต่างกันออกไป เราต้องเลือกให้ถูก มองสภาพของชุมชนตัวเองให้ออกสอดคล้องกับสิ่งที่จะต้องเจอในอนาคต”

สร้างเครือข่ายผู้นำชุมชน กองหนุนร่วมพัฒนาพื้นที่ในอนาคต​

อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ ซี่งได้วางแนวทางตั้งแต่ปี 1 ให้เด็กลงไปเชื่อมกับชุมชน ด้วยการไปขอข้อมูลพื้นฐานในพื้นที่ ปี 2  เริ่มไปเจาะปัญหาในชุมชน ส่วนปี 3 ไปคุยกับผู้นำชุมชนหารือการวางโครงการในพื้นที่ ซึ่งเริ่มเห็นแววพวกเขาตั้งแต่ปี 1 หลายกิจกรรมที่พยายามออกแบบกิจกรรมเป็น โปรเจ็คท์เบส พรอบเบล็มเบส แค่ไกด์แนวทางว่าถ้ามีปัญหาจะไปหาวิธีจากที่ไหน หาข้อมูลจากใคร ให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเรื่องอาหารไก่ราคาสูงเขาก็ไปคุยกับปราชญ์ชาวบ้านและนำผักตบชวาในบ่อน้ำมาทำอาหารเสริมให้ไก่เพราะไก่ต้องได้วิตามิน ต่อไปเขาเจอปัญหาเขาก็จะมองหาทางแก้ไขได้ด้วยตัวเอง

“ตอนนี้บอกให้เด็กไปเก็บข้อมูลปราชญ์ชุมชนทุกสาขา ไม่ใช่ด้านใดด้านเดียวแต่ต้องรู้จักให้ครบหมด ผู้นำชุมชน ผู้นำจิตวิญญาณ ต้องลิสต์รายชื่อส่งมาทุกปี แต่ละปีจะเก็บเพิ่มเพื่ออัพเดทบางข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เวลาไปบรรจุ​ทำงานจริงจะได้ทำงานได้เลย ปัญหาที่เจอต่อไปอาจไม่ใช่ปัญหาที่เคยเจอ เป็นปัญหาใหม่แต่กระบวนการที่เราพยายามดีไซน์ให้เขาแก้โจทย์เอง ต่อไปเมื่อเขาเจอโจทย์เขาก็จะตีโจทย์แตกและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้หมด”​​ ดร.วัชรวร กล่าวทิ้งท้าย