โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือ โอกาสของเด็กๆในท้องถิ่นที่อยากเป็นครู แต่อาจด้วยข้อจำกัดทางทุนทรัพย์หรือขาดปัจจัยสนับสนุนบางด้าน จึงทำให้ไม่สามารถเดินตามความฝันได้ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันยังมีโรงเรียนขนาดเล็กในหลายชุมชนห่างไกล ที่ไม่เพียงต้องการ ‘ครู’ ที่สอนหนังสือได้เท่านั้น แต่ยังต้องการความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องและตอบโจทย์ของชุมชนได้ นอกจากนั้น ครูที่มีความเข้าใจยังจะช่วยให้เกิดความร่วมมือภายในและสร้างให้ชุมชนแข็งแรงยิ่งขึ้นด้วย เหตุนี้เองกระบวนการค้นหาครูในอนาคต จากฝันของเด็กคนหนึ่ง เพื่อให้ตอบโจทย์ของชุมชนไปพร้อมกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพื่อการนี้ ‘ความร่วมมือแบบบูรณาการ’ ในทุกภาคส่วน จึงเป็นหัวใจของกระบวนการ จะต้องมีความฝันและมองเห็นภาพรวมเป็นภาพเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนต้นทางซึ่งใกล้ชิดกับเด็กๆและพ่อแม่มากที่สุด โรงเรียนที่มองเห็นศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน หน่วยงานสนับสนุนทุนการศึกษา รวมถึงสถาบันการศึกษาที่จะเป็นปลายทางในการทำหน้าที่รับช่วงต่อ เพื่อผลิต ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ที่มีลักษณะเฉพาะตัวขึ้น เพื่อคืนกลับไปให้ชุมชนในวันที่พวกเธอและพวกเขาสำเร็จการศึกษาและเป็นครูเต็มตัว ซึ่งในวันนี้เรามีตัวอย่างดีๆในการทำงานในรูปแบบบูรณาการที่มีความสำเร็จมาเล่าสู่กันฟัง
ไปติดตามต้นแบบเรื่องนี้ได้จาก มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในการค้นหา ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ที่ใช้กระบวนการบูรณาการความร่วมมือ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงสถาบันปลายทาง จนสามารถสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาและผลิตครูที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้
“ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผ่านโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น คือการมุ่งเน้นผลิตบุคลากรเพื่อเป็นครู จะต้องมีการคัดกรองอย่างดีที่สุด โดยเรามีทีมงานคณาจารย์ประมาณ 50 คน”
ผศ.ดร.อนุชา พิมพ์ศักดิ์ อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พูดถึงมาตรฐานที่ไม่ง่ายเลยในการรับเด็กสักคนหนึ่งเข้าสู่โครงการนี้
ในฐานะคณะกรรมการคัดกรองผู้รับทุนเพื่อเข้าโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น เขาบอกว่า มหาวิทยาลัยสนใจเข้าร่วมโครงการนี้เนื่องจากมองเห็นการสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจนที่มีศักยภาพ และมีจิตวิญญาณความเป็นครูได้ศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์อย่างมีคุณภาพ มีทักษะความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อบรรเทาปัญหาครูไม่เพียงพอ และลดปัญหาการโยกย้ายของครูบรรจุ ซึ่งอนุชายังได้เล่าถึงรูปแบบการทำงานที่ถือว่ามีความหฤโหด ละเอียดและถี่ถ้วนที่สุด โดยยึดถือความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง
“การค้นหาของเราคือการลงพื้นที่จริง เพราะเราต้องการสัมภาษณ์โดยตรง เช่นเวลาไปยังโรงเรียนปลายทาง ก็จะแจ้งพวกเขาล่วงหน้าพร้อมกับให้ส่งใบสมัครมาก่อน ถึงวันนัดหมาย ทีมงานจะไปเจอผู้สมัครพร้อมแจ้งรายละเอียด สอบถามพื้นเพและฐานะ แน่นอนว่าบางคนมีศักยภาพมาก แต่ต้นทุนเขาดีอยู่แล้ว อย่างบางคนเป็นลูกข้าราชการ รายได้สูง ก็ไม่ผ่าน เด็กบางคนพื้นฐานอาจน้อยกว่า แต่ต้องการโอกาสมากกว่าเราจะคัดจากจุดนี้ด้วย”
ร่วมมือทุกภาคส่วน ก่อเกิดการบูรณาการที่ดี
การคัดเลือกบุคลากรเพื่อเข้ารับทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มักมีคำถามสำคัญจากหลายฝ่ายรวมถึงประชาชนว่า จะมีวิธีการที่โปร่งใสได้อย่างไร นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมเราจึงต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เห็นกระบวนการทั้งหมดร่วมกัน ตั้งแต่ผู้บริหารในภาครัฐจนถึงชาวบ้านในชุมชน จึงทำให้การคัดเลือกทุนนี้ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากและหินพอสมควรสำเร็จลุล่วงไปได้ เพราะกระบวนการของ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“โรงเรียนปลายทางที่จะบรรจุผู้รับทุน จะเป็นด่านคัดกรองด่านแรก โดยมีศึกษาธิการจังหวัดมาร่วมคัดกรองด้วย หากในชุมชนนั้นไม่มีผู้สมัครเข้าเกณฑ์ เราก็จะหันไปมองในตำบลใกล้เคียง แต่จะไม่ไกลจากโรงเรียน เพราะเราต้องการคนในพื้นที่ บางคนสัมภาษณ์ผ่านแล้ว เราก็ไปยังบ้านของผู้สมัครเพื่อตรวจสอบความเป็นอยู่ รวมถึงสอบถามเพื่อนบ้านในละแวกที่ต้องคัดกันละเอียด ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการคัดกรอง เพราะเกณฑ์กองทุนกำหนดไว้ให้มีการบรรจุและมีค่าตอบแทนที่สูง เราจึงต้องรอบคอบเป็นอย่างมาก เพราะต้องการให้เสมอภาคตามชื่อของกองทุน หากมีคนมีฐานะได้ทุนไป มันจะส่งผลเสียต่อภาพรวมของกองทุนได้”
“หลักสูตรเราสำหรับผู้ได้ทุนก็ต้องมีทักษะที่สามารถสอนได้ทั้งเด็กอนุบาลและเด็กประถม และต้องทำให้เขาสามารถเป็นครูที่เป็นนักพัฒนาชุมชนควบคู่ด้วย ซึ่งครูรุ่นใหม่มีทักษะที่ดีและเข้าใจเทคโนโลยีดี เราก็ได้พัฒนาให้พวกเขามีความรู้ด้านเกษตรควบคู่ ผ่านศูนย์วิจัยการเกษตรสมัยใหม่ในมหาวิทยาลัย เมื่อผู้รับทุนจบไปเป็นครู เขาจะสามารถทำได้มากกว่าการสอนหนังสือ เขาอาจจะสามารถไปทำอาหารเลี้ยงเด็กได้ หรือสามารถทำการเกษตรและสอนเรื่องเหล่านี้ควบคู่กันไป เพราะในชุมชนส่วนใหญ่ก็เป็นชุมชนเกษตรกรรม”
ความร่วมมือในชุมชน ความแข็งแรงในการสร้างบุคลากรทางการศึกษา
จากภาพรวมของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นนี้เอง ที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า คนในพื้นที่ ย่อมมีความเข้าใจและรู้จักท้องถิ่นดีกว่าคนนอก อนุชา ยังได้อธิบายให้เห็นภาพชัดอีกว่า โครงการนี้จะช่วยให้เกิดความร่วมมือภายในและสร้างให้ชุมชนแข็งแรงยิ่งขึ้น
“ทุนนี้ส่งผลดีมาก เกิดกระบวนการคิด แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน โดยนักศึกษาในโครงการนี้จะได้ลงพื้นที่จริงตั้งแต่ปี 1 ไปเรียนรู้กับปราชญ์ท้องถิ่น ทำให้พวกเขาได้รับความรู้เฉพาะทาง และทำให้กลมเกลียวไปกับชุมชนได้ ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ให้นักศึกษาในโครงการไปเก็บข้อมูลทุกปีที่ได้กลับบ้าน ตั้งแต่เรื่องข้อมูลประชากร ปัญหายิบย่อยของชุมชน เช่น เรื่องดินเพาะปลูก การใช้สารเคมี พวกเขาจึงเข้าใจบริบทของชุมชนได้ดี และทำให้ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของชุมชนด้วย”
การร่วมมือจากทุกฝ่าย ก่อเกิดการแก้ไขปัญหาและการบูรณาการร่วมกัน และทำให้ภายในชุมชนมีความเท่าเทียมด้านการศึกษา ที่ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็จะได้รับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม อีกทั้งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นนี้ อนุชา บอกว่า ได้เปลี่ยนแปลงที่เข้าไปพลิกชีวิตของผู้ได้รับทุนหลายคนเลยทีเดียว
“ทุนนี้ได้เข้าไปเปลี่ยนชีวิตหลายคน บางคนเรียนดี แต่จนมาก พอได้ทุนนี้ก็เหมือนพลิกชีวิต มีโอกาสได้เรียน ได้เห็นอนาคตกว้างขึ้น อีกทั้งได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพวกเขา จากคนเงียบ ๆ ก็กลายเป็นอีกแบบ มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น มีความมั่นใจ และมีเป้าหมายในชีวิตว่า พวกเขาจะต้องเข้ามาพัฒนาชุมชนของเขาให้ดีขึ้นให้ได้”