จากปฏิบัติการสร้าง ‘ครูต้นแบบ’ ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ กสศ. ทำงานร่วมกับสถาบันผลิตและพัฒนาครูในภูมิภาค เพื่อเฟ้นหา ฟูมฟัก และหลอมเบ้าของครูนักพัฒนาชุมชน ที่จะกลับไปทำงานในภูมิลำเนาบ้านเกิด กระจายมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยครูรุ่นใหม่ที่พร้อมด้วยทักษะการออกแบบจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และเปี่ยมด้วยหัวใจนักพัฒนา ซึ่งถึงวันนี้ ได้ผ่านการรับนักศึกษาทุนไปแล้ว 3 รุ่น
รู้จักโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ที่ : กสศ. ผนึกกำลัง 9 สถาบันผลิตและพัฒนาครู ลงนาม MOU สร้าง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 4’
ในโอกาสที่ปีการศึกษา 2566 โครงการได้เตรียมรับนักศึกษาทุนรุ่น 4 เรามีบทเรียนการทำงานของ 6 สถาบันผลิตและพัฒนาครูรุ่นพี่ และแนวทางการดูแลนักศึกษา จาก 2 สถาบันน้องใหม่ที่เข้าร่วมในปีนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เกิดการถ่ายเทแลกเปลี่ยน เป็นต้นแบบและเสริมกำลังใจระหว่างกัน ก่อนที่ผู้มีส่วนร่วมในโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ทุก ๆ ท่าน จะออกเดินทาง บนถนนแห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ของระบบการผลิตและพัฒนาครูของประเทศกันต่อไป
‘จิตวิญญาณแห่งมหาวิทยาลัยหมู่บ้าน’
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สะกิดความสนใจด้วยคำว่า ‘หมู่บ้าน’ ในชื่อสถาบัน ด้วยการเป็นต้นแบบการนำคนจากพื้นที่ห่างไกลมาเรียนรู้เพื่อกลับไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จนกลายเป็น ‘จิตวิญญาณแห่งมหาวิทยาลัยหมู่บ้าน’ ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะที่บ่งบอกตัวตนเป็นอย่างดี
ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดี กล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่าคนที่มาเรียนที่ มรภ. หมู่บ้านจอมบึง จะต้องกลับไปดูแลภูมิลำเนาบ้านเกิดของตน ทางสถาบันจึงตัดสินใจร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นตั้งแต่ปีแรก และพร้อมเดินต่อไปในรุ่นที่ 4 โดยตลอดสามปีที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบผลิตและพัฒนาครูที่ชัดเจน ว่าการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่น ต้องวางเป้าหมายไว้ที่ ‘ความต้องการ’ ของชุมชนเป็นลำดับแรก
“เราพบว่าความต้องการที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ ‘พื้นที่ชุมชน’ โดยเฉพาะโรงเรียนชายขอบทั้งหลายที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ โจทย์ที่สถาบันมองว่าสามารถขยายไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้คือ หลักสูตรพหุภาษาวัฒนธรรม และการส่งเสริมด้านอาชีพ ดังนั้นการผลิตครูเราต้องทำให้เขาเข้าไปสร้างเจตคติเรื่องความรักถิ่นฐาน ผ่านภาษาและวัฒนธรรมผสม ออกแบบจัดการการเรียนการสอนที่มุ่งพัฒนาทักษะอาชีพได้
มรภ.หมู่บ้านจอมบึง เรามีหลักสูตร ‘วิชาการ วิชางาน วิชาชีวิต’ ที่เน้นภาคปฏิบัติ โดยนักศึกษาจะได้ไปเรียนรู้กับโรงเรียนปลายทางที่เขาจะกลับไปสอนเมื่อเรียนจบ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และโจทย์การทำงานในพื้นที่กลับมาศึกษาวิจัยร่วมกับอาจารย์ที่สถาบัน จนเห็นภาพตั้งต้น เห็นเป้าหมายปลายทาง และค้นพบหลักสูตรเฉพาะเมื่อกลับไปเป็นครูที่โรงเรียนของเขาในอนาคต”
เติมภาษาที่สามและความชำนาญด้าน IT
ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า มรภ.ภูเก็ต มีโรงเรียนสาธิตเป็นฐานการเรียนรู้ ที่ทำให้นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ซึมซับบรรยากาศการเรียนการสอน ทั้งในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา รวมถึงบ่มเพาะจิตวิญญาณครูให้เข้มแข็ง สำคัญคือการเติมความรู้เฉพาะในด้านภาษาและเทคโนโลยี IT เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบจัดการเรียนการสอนได้
“นักศึกษาครูของเราส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เมืองท่องเที่ยว ภาษาจึงสำคัญ ครูต้องได้ภาษาที่สาม อีกอย่างคือ IT ต้องได้ เพราะไม่ว่าวันนี้หรืออนาคตเราต้องมีครูที่ตามเทคโนโลยีทัน ดูแลแนะนำศิษย์ได้ ใช้จัดการเรียนรู้ได้ จนถึงนำไปสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นได้”
ทักษะเสริมระดับมืออาชีพ
ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวว่า นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เมื่อจบแล้วต้องเข้าไปทำงานใช้ชีวิตในถิ่นห่างไกลทุรกันดาร จึงต้องมีทักษะที่ควรได้รับการเติมเต็มมากกว่าครูทั่วไป โดยหนึ่งในกิจกรรมต้นแบบที่ มรภ.พิบูลสงคราม นำมาเสริมให้นักศึกษา คืองาน ‘ช่างตัดผม’ ที่มีการจัดอบรมเข้มข้นในระดับ ‘มืออาชีพ’
“เด็กกลุ่มนี้จบแล้วจะเข้าไปอยู่ในที่ห่างไกล ขาดแคลน ดังนั้นเขาต้องมีอะไรที่พิเศษติดตัวไว้ อย่างแรกเน้นเรื่องจิตอาสาบริการสังคม สองคือทักษะเฉพาะ อย่างหลายหมู่บ้านที่ทราบมาไม่มีร้านตัดผม เราเลยจัดอบรม นำช่างจากข้างนอกเข้ามาสอน จนนักศึกษาเราตอนนี้เข้าไปทำงานเรียนรู้กับโรงเรียนปลายทางก็ตัดผมให้เด็กกันได้แล้ว และใครอบรมครบสิบชั่วโมง เขาจะได้รับเครื่องมือครบชุด วันข้างหน้าเขาไปอยู่ในหมู่บ้าน นอกจากตัดให้นักเรียนก็ยังเป็นที่พึ่งให้กับผู้ปกครองหรือชาวบ้านทั่วไปได้อีกด้วย”
ครูที่พร้อมเป็น ‘ทุกอย่าง’ ให้ชุมชน
ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี กล่าวว่า เรากำลังสร้าง ‘ครูนักปฏิบัติ’ ที่ต้องเชี่ยวชาญด้านการ ‘ใช้ชีวิต’ ในพื้นที่ของเขา โดยหลักสูตรออกแบบให้เหมาะสมกับการเป็นครูในพื้นที่ชายขอบ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ด้วยพื้นที่สถาบันมากกว่าสิบไร่สำหรับการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ นักศึกษาจึงได้ทำงานจริง ลองใช้ชีวิตจริง แก้ปัญหาจริง ทั้งยังมีศูนย์อบรมวิจัยกว่าพันไร่กระจายในพื้นที่ ให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรม เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งด้านการศึกษาและการใช้ชีวิต
“วันนี้เราฝึกฝนให้เขาเรียนรู้พึ่งพาตนเอง แล้ววันหนึ่งเมื่อเข้าไปทำงานในพื้นที่ นอกจากเป็นครูที่ดีเขาจะต้องเป็นที่พึ่งให้ชุมชนได้ทุกอย่าง มีวิชาชีวิตที่แข็งแรง เดินไฟได้ ต่อน้ำเป็น มีทักษะงานช่างสำหรับชีวิตประจำวัน ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ เพราะเหล่านี้คือสิ่งที่ไม่เพียงแต่ครูเท่านั้น แต่มนุษย์ทุกคนสมควรได้รับการฝึกฝนติดตัวไว้ยามต้องไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร นอกจากนี้หลักสูตรเรายังเน้นเรื่องความเข้าใจเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกไว้ด้วยกัน เพื่อให้เขาเป็นเสาหลักในการเตรียมชุมชนให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”
ย้ำเตือนว่าคือ ‘คนสำคัญ’
รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า ตลอดกระบวนการพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น นักศึกษาจะได้รับการปลูกฝังและย้ำเตือนเสมอว่า เขาต้องนำโอกาสที่ได้รับไปแปรเปลี่ยนเป็นแรงกระตุ้นภายในตัวตน เพื่อกลับไปทำภารกิจใหญ่ในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน ไปยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับคนรุ่นต่อไป โดยสิ่งเหล่านี้จะเสริมไว้ในหลักสูตรพิเศษเฉพาะนักศึกษาเป็นรายคน อันเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า เขาคือคนสำคัญแค่ไหน
นำภาพอนาคตมาช่วยออกแบบหลักสูตรเรียนรู้
ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันได้ออกแบบหลักสูตรที่ลงไปถึงนิเวศของโรงเรียนและชุมชนปลายทาง โดยนำภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนมาเป็นโจทย์ตั้งต้น มีการบูรณาการพหุวัฒนธรรม ให้นักศึกษาเรียนรู้แบบฝึกหัดใหม่ ๆ บนฐานสมรรถนะที่ชุมชนต้องการ มีการบูรณาการข้ามศาสตร์สาขา ซึ่งจะทำให้ครูคนหนึ่งมีทักษะการออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย หลุดพ้นจากกรอบเดิม ๆ
จากแนวทางครูรัก(ษ์)ถิ่น ทางมหาวิทยาลัยได้นำมาใช้เป็นแกนหลักในการปฏิรูประบบผลิตครูทั้งประเทศ เป็น ‘Sand Box’ ที่จะทำให้รู้ว่า “เราจะเปลี่ยนแปลงระบบผลิตและพัฒนาครูเพื่ออนาคตได้อย่างไร
นำประสบการณ์พัฒนาท้องถิ่นร่วมผลิตครูรุ่นใหม่
ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันน้องใหม่ที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ในรุ่นที่ 4 กล่าวว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยมีประสบการณ์ทำงานพัฒนาท้องถิ่น โดยสร้างนวัตกรรมขึ้นจากฐานชุมชน ดังนั้นด้วยอัตลักษณ์ของสถาบันที่โดดเด่นเรื่องการสร้างนวัตกร เมื่อผนวกกับประสบการณ์ของสถาบันอื่นที่ทำมาแล้วสามรุ่น จึงเชื่อว่าจะสามารถผลิตครูที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน และสร้างเครือข่ายสถาบันผลิตและพัฒนาครูที่เข้มแข็งขึ้นมาได้
“มหาวิทยาลัยมีทั้งพื้นที่ ทรัพยากร อาจารย์นักพัฒนาอยู่แล้ว การเตรียมพร้อมสำหรับโครงการ คือการนำผลงานนวัตกรรมที่เราเคยทำในท้องถิ่นต่าง ๆ มาถอดบทเรียน สร้างขึ้นเป็นหลักสูตร และจะมีการเชื่อมโยงกับสถาบันผลิตพัฒนาครูรุ่นพี่ที่อยู่ในโครงการมาก่อน เพื่อปรับหลักสูตรให้ตรงกับการพัฒนาครูเฉพาะพื้นที่
“นอกจากนี้เรายังเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบัน จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และก่อร่างเป็นเครือข่ายผลิตและพัฒนาครูที่กว้างขวางออกไป จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายได้ในที่สุด”
‘ขอเป็นฟันเฟืองหนึ่ง’ ที่จะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกลให้มีคุณภาพ
รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หลักสูตรของ มข. ในการสร้างครูรัก(ษ์)ถิ่น จะเน้นที่คุณภาพครูในการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปฐมวัยและประถมศึกษา เพื่อมุ่งแก้ปัญหาระยะยาวในโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกลโดยตรง
“ครูของเราต้องมีทักษะบ่มเพาะและดูแลเด็กสองกลุ่ม ที่มีความคล้ายคลึงแต่แตกต่างในรายละเอียดได้ ด้วยกระบวนการ จิตวิญญาณ องค์ความรู้ ความเข้าใจในตัวเด็ก เพราะโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่ดูแลเด็กจำนวนไม่มาก เราต้องการครูที่มีมากกว่าองค์ความรู้ เขาต้องเป็นเหมือนพ่อแม่ของเด็ก ๆ มีความรู้ด้านโภชนาการ ส่งเสริมทักษะอาชีพและทักษะชีวิตได้ มีความเห็นอกเห็นใจ และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความรักความภูมิใจในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้เขาทำงานอย่างสุดความสามารถ พร้อมทำทุกอย่างให้เด็กในพื้นที่มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น
“ในฐานะที่เข้าร่วมเป็นปีแรก ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองที่จะขยับเขยื้อนให้ความเสมอภาคทางการศึกษาขยายออกไปในทุกพื้นที่ เพื่อเกิดต้นแบบการผลิตและพัฒนา ‘ครู’ ที่จะไปทำงานกับเด็กเยาวชนในอนาคตอีกไม่รู้สักกี่รุ่นสืบไปจากนี้”