3 ปี ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ผลิต ‘ครูพร้อมใช้’ คืนชุมชน ตอบโจทย์โรงเรียน (ขนาดเล็ก) ในพื้นที่ห่างไกล

3 ปี ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ผลิต ‘ครูพร้อมใช้’ คืนชุมชน ตอบโจทย์โรงเรียน (ขนาดเล็ก) ในพื้นที่ห่างไกล

ครูสอนดี เข้าใจเด็ก …แต่อยู่ได้ไม่นานเพราะปรับตัวเข้ากับชุมชนไม่ได้

ครูจบหลักสูตรปฐมวัย …แต่ต้องสอนควบประถมศึกษา

สถาบันผลิต ทุ่มฝึกฝนพัฒนาทักษะนักศึกษาครูตั้ง 4 ปี …แต่เรียนจบแล้ว กลับขาด Passion ตัดสินใจไปประกอบอาชีพอื่น

ปัญหาเหล่านี้เหมือนอยู่คู่กับแวดวงการพัฒนาระบบผลิตและพัฒนาครูมายาวนาน ทั้งที่เป็นโจทย์ข้อแรกๆ ของการปฏิรูประบบการศึกษา ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเสมอภาคให้กระจายออกไป เพื่อให้การเข้าถึง ‘การศึกษาคุณภาพ’ สำหรับเด็กและเยาวชนเกิดได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทใดหรือห่างไกลแค่ไหนก็ตาม

ตั้งแต่ปี 2562 กสศ. สร้างเครือข่ายระดับพื้นที่ เพื่อค้นหาเยาวชนที่จบชั้น ม.ปลาย และ ‘อาชีพครู’ เป็นงานที่ใฝ่ฝัน ทั้งยังตั้งใจแน่วแน่ว่าจะกลับไปสอนเด็กๆ ในพื้นที่ชุมชนของตน ด้วยความร่วมมือกับสถาบันผลิตครู ชุมชน และโรงเรียนปลายทางที่นักศึกษาจะกลับไปบรรจุ บ่มเพาะด้วยการคิดวิเคราะห์ร่วมกัน ปลุกปั้นจนเกิดเป็นหลักสูตรเฉพาะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานจากบริบทแวดล้อม เพื่อหล่อหลอมน้องๆ เหล่านั้น จากนักศึกษาให้เรียนรู้และเติบโตจนเป็นครูที่เปี่ยมด้วยอัตลักษณ์จากท้องถิ่น จนเกิดเป็นแนวทางการสร้างและพัฒนา ‘ครูของชุมชน’ ที่พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘ครูพร้อมใช้’…ภายใต้ชื่อโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’

จากวันนั้นถึงวันนี้ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ดูแลนักศึกษาครูมาแล้ว 3 รุ่น ใน 16 สถาบันต้นแบบ กับอีก 696 โรงเรียนปลายทาง มีนักศึกษารวมทั้งหมด 866 คน กระจายใน 54 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค และทำให้เกิดหลักสูตรใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมาย

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า นักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นกลุ่มนี้ คือพลังสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งในแง่มุมของการเติมเต็มความฝันนักเรียนผู้ขาดแคลนโอกาส ให้ได้เรียนในสาขาศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ และจบไปประกอบอาชีพครูอย่างที่ใฝ่ฝันไว้ ทั้งยังจะเป็นดอกผลที่สะท้อนไปถึงอนาคต เมื่อนักศึกษาทุนเพียง 1 คนที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ จะกลับไปยังท้องถิ่นของเขา และทำหน้าที่บ่มเพาะเด็กเยาวชนอีกนับร้อยนับพันชีวิต ให้เติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีเป้าหมายที่จะหยั่งรากยังพื้นที่ห่างไกลของประเทศ ให้นักเรียนที่ขาดแคลนโอกาสแต่มีศักยภาพสูงและมีใจรักที่จะเป็นครูได้รับโอกาสเรียน ด้วยหลักสูตรที่จะเติมสมรรถนะทางวิชาการ วิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนห้องเรียนคุณภาพสูง เป็นครูที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชน และมีถึงปลายทางคือทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ ลดช่องว่างเรื่องมาตรฐานความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนขนาดเล็กในถิ่นทุรกันดาร

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สร้างระบบผลิตและพัฒนาครูภายใต้อัตลักษณ์ท้องถิ่น สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละชุมชน ผ่านการออกแบบหลักสูตรโดยเครือข่ายภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และพร้อมปรับเปลี่ยนการพัฒนาครูให้ตอบโจทย์การจัดการเรียนการสอนเชิงพื้นที่ และเลื่อนไหลเท่าทันตามความผันแปรของสังคมโลก”

และในโอกาสที่โครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ กำลังจะเปิดรับสถาบันจากทั่วประเทศ เข้าร่วมผลิตนักศึกษาครู ‘รุ่น 4’ (ปีการศึกษา 2566) ในวันที่ 21 มิถุนายน-20 กรกฎาคม 2565 นี้ มาดูกันว่าตลอดสามปีของการดำเนินงาน แต่ละสถาบันต้นแบบมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ หรือหลักสูตรที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนการอย่างไรบ้าง

“ครูต้องเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้เข้ากับวิถีชีวิตและปัญหาในชุมชนได้”

รศ.ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณะบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการศึกษาที่ผ่านมา ยังขาดการคำนึงถึงปัญหาที่มีในท้องถิ่น ทางสถาบันจึงปรับปรุงการผลิตและพัฒนาครู ด้วยการบูรณาการศาสตร์วิชาต่างๆ ให้เชื่อมต่อเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน โดยออกแบบการเรียนรู้ที่นำมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้เรียน และปัญหาที่มีความท้าทายจากโรงเรียนปลายทางที่นักศึกษาจะเข้าบรรจุ

รศ.ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณะบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นคือกลไกที่มาช่วยให้มหาวิทยาลัยทำงานได้เร็วขึ้น ในช่วงเวลาสามปีเราได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนและโรงเรียนปลายทาง จนมองเห็นมิติหลากหลายที่มหาวิทยาลัยได้นำกลับมาออกแบบหลักสูตรเฉพาะทาง โดยใช้ปัญหาจากพื้นที่จริงเป็นฐาน ซึ่งเราคิดว่านี่คือเครื่องมือสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงทางการศึกษา ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เพราะเมื่อวันที่ครูรุ่นใหม่กลุ่มนี้จบออกไปทำงาน เขาจะสามารถมองเห็นแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนที่ตรงจุด นั่นเพราะเขาได้ผ่านการเรียนรู้และขัดเกลาทักษะเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่นของตนโดยตรง ตลอดเวลาสี่ปีที่เป็นนักศึกษา”

ปฐมวัย-ประถมศึกษา
หลักสูตรสองปริญญาแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น

อาจารย์ ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นนับว่ามาช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตครูตั้งแต่ต้นทาง จากเคยตั้งรับ วันนี้มหาวิทยาลัยทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ค้นหาเด็กที่ขาดโอกาสในชนบทห่างไกล และเมื่อได้ตัวคนที่ใช่มาแล้ว สถาบันผู้ผลิตจะวางแนวทางพัฒนาศักยภาพผู้เรียนร่วมกับชุมชนและโรงเรียนปลายทาง เติมเต็มตามกรอบสมรรถนะที่กำหนดเป็นเวลา 4 ปีเต็ม เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณลักษณะตรงกับความต้องการของพื้นที่ ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้วก็จะบรรจุทำงานได้ทันที

อาจารย์ ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

“การที่นักศึกษาได้โอกาสฝึกงานในพื้นที่จริง คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยได้สร้างสรรค์หลักสูตรพัฒนาผู้เรียนให้เป็นครูคุณภาพตรงตามบริบทพื้นที่

“หลังร่วมโครงการ เราปรับให้มีหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเพิ่มพูนทักษะตามความสมัครใจ โดยจากการฝึกประสบการณ์นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 สาขาปฐมวัย ทำให้พบว่าการลงพื้นที่จริง ณ โรงเรียนปลายทาง นักศึกษาหลายคนเจอปัญหาครูไม่พอสอนเด็กครบชั้น ทำให้นักศึกษาครูสาขาปฐมวัยต้องรับผิดชอบการสอนระดับประถมศึกษาด้วย“ดังนั้นพอถึงรุ่นที่ 2 ทางมหาวิทยาลัยจึงปรับให้มีหลักสูตรเสริมสมรรถนะ (Enrichment Program) ให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนสาขาปฐมวัย-ประถมศึกษา ไปพร้อมกัน ทั้งในลักษณะเรียนเสริมเพื่อนำทักษะไปใช้ หรือใครที่ต้องการเก็บหน่วยกิตเพิ่มเติม เพื่อสำเร็จปริญญาหลักสูตรสองสาขาก็สามารถทำได้”

‘Ready Teacher’ ครูพร้อมใช้ของชุมชน

ผศ.ดร.บัญชา สำรวยรื่น คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่ถูกที่ถูกเวลา เนื่องจากในรอบสามปีผ่านมาได้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้านเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะแผนงาน ‘Big Rock’ ที่มุ่งขับเคลื่อนกระบวนการจัดการเรียนรู้ซึ่งสะท้อนไปถึงการผลิตครูโดยตรง ทางมหาวิทยาลัยจึงปรับหลักสูตรการผลิตและพัฒนาครูที่สอดคล้องกับแผน โดยเน้นปลายทางว่าครูหนึ่งคนซึ่งจะกลับไปจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนแต่ละแห่ง จะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

ผศ.ดร.บัญชา สำรวยรื่น คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

“เราใช้วิธีพัฒนาฐานสมรรถนะเติมเต็มนักศึกษาในแต่ละปี โดยตั้งธงว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาต้องเป็น ‘ครูพร้อมใช้’ ทันที ไม่ต้องมีการอบรมเพิ่มเติมหรือใช้เวลาปรับตัวกับพื้นที่ที่เข้าไปบรรจุ สามารถทำได้ทุกอย่าง สอนได้ วิเคราะห์หลักสูตรได้ เขียนแผนการจัดการเรียนการสอนได้ ทำงานบริการสังคมได้ มีความรู้ครอบคลุมเรื่องเทคโนโลยี การพัฒนาทักษะชีวิตให้กับนักเรียน ตลอดจนสามารถดำเนินกิจกรรมโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนได้ ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ สถาบันผู้ผลิตต้องพัฒนาหลักสูตรที่พร้อมยืดหยุ่นตามบริบทพื้นที่ เปลี่ยนแปลงได้ทุกปี โดยยึดความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกเป็นศูนย์กลาง

“สำหรับปีการศึกษา 66 ที่เราเตรียมรองรับนักศึกษาครูรุ่นที่ 4 ทางมหาวิทยาลัยจะเพิ่มหลักสูตร ‘ครูผู้สร้างนวัตกร’ รองรับอนาคต เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กสามารถนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ระหว่างเรียน ด้วยประเมินแล้วว่าประเทศเรายังต้องเผชิญผลกระทบจากโควิด-19 ต่อไปอีกหลายปี”

และนี่คืองานที่ กสศ. ทำร่วมกับสถาบันผู้ผลิตและพัฒนาครูของประเทศ เพื่อให้เกิดกระบวนการสร้าง ‘ครูของชุมชน’ ตั้งแต่ต้นทาง ค้นหา ‘คนที่ใช่’ แล้วนำมาเติมเต็ม บ่มเพาะศักยภาพภายใน ผ่านองค์ความรู้ใหม่ที่สถาบันสร้างสรรค์ จนได้ครูที่มีคุณสมบัติพร้อมกลับไปทำงานพัฒนาภูมิลำเนาของตน ซึ่งผลในบั้นปลายท้ายสุด ผลผลิตของโครงการจะไม่ได้มีเพียง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ 1,500 คน ตามเป้าหมายโครงการเท่านั้น แต่ในภาพรวมยังหมายถึงการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครูในสถาบันทั่วประเทศ ซึ่งคือการพัฒนาประเทศชาติในระยะยาว