เกร็ดประสบการณ์ ‘ค้นหา – คัดกรอง – คัดเลือก’ 3 ปี ของการเดินทาง โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น
‘หนึ่งคนที่พลาดโอกาส เขาอาจคือคนที่เราตามหา’

เกร็ดประสบการณ์ ‘ค้นหา – คัดกรอง – คัดเลือก’ 3 ปี ของการเดินทาง โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

“เรารับนักศึกษารุ่นแรก 328 อัตรา ตอนนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยมีแค่ทฤษฎี อาศัยเพียงหลักการ และถึงแม้จะทำงานในเวลาอันจำกัด ทุกสถาบันก็สามารถคัดนักศึกษาตรงคุณสมบัติได้ครบ นั่นคือช่วงเวลาที่เราเริ่มต้นมาด้วยกัน ก่อนถึงวันนี้ที่โครงการเริ่มลงพื้นที่ค้นหานักศึกษารุ่นที่ 4

“สามปีผ่านมา นักศึกษารุ่นแรกของเรายังอยู่ครบทุกคน ทั้งยังเหลือเพียงอีก 1 ปีเท่านั้น ที่พวกเขาจะสำเร็จการศึกษาก้าวออกไปเป็นครูเต็มตัว ณ พื้นที่ชุมชนบ้านเกิด ซึ่งเราอาจพูดได้ว่าเป็นข้อพิสูจน์ยืนยันได้ในระดับหนึ่ง ว่าเด็กทุกคนที่สถาบันรับเข้ามาคือตัวจริง เพราะถ้าเขาไม่ใช่ ระบบผลิตที่เข้มข้นจะเป็นอีกหนึ่งกระบวนการคัดสรร ว่าเขาอาจไม่เหมาะกับงานสำคัญที่ปลายทาง เพราะโครงการนี้เราต้องการพัฒนาครูคนหนึ่ง ที่พร้อมจริง ๆ สำหรับการกลับไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่มีโจทย์ปัญหาเฉพาะทาง”

ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวถึงเส้นทางการค้นหา – คัดกรอง – คัดเลือก นักศึกษาโครงการ ฯ ที่แต่ละสถาบันร่วมกันเสาะหาวิธีการที่เหมาะสม ทั้งกับพื้นที่ บริบท และสอดรับสภาพการณ์หน้างานของแต่ละเคส เพื่อช่วยกันก่อร่างกระบวนการเฟ้นหานักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่เป็น ‘ตัวจริง’ ให้ได้รับทั้งโอกาสเรียนในระดับอุดมศึกษา ทั้งยังเป็นการบ่มเพาะ ‘ครูนักพัฒนาชุมชน’ ที่จะวางแนวทางจัดการศึกษาให้เด็กเยาวชนในท้องถิ่น และไปให้ถึงเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของการ ‘ผลิตครู’ ของประเทศ

ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล
ผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

บทความนี้เล่าเรื่องราวส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ของสถาบันต้นแบบ ว่ากว่าจะได้นักศึกษาแต่ละคน แต่ละรุ่น หรือในแต่ละพื้นที่ คณะทำงานต้องออกเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ เผชิญความยากลำบากด้วยสภาพภูมิประเทศ ความต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ทัศนคติ และข้อจำกัดนานัปการ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคก็มิได้หยุดยั้งความตั้งใจของคณะทำงาน โดยทุกสถาบันยืนยันว่า จะไม่หยุดค้นหา ไม่ยอมออกจากพื้นที่ จนกว่าแน่ใจแล้วว่าไม่เหลือใครเล็ดลอดหลุดไป

‘เพราะหนึ่งคนที่พลาดโอกาส เขาอาจคือคนที่เราตามหา’

มาดูว่าอะไรคือโจทย์ที่แต่ละสถาบันได้พบเจอ หรือพวกเขาใช้เครื่องมืออะไรบ้างในระหว่างเส้นทางค้นหา แล้วจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่เสี้ยวประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

‘ความร่วมมือคือเข็มทิศนำทาง’

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดดเด่นด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่นำลงพื้นที่ และความละเอียดในการบันทึกข้อมูลเพื่อนำกลับมาปรับปรุงรูปแบบการทำงานทุกปี พร้อมสร้างคณะทำงานที่ผสานความชำนาญหลากหลายไว้ใน 1 ทีม

ตัวแทนคณะทำงานครูรัก(ษ์)ถิ่น มช. เล่าว่า ปัญหาใหญ่คือสภาพจริงหน้างาน จากปีแรกที่เจออุปสรรคเรื่องการเดินทางเข้าพื้นที่ จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้คนในมาเติมเต็ม โดยสื่อสาร อบต. เขตพื้นที่การศึกษา ผอ.โรงเรียนปลายทาง และอาสาชุมชน เข้ามาช่วยวางเส้นทาง และลงหน้างานไปด้วยกัน ทำให้ร่นระยะเวลาเดินทางลงได้ในปีต่อ ๆ มา ค้นหาเด็กครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และสามารถใช้เวลากับการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนอย่างลงลึก

นอกจากนี้ มช. ยังดึงความร่วมมือของคณาจารย์ทั้งคณะศึกษาศาสตร์ สร้างทีมขนาดใหญ่กว่า 30 คน จาก 13 สาขาวิชา โดยมีเครื่องมือ ทีมวิจัย และทีมประเมิน ที่นำความชำนาญของหลากสาขาวิชามาใช้ประโยชน์เต็มที่

“คำถามหนึ่งที่เราได้ยินเสมอคือ ทำไมการค้นหาเด็กคนหนึ่งเราต้องเดินทางไกลถึงสุดขอบชายแดนประเทศ หรือเข้าไปในพื้นที่ยากลำบากขนาดนั้น …คำตอบของคำถามนี้คือ เพราะเราคิดว่าเด็กคนนั้นจะเป็นคนที่ใช่ เป็นคนที่ควรได้รับโอกาส แล้วสามปีผ่านมาเขาก็ยืนยันกับพวกเราแล้วว่า ถ้าไม่ไปหาเขาในวันนั้น เราคงสูญเสียโอกาสที่จะสร้างคนหนึ่งคนที่จะกลับไปพัฒนาพื้นที่ห่างไกลนั้นให้ดีขึ้น”

ปูพรมเต็มพื้นที่ เพื่อนักศึกษา 1 อัตรา

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตัวแทนการทำงานบนพื้นที่ราบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่าว่า การประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสารทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก คือเครื่องมือที่ช่วยให้การค้นหาละเอียดยิ่งขึ้น โดยทุกครั้งที่ลงพื้นที่ ทีมงานจะเข้าถึงบ้านทุกหลังของเด็กที่มีรายชื่อ เพื่อคุยกับเด็กและผู้ปกครอง จากนั้นจะเดินหน้ารุกต่อไปยังโรงเรียนมัธยม และวิทยาลัยเทคนิคทุกแห่ง รวมถึงสถานสงเคราะห์ในทุกชุมชน เพื่อแจ้งข่าวสารหรือเผื่อเก็บตกเด็กที่มีคุณสมบัตินอกรายชื่อที่เสนอเข้ามา แล้วหากกลับมาวิเคราะห์กันแล้วยังไม่แน่ใจ ทีมจะลงซ้ำ ไม่ยอมเคลื่อนออกจากพื้นที่ จนกว่าจะแน่ใจว่าได้พบคนที่คู่ควรกับทุนจริง ๆ

ตัวแทนคณะทำงาน เผยว่า การจะได้นักศึกษาทุน 1 อัตรา เราต้องแบ่งคนออกเป็นสองทีม ทีมหนึ่งลงพื้นที่นำร่องสำรวจบ้านเด็ก สอบถามข้อมูลจากเพื่อนบ้าน คนในชุมชน ก่อนที่ทีมใหญ่จะลงซ้ำเข้าไปสัมภาษณ์เด็กและครอบครัวเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว ด้วยวิธีนี้ทำให้มหาวิทยาลัยลดความเสี่ยงของการค้นหาได้มาก และเป็นการกรองแล้วกรองอีกตรงหน้างาน ก่อนจะส่งว่าที่นักศึกษาทุนไปสู่กระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการส่วนกลางต่อไป

ขยายวงค้นหา จนกว่าจะเจอคนที่ใช่

มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง แม้ตั้งอยู่ภาคกลางที่จังหวัดราชบุรี แต่พื้นที่รับผิดชอบค้นหานักศึกษาทุนนั้นขยายขอบเขตไปถึงภาคตะวันออก ซึ่งด้วยอาณาเขตที่กว้างและครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจ บางครั้งจึงไม่พบเด็กที่ตรงคุณสมบัติง่าย ๆ ทางมหาวิทยาลัย จึงแก้ปัญหาด้วยการกางแผนที่จรดวงเวียนตีเส้นรอบโรงเรียนปลายทาง เพื่อขยายพื้นที่ค้นหาออกไปในหมู่บ้านหรือตำบลที่เส้นรอบวงพาดถึง

คณะทำงาน มรภ.หมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า โรงเรียนปลายทางถือว่าเป็นศูนย์กลางของการค้นหา ไม่ว่าการประสานผู้นำชุมชน การจัดเตรียมสถานที่ การนำทางไปหาเด็ก ที่สำคัญคือเพื่อป้องกันการล็อคทุนไว้ให้เด็กคนใดคนหนึ่ง ทางทีมงานจึงต้องชี้แจงข้อมูลเชิงลึกว่า “ถ้าเด็กได้รับทุนแล้วไม่มีใจที่จะเป็นครูจริง ๆ มีแนวโน้มสูงมากว่าเขาจะไม่ผ่านบททดสอบในระหว่างทางการบ่มเพาะ แล้วเด็กจะหลุดกลางคัน ซึ่งหมายถึงผู้รับรองเด็กต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความผิดพลาดด้วย” นั่นทำให้แต่ละโรงเรียน แต่ละชุมชนเห็นภาพว่าเราต้องการคนที่มีจิตวิญญาณครูซึ่งพร้อมรับการเคี่ยวกรำอย่างหนักจริง ๆ จุดนี่คือต้นน้ำของการคัดกรองที่เข้มงวดและสำคัญมาก

ให้ ‘กล้อง’ซอกซอนสำรวจแทนสายตา

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เผยอีกมุมหนึ่งของการค้นหา เมื่อหลายครั้งยังไม่แน่ใจว่านักศึกษาในกระบวนการพิจารณาอยู่ในข่าย ‘ขาดแคลนโอกาส’ จริงหรือไม่ ซึ่งหลายครั้งเทคโนโลยีที่นำลงพื้นที่ ก็ช่วยเผยความจริงบางอย่างให้พบ และนำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำยิ่งขึ้น

ผู้แทนคณาจารย์ มรภ.เชียงใหม่ เล่าว่า สถาบันใช้ทีมค้นหาขนาดใหญ่เพราะพื้นที่รับผิดชอบกระจายในภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง ปัญหาที่พบคือบางพื้นที่เป็นดอยสูงเอารถขึ้นไม่ได้ก็ต้องอาศัยรถขับเคลื่อนสี่ล้อของเทศบาล หรือช่วงโควิด-19 หนัก ๆ บางพื้นที่เข้าไม่ได้ก็ต้องถอยมาจัดกระบวนกันใหม่ ดึงเทคโนโลยีมาช่วย ให้เด็กถ่ายบ้านแล้วส่งคลิป หรือสัมภาษณ์ทางออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงขั้นตอนสุดท้ายทีมจะลงเยี่ยมบ้านเด็กทุกคน

“เรามีทีม IT คอยถือกล้องเดินสอดส่ายทั้งในและนอกบ้านของเด็ก ข้อดีคือการใช้เทคโนโลยีจะช่วยเก็บบันทึกเพื่อนำข้อมูลมาเป็นหลักฐานพิจารณาย้อนหลังได้ แล้วกล้องนี่เองที่ซอกแซกไปได้มากกว่าสายตาคน ทำให้เราเห็นทุกอย่าง อย่างไปบ้านหลังหนึ่ง เราขอเปิดห้องที่เขาปิดไว้ เขาก็เต็มใจอยากให้ดูเต็มที่ สุดท้ายเจอรถไฟฟ้าของคุณยายซ่อนอยู่ในผ้าคลุม กลายเป็นทำให้เรารู้สถานะจริงของเขา ต้องบอกว่ากล้องช่วยได้มากทีเดียว สำหรับการบริหารความเสี่ยงในการกรองคนที่ยังไม่ใช่ออกไป”

และเรื่องราวเหล่านี้คือเกร็ดเล็กน้อยที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวการเดินทางของคณะทำงานครูรัก(ษ์)ถิ่น โดย ผศ.ดร.พิศมัย ผู้จัดการโครงการ ฯ ได้กล่าวสรุปว่า “วันนี้นักศึกษารุ่นแรกของโครงการ ฯ เตรียมขึ้นชั้นปี 4 แล้ว เขาได้ผ่านกระบวนการ Enrichment program หรือหลักสูตรเฉพาะของสถาบันผลิตครูต้นแบบ ทั้งระหว่างนั้นยังได้เรียนรู้สื่อสารกับโรงเรียนปลายทาง ซึ่งคือพื้นที่จริงที่เขาจะกลับไปทำงานหลังเรียนจบ”

“นี่คืองานวิจัยที่มีชีวิต มีโจทย์ปัญหาจริง และผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ดังนั้นเมื่อนักศึกษาผ่านบททดสอบอันเข้มข้นนี้ไปได้ เราก็เชื่อได้ว่าครูที่มีจิตวิญญาณเหล่านี้ จะเป็นครูรุ่นแรกผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ที่เราจะเห็นผลร่วมกันได้ในระยะเวลา 5 – 10 ปีข้างหน้านี้”