ประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลราว 2,000 แห่ง มีทั้งที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง เกาะแก่ง พื้นที่ชายขอบ และพื้นที่เสี่ยงภัย โรงเรียนเหล่านี้แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีบริบทเฉพาะที่ทำให้ไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนใกล้เคียงได้ ในทางกลับกัน ยิ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลและพัฒนาคุณภาพ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กและเยาวชนในพื้นที่เหล่านี้ แต่ปัญหาหลักของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังแก้ไม่ตกมาโดยตลอดก็คือ อัตราการโยกย้ายของครูที่มีสูง ทำให้ขาดแคลนครูและบุคลากร เด็ก ๆ จึงไม่ได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปัจจัยสอดคล้องไปกับการที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงเกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการสร้างโอกาสสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาศักยภาพเพื่อกลับมาเป็นครูรุ่นใหม่และมีองค์ความรู้เฉพาะในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามบริบทของชุมชน การเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กในพื้นที่ห่างไกล จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล ทั้งยังมีบทบาทของการเป็นครูนักพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้แก่ชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง
“ครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาคุณครูโยกย้ายในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เราประสบปัญหาว่าโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล อัตราการโยกย้ายสูงเพราะไม่ใช่คนพื้นถิ่น กสศ. เองก็มองว่า วิธีลดความเหลื่อมล้ำที่ดี คือการทำให้คนในพื้นถิ่นซึ่งโอกาสในการเรียนต่อต่ำอยู่แล้ว ได้มาเรียนเพื่อเป็นครูและกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองได้ ทำให้ได้แต้มต่ออีกหลายต่อ ครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงเกิดขึ้นจากเป้าหมายในการเพิ่มโอกาสให้คนพื้นถิ่นได้มาเรียนครู เท่าที่ดำเนินการมาระยะหนึ่ง เราพบว่าเด็กกลุ่มนี้ก็สามารถเรียนรู้ได้ดี สามารถดำรงชีวิตในมหาวิทยาลัย และหากดูจากคุณลักษณะของนักศึกษาครูชุดแรก หรือรุ่นที่ 1 เท่าที่ติดตามดูอย่างต่อเนื่องก็ถือว่า พวกเขาเป็นกลุ่มนักศึกษาที่น่าสนใจ”
ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น อธิบายถึงจุดเริ่มต้นและจุดประสงค์ของโครงการไว้ในงานประชุมวิชาการ ‘Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย’ วงเสวนาหัวข้อ ‘ถอดบทเรียนงานพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนจากโมเดลกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย’ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา
ดร.ศุภโชค เล่าต่อไปว่า พอผลิตครูเพื่อกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองแล้ว เลยเกิดโครงการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลด้วย เพื่อไปเตรียมโรงเรียนสำหรับน้อง ๆ ที่จบครูให้กลับไปทำงานที่โรงเรียนปลายทางอย่างมีคุณภาพ เพราะวัฒนธรรมการทำงานบางอย่างของโรงเรียนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้มีแรงเสียดทานบางอย่าง หรืออาจมีอุปสรรคเฉพาะของการเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น จึงจะมีทีมจากโครงการเข้าไปช่วยปรับกระบวนการทางความคิดของคุณครูในโรงเรียนปลายทางเข้าร่วมโครงการกับเรา เพื่อปรับวัฒนธรรมของโรงเรียน และหาจุดเชื่อมโยงสำคัญในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน และกระตุ้นให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาตนเอง
“กระบวนการทำงานที่สำคัญของโครงการนี้คือ เราจะสร้างทีมขึ้นมาอีกทีมหนึ่ง ผมเรียกว่า ทีมหนุนเสริม เป็นกลุ่มที่ใช้กลุ่มพลังเดิม ต้นทุนเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษาในโครงการคุรุทายาท หรือกลุ่มชมรมนักจัดการศึกษาในพื้นที่สูง จุดเด่นประการหนึ่งของโครงการเหล่านี้ก็คือ การหมุนโรงเรียน วิธีนี้เป็นการหมุนในแนวระนาบด้วยตัวโรงเรียนเอง และด้วยเพื่อน ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ กันเอง”
นอกจากนี้ เรายังได้บทเรียนสำคัญจากการที่ กสศ. ทำโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program : TSQP) นั่นคือ การต้องมีเป้าหมายของโรงเรียนที่ชัดเจน เราจะมีการวางโครงสร้างให้โรงเรียนทำระบบฐานข้อมูลหรือ Q – Info ที่ กสศ.พัฒนาขึ้น ซึ่งจะให้เห็นข้อมูลร่วมกัน เพื่อติดตามปัญหาหรือพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันได้ นอกจากนี้ จะต้องมีการสร้างชุมชนการเรียนรู้เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า กระบวนการ PLC ในการให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันและออกแบบการศึกษาไปพร้อมกันเพื่อทำให้โรงเรียนเข้มแข็งอย่างมีทิศทาง
“กระบวนการ PLC ที่มีประสิทธิภาพจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนชัดเจน บางโรงเรียนอาจจะมี PLC ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอุบัติเหตุในโรงเรียน หรือบางโรงเรียนอาจเป็นเรื่องโรงเรียนสกปรกบ้าง บางโรงเรียนอาจคุยกันเรื่องระเบียบวินัยเด็ก แต่ PLC ที่เราให้ความสำคัญจริง ๆ เป็นเรื่องของการเรียนรู้ อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่เราค้นพบว่า เราจะต้องผลักดันโรงเรียนให้คุยเรื่องนี้มากขึ้น
“แต่เวลาผมจะต้องเข้าไปเตรียมโรงเรียนให้พร้อม เราเลือกทำทั้งหมดไม่ได้ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กจะมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องคนไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหาร เพราะเราค้นพบว่าโรงเรียนเหล่านี้ อายุการทำงานในพื้นที่จริง ๆ มีไม่ถึง 5 ปี ผู้บริหารส่วนใหญ่อยู่กันแค่ปีสองปีเท่านั้น บางคนเพิ่งขึ้นเป็นผู้บริหารใหม่แล้วถูกให้ต้องไปอยู่ที่นั่นยังไม่มีประสบการณ์ใด ๆ สวนทางกับปัญหามากมาย อันนี้คือประเด็นปัญหาหนึ่ง”
ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ เล่าต่อว่า ผลลัพธ์จากการทำงานในพื้นที่ เมื่อดูจากข้อมูลการศึกษากลุ่มโรงเรียนในภาคเหนือ เรื่องของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน RT หรือผลการประเมินความสามารถในการอ่าน เดิมเราพบว่าเด็กโรงเรียนกลุ่มนี้ต่ำมาก แต่ 3 ปีผ่านไปเมื่อมีโครงการเหล่านี้เข้าไป สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ NT หรือ ผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติสูงขึ้นหลายโรงเรียน หมายความว่า พลังเดิมที่มีอยู่ในโรงเรียน สามารถเปลี่ยนแปลงเด็กให้ NT สูงขึ้นได้ภายใน 3 ปี
ในช่วงท้าย ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ได้ให้ข้อสรุปแนวทางการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ภายใต้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ว่า ประการแรก คือการใช้กระบวนการ PLC เป็นคานงัดสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างวัฒนธรรมคุณภาพของโรงเรียน โดยเชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ
ประการที่สอง การหนุนเสริมและสนับสนุนทรัพยากรเพื่อลดภาระงานธุรการของครู ต้องมีสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ มีแหล่งความรู้และองค์ความรู้ที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้สำคัญให้แก่ครู โดยเน้นเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นที่ห้องเรียน
ประการสุดท้าย ผู้บริหารเป็นตัวแปรสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลง จึงต้องเร่งพัฒนาทักษะที่จำเป็น เพื่อให้มีเป้าหมายชัดเจน ใช้ฐานข้อมูลได้ และทำงานเป็นเครือข่าย มีเจตคติที่ดีไม่ว่าความทุ่มเท มีอุดมการณ์ และมีความเป็นนักพัฒนา รวมถึงต้องมีการสนับสนุนองค์ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาโรงเรียนแก่ผู้บริหารโรงเรียน