‘เฟ้นจากชุมชน ฟูมฟักเพื่อชุมชน ให้เป็นครูนักพัฒนาของชุมชน’ ปฏิบัติการสร้างครูต้นแบบ 1,500 คน ตอบโจทย์โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล
และ (โอกาสสำคัญในการ) เปลี่ยนแปลงระบบผลิตและพัฒนาครูของประเทศ

‘เฟ้นจากชุมชน ฟูมฟักเพื่อชุมชน ให้เป็นครูนักพัฒนาของชุมชน’ ปฏิบัติการสร้างครูต้นแบบ 1,500 คน ตอบโจทย์โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

โจทย์หนึ่งที่ท้าทายการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเสมอมา คือการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษา โดยเฉพาะกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งแม้ว่ามีจำนวนนักเรียนไม่มาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเยาวชนแม้เพียงหลักร้อยหรือหลักสิบคนเหล่านั้น คือทรัพยากรคนสำคัญของประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวแปรชี้ว่า ภาพของประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ขณะที่กลไกการทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าตามแนวตะเข็บชายแดน พื้นที่เกาะ ป่าเขา บนดอยสูง รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยต่าง ๆ ยังมีปัญหาเรื่องอัตรากำลังครู ไม่ว่าการไม่มีครูเลือกบรรจุบางพื้นที่ หรือพบบ่อยคือแต่ละปีมีครูขอย้ายออกจำนวนมาก จนกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การทำงานไม่มีความต่อเนื่อง ผู้บริหารไม่สามารถวางแผนระยะยาวเพื่อความยั่งยืนได้

ในอีกทางหนึ่ง มาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ยังเป็นปัจจัยของความไม่ต่อเนื่องทางการศึกษาของเด็กเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ด้วยตัวเลขยืนยันทุกปีว่ามีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งกลางคันและช่วงรอยต่อทางการศึกษา (เช่น ป.6 ต่อ ม.1 หรือ ม.3 ต่อ ม.4 หรืออาชีวศึกษา) โดยนอกจากความยากจนด้อยโอกาสแล้ว การขาดไร้แรงจูงใจก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทำให้เด็กเยาวชนจำนวนมากตัดสินใจออกไปเป็นแรงงาน กระทั่งเลิกเรียนไปอย่างไร้เหตุเหมาะสม ด้วยมองไม่เห็นว่าการศึกษาจะนำพาสิ่งใดมา หรือจะพาพวกเขาไป ณ ที่จุดใด

ตั้งแต่ปี 2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจับมือกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อเสาะหาวิธีการทำงานที่เป็นระบบ มุ่งสนับสนุนให้เกิด ‘สถาบันต้นแบบ’ ผลิตและพัฒนาครู ด้วยนวัตกรรม กระบวนการ และความร่วมมือของสถาบันการศึกษา สร้างแนวทางพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสมกับบริบทการทำงานเชิงพื้นที่ ทั้งยังมองถึงการเก็บข้อมูล งานวิจัย และใช้ประสบการณ์จากสถาบันต้นแบบ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ของการผลิต พัฒนาหลักสูตร และดูแลสนับสนุนครูให้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ และมีความเชี่ยวชาญในการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบเฉพาะตามบริบทท้องถิ่น

จนเกิดเป็นโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ที่มีเป้าหมายผลิตครูคุณภาพสูง 1,500 อัตรากระจายไปทั่วประเทศ ในกรอบระยะเวลาการทำงานมากกว่า 10 ปี เริ่มจากค้นหาคัดกรองคัดเลือกนักเรียนที่ขาดแคลนโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีใจรักและมีแววความเป็นครู ให้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและพัฒนาในหลักสูตรเฉพาะของสถาบันผลิตและพัฒนาครูในภูมิภาค พร้อมทำงานร่วมกับโรงเรียนปลายทางที่บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นจะไปปฏิบัติงานหลังจบการศึกษา

ถึงวันนี้ โครงการดำเนินงานมา 3 รุ่น ให้โอกาสนักศึกษาทุนแล้วเป็นจำนวน 865 คน จาก 15 สถาบัน และเตรียมเฟ้นหานักศึกษาทุน รุ่น 4 อีก 327 คน พร้อม 2 สถาบันใหม่ที่เข้าร่วม รวมสถาบันผลิตและพัฒนาครูเป็น 18 แห่ง ในปีการศึกษา 2566 นี้

ครูคุณภาพสูงผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่าโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ไม่เพียงสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล แต่ยังเป็นการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความ ต้องการของโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งมีปัญหาครูขอย้ายบ่อยเนื่องจากไม่ใช่คนในท้องถิ่น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

โครงการเป็นลักษณะการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบครบวงจร โดยให้นักเรียนทุนเข้าศึกษาตามหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ที่ออกแบบไว้สำหรับการเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่เฉพาะ ที่สำคัญคือเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ครูรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะเป็นครูนักพัฒนาที่มีทั้งจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาผู้เรียนตามบริบทท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์การทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงเป็นผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียนและชุมชนมากกว่า 500 แห่ง ใน 53 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคต่อไป

“เราเชื่อว่าโครงการนี้คือการเริ่มต้นเพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้วยครูคุณภาพสูงที่จะกลับไปสอนคนรุ่นใหม่ในชุมชนของเขา ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับเด็กอีกราว 300,000 คนในอนาคต เพราะเมื่อจบการศึกษา ครูรัก(ษ์)ถิ่นกลุ่มนี้ไม่เพียงจะกลับไปลดวงจรความขาดแคลนครู แต่เขาจะนำความรู้และประสบการณ์จากสถาบันต้นแบบ กลับไปถ่ายทอดส่งต่อให้เด็กในพื้นที่เข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ทั้งท้องถิ่นเองก็จะมีครูนักพัฒนาที่จะเข้าไปสร้างความเข้มแข็ง และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนไม่ใช่แค่ชั่วคราว แต่คือความยั่งยืนในระยะยาว”

พัฒนาชุมชนด้วยคนในชุมชน

ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โจทย์ท้าทายของการทำงานครั้งนี้ คือในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลที่มีอัตราการโยกย้ายสูง ครูไม่พอ ไม่ครบชั้น ในทางปฏิบัติการนำคนท้องถิ่นออกมาพัฒนาให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก หรือหากส่งคนจากภายนอกเข้าไปทำงานในพื้นที่ เมื่อถึงเวลาหนึ่งบุคลากรก็จะย้ายไปที่อื่น หรือกลับถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิม งานจึงขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นแนวคิดของการพัฒนาชุมชนด้วยคนในชุมชน โดยให้โอกาสกับเยาวชนที่มุ่งมั่นอยากเป็นครู ให้เรียนรู้ฝึกฝนใน ‘ระบบปิด’ กับวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาค แล้วกลับไปทำงานในถิ่นฐานบ้านเกิด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้

ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“การผลิตและพัฒนาครูระบบปิด คือการ ‘สร้างครูลักษณะเฉพาะ’ ลงใน ‘พื้นที่เฉพาะ’ ซึ่งกรณีนี้คือการผลิตครูเพื่อพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยครูรัก(ษ์)ถิ่นจะได้รับปลูกฝัง DNA ของนักพัฒนาชุมชน ร่วมไปกับการพัฒนาทางวิชาการที่ทันสมัย ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้จะประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ ถือเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้นแบบต้องร่วมมือกัน โดยใช้ความเชี่ยวชาญ ความเป็นเลิศด้านวิชาการ ในการทำวิจัย พัฒนา ผลิต และเปลี่ยนแปลงระบบ เพื่อแสดงให้เห็นผลลัพธ์ของการพัฒนาครูระบบปิดในระดับอุดมศึกษา 4 ปี ในหลักสูตรที่แต่ละสถาบันออกแบบและพัฒนาเพื่อตอบสนองชุมชน กับระยะเวลาการติดตามนักศึกษาที่จะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดอีกอย่างน้อย 6 ปี เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายในระยะยาว ในการพิสูจน์แนวทางใหม่ของการผลิตและพัฒนาครูทางเลือกที่มีศักยภาพ ว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตัดวงจรการขาดแคลนครู และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลได้มากน้อยเพียงใด”

เกิดต้นแบบสถาบันผลิตและพัฒนาครู ด้วย ‘Enrichment Program’ ที่ลงรายละเอียดเป็นรายบุคคล

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า ‘สถาบันต้นแบบการผลิตและพัฒนาครู’ จะเป็นกลไกสำคัญภายใต้งานวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่จริง ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบผลิตและพัฒนาครู ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรม
การพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

กระบวนการตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ คือการที่สถาบันแต่ละแห่ง ลงพื้นที่ค้นหาคัดเลือกเพื่อให้ได้นักศึกษาตรงตามคุณสมบัติ ‘กลางน้ำ’ คือหลักสูตรของสถาบันที่ออกแบบเฉพาะ ลงรายละเอียดถึงผู้เรียนรายคน และคำนึงถึงความแตกต่างของลักษณะพื้นที่ปลายทาง ส่วน ‘ปลายน้ำ’ คือการที่สถาบันผลิตและพัฒนาครูทำงานร่วมกับโรงเรียนที่นักศึกษาจะกลับไปทำงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งโรงเรียนและชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมกัน

“ด้วยหลักสูตรเฉพาะทางหรือ Enrichment Program ที่จัดเตรียมความพร้อมของครูไว้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนของตนเอง เมื่อครูกลุ่มนี้เรียนจบเขาจึงพร้อมทำงานทันที พร้อมพัฒนาโรงเรียนและสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นของเขา ซึ่งเราเชื่อว่าครูคุณภาพสูงคนหนึ่ง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มหาศาลให้กับพื้นที่หนึ่งชุมชนหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเรามีครูรุ่นใหม่ที่เข้าใจการจัดการศึกษาและพัฒนาชุมชนถึง 1,500 คน ย่อมหมายถึงโอกาสการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ก็จะยิ่งเปิดกว้างขึ้น”

เป้าหมายสำคัญคือ ‘เปลี่ยนแปลงเชิงระบบ’

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและสถานศึกษา กล่าวว่า ภารกิจหลักของ กสศ. คือสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเหนี่ยวนำทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หนึ่งในนั้นคือการ ‘พัฒนาคุณภาพครู’ และสถานศึกษา เพื่อเป็นต้นทางของการ ‘เข้าถึง’ การเรียนรู้ มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี เกิดช่องทางแนวทางใหม่ของการศึกษาทางเลือก และไปให้ถึงเป้าหมายสำคัญคือการ ‘เปลี่ยนแปลงเชิงระบบ’

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและสถานศึกษา

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เรากำหนดไว้ที่ 5 รุ่น 5 ปีการศึกษา กับระยะเวลาดำเนินโครงการยาวนานราว 15 ปี ซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการไม่ใช่เพียงได้ครูคุณภาพสูง 1,500 คน ที่จะกลับไปทำงานด้านการศึกษาและพัฒนาชุมชนบ้านเกิด แต่ความยั่งยืนที่โครงการมุ่งไปให้ถึง คือต่อยอดจากรากที่หยั่งลงแล้วให้แข็งแรงและไปต่อได้

“การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบคือหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะในการเติมศักยภาพ เติมทรัพยากร เติมนวัตกรรม ให้โรงเรียนขนาดเล็กนับหมื่นแห่ง ช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของความเปลี่ยนแปลง เริ่มจากที่เราสร้างบุคลากร สร้างครูที่จะเข้าไปฝังตัวทำงาน มีทีมสนับสนุนเป็นที่ปรึกษา แล้วครูที่เพาะบ่มจากระบบปิดกลุ่มนี้ ซึ่งคิดเป็น 10 – 20 % ของอัตราการผลิตครูในแต่ละปี จะไปทดแทนครูที่เกษียณ ที่ย้ายออก หรือที่ยังขาดอัตรากำลัง

“ครูกลุ่มนี้อาจเป็นคำตอบของโรงเรียนขนาดเล็ก ว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร สำคัญคือต้องอยู่ให้ได้ในเชิงคุณภาพด้วย จากนี้เรามารอดูกันว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้ง 5 รุ่นนี้จะให้คำตอบอะไรกับเรา พวกเขาจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพัฒนาท้องถิ่นได้แค่ไหน แล้วงานวิจัยระยะยาวชิ้นนี้ จะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบผลิตและพัฒนาครูของประเทศได้อย่างไรในอนาคต”