โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ถือเป็นต้นแบบ “การผลิตครูในระบบปิด” ที่ไม่เพียงแค่การหยิบยื่นโอกาสให้เด็กที่มีฐานะยากลำบากและมีความมุ่งมั่นในพื้นที่ห่างไกลให้ได้เรียนต่อก่อนกลับไปบรรจุเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งยังเป็นการออกแบบกระบวนการพัฒนาครู ตั้งแต่ค้นหานักศึกษา ออกแบบหลักสูตรให้ตอบโจทย์สอดคล้องกับกับพื้นที่ พร้อมระบบการดูแลติดตามครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
สิ่งสำคัญคือกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนปลายทางที่นักเรียนจะกลับไปบรรจุ เขตพื้นที่การศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในการมีส่วนร่วมกับกระบวนผลิตครูซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนของพวกเขาในอนาคต
ผศ.อนุชา พิมพ์ศักดิ์ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ซึ่งในส่วนของปีนี้ได้คัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 26 คน เป็นที่เรียบร้อย โดยได้นักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นครู
กระบวนการคัดเลือกนักศึกษาจะแบ่งทีมค้นหาออกเป็น 6 สาย แบ่งหน้าที่การทำงาน มีหัวหน้าทีมทีมละ 4-6 คน ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาสองปี ได้ถอดบทเรียนการทำงานและนำมาใช้ในครั้งนี้โดยเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของหน่วยงานในพื้นที่ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา กำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต. โรงเรียนปลายทาง มีกรุ๊ปไลน์ประสานงานกันในแต่ละกลุ่ม
ประสานกำนันผู้ใหญ่บ้านช่วย “ชี้เป้า” พร้อม ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่
ขั้นตอนจะเริ่มจากการประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นทางการก่อน ทั้ง กศน. อาชีวศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนา เพิ่มเติมจากฐานข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยขั้นตอนการรับสมัครจะให้ทางโรงเรียนปลายทางเป็นสถานที่รับสมัครเพื่อให้เด็กที่สนใจรู้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วเขาจะกลับไปบรรจุที่โรงเรียนนี้ จะได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกันไว้ก่อน
อีกด้านหนึ่งเมื่อแจ้งเรื่องไปทางกำนันผู้ใหญ่บ้านเขาก็จะช่วยประชาสัมพันธ์เพราะเขารู้ว่านักเรียนในตำบลของเขานักเรียนคนไหนมีสิทธิ บางครั้งเด็กที่มีคุณสมบัติครบถ้วนแต่ไม่ทราบข้อมูลเพราะไปเรียนต่างพื้นที่ หรือไปทำงานช่วงค่ำไม่ได้ยินเสียงประกาศตามสายในหมู่บ้าน กำนันผู้ใหญ่บ้านก็จะช่วยประสานให้ข้อมูลในเบื้องต้น
“เป็นการทำงานเชิงรุก ก่อนลงพื้นที่จะต้องดูข้อมูลบางพื้นที่มีเด็กสนใจน้อยก็ต้องประสานไปยังโรงเรียนในพื้นที่ขอออนไลน์เข้าไปประชาสัมพันธ์พูดคุยแนะแนวกับเด็ก ม.6 ให้ทราบถึงโครงการนี้ ถ้าเขาสนใจก็จะมาสมัครในวันที่กำหนดซึ่งจะต้องมาฟังรายละเอียดอีกครั้งถึงหลักการและเหตุผล ทำไมต้องเด็กยากจน ยากจนพิเศษ เข้ามาแล้วต้องไปทำอะไรที่ไหนมีกิจกรรมอะไรบ้าง ต้องฝึกอะไร ทางโรงเรียนต้องช่วยอะไรบ้าง เป็นเจ้าภาพร่วมกันยังไง ทุกคนจะได้เข้าใจบทบาทของแต่ละส่วน”
ต่อยอดประสบการณ์ 2 ปี แปรสภาพการค้นหาในแต่ละพื้นที่
จากนั้นจึงเป็นการร่วมกันลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลของเด็ก ทั้งสภาพบ้าน สัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อนบ้าน พร้อม ถ่ายรูป และวีดีโอเก็บเข้าระบบ แต่ถ้าตำบลไหนมีคนมาสมัครแค่คนสองคนหรือคิดว่าเด็กที่มาสมัครไม่ผ่านเกณฑ์แน่นอนก็จะประสานไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านให้พาไปลงพื้นที่ค้นหาเด็กคนอื่นเพิ่มเติมจะได้ไม่เสียเวลา หรือหากหาไม่ได้จริง ๆ จะได้ขยายพื้นที่ไปตำบลอื่น
“การทำงานแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่มีกระบวนการที่คล้ายกันคือการค้นหาเชิงรุกและเชิงลึก บางพื้นที่ทางกำนันเข้มแข็งก็พาลงไปทุกหมู่บ้านได้หมด บางพื้นที่ครูเข้มแข็งก็จะแล้วพื้นที่ แปรสภาพการทำงานไปตามพื้นที่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาสองปีเรารู้ว่าหากหาเด็กไม่ได้จะต้องรีบขยายตำบลต้องทำเรื่องปรึกษากับกสศ. ว่าหาจนหมดพื้นที่แล้วไม่ได้ต้องขยายพื้นที่จะได้ไม่เสียเวลา”
เข้าค่ายค้นหาตัวตน เรียนรู้ “ครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น”
หลังจากได้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 45 คน ก็จะมาสู่ขั้นตอนการเข้าค่ายแต่มี 2 คนสละสิทธิเนื่องจากติดโควิด โดยในค่ายจะมีกิจกรรมให้เขาได้รู้ว่าครูปฐมวัยต้องทำอะไรบ้าง มีการสร้างแรงบันดาลใจด้วยครูต้นแบบครูคุณากรรางวัลครูเจ้าฟ้ามหาจักรี ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมพาไปศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์เพื่อดูเรื่องนักพัฒนาชุมชน นักจัดการเรียนรู้พื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เขารู้จักบทบาทของครูปฐมวัยในบริบทครูรัก(ษ์)ถิ่น ถ้าชอบจะได้อยู่ต่อ ถ้าไม่ชอบจะได้บอกตอนสัมภาษณ์เลยว่าไม่ไหว
จากนั้นจะเป็นการสอบวัด IQ EQ วัดแววความเป็นครู ทำแฟ้มสะสมผลงานวัดคามคิดสร้างสรรค์ ที่จะนำมาเสนอในวันสอบสัมภาษณ์ประกอบกับการเขียนเรียงความเรื่อง “ครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” ในความรู้สึกเขาเป็นอย่างไร
เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมคัดเลือกและพัฒนา “ครู” ของตัวเอง
ในการสอบสัมภาษณ์จะมีกรรมการที่มาจากหลายฝ่ายทั้งศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานพื้นที่ประถมศึกษาที่โรงเรียนปลายทางสังกัด และผู้อำนวยการโรงเรียนปลายทาง ร่วมกับคณะทำงานของทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเด็ก ซึ่งจะกำหนดเกณฑ์ Rubric ชัดเจน เมื่อได้ผลก็จะมาจัดเรียงลำดับเข้าที่ประชุมพิจารณาประกาศผล
“ข้อดีของการมีส่วนร่วมจากชุมชนในการคัดเลือกนักศึกษาได้ฟังเสียงสะท้อนจากชุมชน ที่มองว่าคนนี้เหมาะจะมาเป็นครูในชุมชนของเขาหรือไม่ ผู้อำนวยการ ผู้ใหญ่บ้าน กำนันเขารู้จักเด็กของเขาดี เขาก็จะได้คัดเลือกครูที่ดีไปสอนลูกหลานเขา ที่สำคัญคือเขารู้สึกเป็นเจ้าของมีส่วนร่วมคัดเลือกพัฒนา เขาให้ความสำคัญเพราะเขาได้เข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพในการคัดเลือกตั้งแต่แรก ทำให้รู้สึกว่าต้องร่วมกันดูแลพัฒนาต่อไป นำไปสู่การพัฒนาให้เด็กมีขีดความสามารถที่จะต้องทำงานร่วมกับเขตพื้นที่ ซึ่งการทำงานร่วมกันที่ผ่านมาทำให้กลายเป็นเนื้อเดียวกันหมด”
วางแผนคู่ขนานร่วมสำรวจและพัฒนาโรงเรียนปลายทาง
ก้าวต่อไปในการทำงานจะเป็นเรื่องการพัฒนาโรงเรียนปลายทางที่เริ่มทำการสำรวจแล้วว่าโรงเรียนปลายทางแต่ละแห่งต้องการอะไรบ้าง การพัฒนาในเชิงวิชาการทางโรงเรียนต้องการให้เสริมในประเด็นไหนบ้าง เช่น การผลิตสื่อ หรือการพัฒนาทางกายภาพในรูปแบบค่าย เช่น โรงเรียนต้องการให้พัฒนาสนามเด็กเล่น ก็จะมีค่ายครูรัก(ษ์)ถิ่น พานักศึกษาไปออกค่ายช่วยพัฒนาสนามเด็กเล่น
การพัฒนาโรงเรียนแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่และความต้องการ ยกเว้นการอบรมพื้นฐานที่เหมือนกันด้านทักษะวิชาการที่จะจัดอบรมแบบออนไลน์ เช่น EF หรือการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ ที่จะให้โหวตกันเข้ามาว่าอยากให้จัดอบรมเรื่องอะไรบ้าง
ในขณะที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นจะได้กลับมาลงพื้นที่ชุมชนและโรงเรียนปลายทาง เริ่มจากปีหนึ่งที่เก็บข้อมูลวิจัยเชิงสำรวจ ใน 5 มิติ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ปีสองก็จะไปสำรวจปัญหาของชุชนว่ามีเรื่องอะไร ปีสามก็จะมาพัฒนาเป็นโปรเจ็คท์ ปีสี่ก็จะไปทดลองใช้จริง
พัฒนาครูในระบบปิด ตอบโจทย์ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทำงานต่อเนื่องไปจนเขากลับไปบรรจุเป็นครู 6 ปีก็ยังดูแลต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เน้นหลักสูตรการพัฒนาไปเป็นครูท้องถิ่นพื้นที่ห่างไกล ทำให้ไม่ต้องปรับอะไรมากเป็นการทำงานที่พัฒนาร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งเด็ก โรงเรียน ชุมชน มหาวิทยาลัย”
การพัฒนาครูในระบบปิดช่วยให้เกิดประโยชน์ตอบโจทย์แต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน อย่างอีสาน 19 จังหวัดก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน ไปสำรวจปัญหาเรื่องการเกษตรก็มีปัญหาแตกต่างกัน ทั้งเกษตรบนที่สูง ทำนา สวนยาง การพัฒนาก็แตกต่างกันการพัฒนาครูไปในแต่ละพื้นที่เพื่อเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาคุณภาพทั้งเด็ก ทั้งชุมชนก็ไม่เหมือนกัน เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ท้าทายและนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกัน