ลิเกพลิกชีวิต “ครูเผ” ครูผู้เปลี่ยนชีวิตเด็กด้อยโอกาส

ลิเกพลิกชีวิต “ครูเผ” ครูผู้เปลี่ยนชีวิตเด็กด้อยโอกาส

ผมจะสอนจนหมดแรง ไม่ว่าเด็กจะเหลือน้อยซักกี่คน เราก็จะยืนอยู่ตรงนี้จนถึงที่สุด

สะเทื้อน นาคเมือง หรือ “ครูเผ” ครูสอนลิเกให้เด็กด้อยโอกาสมายาวนานกว่า 25 ปี แม้วันนี้จะยอมรับเหนื่อย และอยากหยุดสอน แต่เขาก็กังวลว่า ถ้าเลิกเมื่อไร เด็กที่เรียนซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นอาจจะขาดตอน ไปติดเพื่อนชวนไปทำสิ่งไม่ดี สุดท้ายจะกลายเป็นปัญหาสังคมไป

ครูเผ ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีระดับ “ครูยิ่งคุณ” เมื่อปี 2558  ในฐานะครูศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ที่สร้างพลังให้กับเด็กด้อยโอกาสที่ถูกมองว่าเป็นภาระ ให้กลายเป็นพลังคืนกลับสู่สังคมและชุมชนโดยนำศิลปวัฒนธรรมและการแสดงพื้นบ้านมาใช้จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวของผู้เรียน ทำให้เด็กนอกระบบได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

ปัจจุบัน “ครูเผ” ยังคงสอนอยู่ที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ใช้บ้านสร้างคณะลิเก รับเด็กด้อยโอกาสและเด็กกำพร้าในพื้นที่เข้ามาอยู่เพื่อหัดลิเกไปพร้อมๆ กับเรียนรู้การใช้ชีวิต

“ตอนนี้ก็มีเด็กออทิสติก 1-2 คน มาเรียนด้วย เราก็ภาคภูมิใจที่สามารถสอนให้เขามีความสุขมากได้ นอกจากสอนเด็กแล้ว ปกติจะทำขนมขายช่วงกลางวัน ส่วนตอนกลางคืนก็จะไปสอนคนแก่ที่กลุ่มชาวบ้านมาขอให้ไปฝึก เราก็จะไปเป็นจิตอาสาให้”

จากที่ได้รางวัลต่างๆ มา ทำให้ “ครูเผ” ที่เป็นครูจิตอาสาไม่ได้สังกัดโรงเรียน ต้องวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบเหมือนครูประจำการ เริ่มตั้งแต่ฝึกพื้นฐาน การรำ การร้อง และการแสดง ส่วนมากเน้นให้เด็กรำ ร้องเป็น เพื่อไปใช้ในการเรียนในโรงเรียน เพราะถ้าเด็กมีทักษะศิลปะด้านนี้ก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น

ครูเผ บอกว่า หัวใจสำคัญของการสอนเด็ก คือ การเปลี่ยนภาระของสังคมให้เป็นพลัง ลดปมด้อยของเด็กกำพร้าให้เกิดปมเด่นขึ้นมาและพัฒนาเป็นอาชีพเขาได้ การสอนจึงไม่มีกฎเกณฑ์ สอนตามลักษณะของเด็ก หลักๆ ต้องการให้เขาคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น คือ กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ ที่สำคัญต้องการให้เด็กถ่ายทอดส่งต่อท่ารำและศิลปะต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

_________________

“เราไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องมาเป็นลิเกหรือมาเดินเส้นทางนี้
แต่ลิเกช่วยเขาเป็นคนดีได้ในช่วงที่เขาไม่มีอะไรทำ
เพราะการฝึกลิเกเป็นการฝึกให้เขาเรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิต
อย่างถูกต้องมันซ่อนอยู่ในเรื่องที่เขาเล่น
ทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความถูกต้อง
การเคารพผู้ใหญ่ ความกตัญญู
ทั้งหมดผมไม่ได้สอนเด็กให้เขาเรียนอย่างเดียว
แต่ผมให้เขาเป็นรุ่นพี่เพื่อไปสอนรุ่นต่อๆ ไปด้วย
เพื่อให้เขารู้จักการให้”

_________________

แรงบันดาลใจที่ทำให้ครูท่านนี้อุทิศชีวิตเพื่อสอนลิเกกับเด็กด้อยโอกาส เพราะเคยเป็นเด็กกำพร้าอยู่อย่างยากลำบากมาก่อน ขาดแคลนทุกด้านรวมทั้งความอบอุ่นจากครอบครัว แต่ได้โอกาสจากครูแนะแนวโรงเรียนมัธยมให้เข้าไปอยู่ด้วยในบ้าน ทั้งส่งเสียเลี้ยงดู พุ่งเป้าชีวิตให้เป็นครูจนปัจจุบัน

“ผมอยากให้ทุกคนรู้ว่า การได้รับมาตลอด กับการให้ มันต่างกัน สมัยเด็ก เราได้รับโอกาสจากคนอื่นมามากเพราะเราเป็นเด็กที่ด้อยกว่าคนอื่นเป็นเด็กกำพร้า  ตอนเด็กๆ เรายังเคยลักขนมในร้านเอามากิน  ครูก็อยากจะเอามาเติมเต็มเด็กที่ด้อยโอกาสว่า จะต้องไม่ทำมา ต้องมาเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ”

ครูเผบอกความรู้สึกว่า อยากตอบแทนแผ่นดินด้วยการใช้ชีวิตสอนตรงนี้ นี่คือความภูมิใจอีกอย่างคือ การที่ได้เห็น เด็กกำพร้ามีชีวิตที่ดีขึ้นจากที่สอนลิเกให้เขา ลึกกว่านั้น คือ รอยยิ้มจากผู้ปกครองและคนสูงวัยที่เราไปสอนเด็กที่อยู่กับครู ผู้ปกครองจะมีความสุขมากเพราะเขาไม่ต้องห่วงลูกหลานของเขา อีกอย่างเวลาที่ลูกหลานเขาแสดง เขาก็ดูอย่างมีความสุขนั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็นมาก

ตลอด 25 ปี ครูมีคุณูปการต่อการศึกษาไทยท่านนี้สอนเด็กให้เล่นลิกามาแล้วหลายร้อยคน เด็กที่ถูกสอนส่วนมากก็ไม่เคยทิ้งครู เมื่อเติบโตไปไปทำงานอื่น เช่น เทศบาล ก็กลับมาช่วยสอนลิเกให้กับเด็กเป็นทีมงานร่วมกับครูสะเทื้อนส่งต่อการสอนลิเกไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ติดต่อมาให้ช่วยฝึก

เป้าหมาย และความฝันของครูเผ คือ อยากให้เด็กด้อยโอกาส เป็นเด็กที่ได้โอกาสที่ความดี การแสดงของเด็กเอง และอยากให้เขาเป็นผู้ให้กับสังคม

รางวัลที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ แม้จะเป็นความภาคภูมิใจ แต่คงไม่เท่ากับความภูมิใจที่เห็นศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าก้าวหน้าไปในสาขาวิชาชีพต่างๆ อย่างเป็นคนดี ซึ่งทำให้ครูสะเทื้อนหายเหนื่อยกับการขวนขวายที่จะช่วยกันหารายได้มาจุนเจือบ้านครอบครัวผู้สืบทอดศิลปะพื้นบ้าน “บ้านแห่งการเรียนรู้” บ้านที่มีครูเผเป็นพ่อดูแลลูกๆ ทุกคนเปรียบเสมือนคนครอบครัวเดียวกัน

กล่าวได้ว่า “ครูเผ” ที่ใช้ลิเกสอนคน มีส่วนช่วยให้เด็กด้อยโอกาส มีความรู้และสามารถใช้ศิลปะการแสดงสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ไม่ให้ขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะจะนำมาสู่ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาความแตกแยกในสังคม และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย