การหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กไทยนับเป็นความสูญเสียทั้งต่อตัวเด็กที่พลาดโอกาสเรียนรู้นำวิชาไปใช้ประกอบอาชีพสร้างเงินสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวในอนาคต อีกด้านยังทำให้ประเทศสูญเสียบุคลากรที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ การหาทางช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มเด็กในวัยเรียนให้กลับเข้าสู่ระบบจึงนับเป็นอีกเรื่องเร่งด่วนที่ควรรีบดำเนินการ
ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Thai Out of School (thai oosc) เปิดเผยว่า แอปพลิเคชัน Thai Out of School ระบบหลักประกันโอกาสทางสังคมเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อให้คนในพื้นที่สำรวจ และจัดบริการให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาในแต่ละจังหวัด ด้วยข้อมูล ตั้งต้นจากที่ไปนำเอาฐานข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์มาลบออกด้วยฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่จะรวมนักเรียนทุกสังกัด
ดังนั้น เด็กที่เหลืออยู่ก็คือเด็กที่ไม่ได้สังกัดใด ๆ ข้อมูลตรงนี้ก็จะเป็นข้อมูลสำหรับการตั้งต้นเพื่อลงไปในพื้นที่ และดูที่อยู่ในทะเบียนราษฏร์ สำหรับการสำรวจ หากเจอตัวก็จะสอบถามสภาพปัญหา ว่าทำไมไม่ไปเรียน เช่น พิการ ไม่มีเงิน เจ็บป่วย หรือไม่อยากเรียน ซึ่งจะถามว่าช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
ทั้งนี้ ในแง่การเตรียมการให้ความช่วยเหลือก็จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้มาจัดบริการให้เขาตามกฎหมายที่ภาคีที่มีอยู่ เช่น การบริการทางสังคม บริการทางสุขภาพ หรือบริการท้องถิ่นซึ่งจะช่วยปรับสภาพบ้าน
ดร.วรลักษณ์ กล่าวว่า หากเด็กระบุว่า ต้องการเรียนต่อ ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังงานบริการด้านการศึกษา หากเด็กระบุว่าอยากเรียนสายอาชีพก็จะส่งต่อให้หน่วยงานที่ฝึกอาชีพ เช่น การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด
ทั้งนี้ ในพื้นที่จะมีเคสเมเนเจอร์ คนที่ทำหน้าที่ประสานงานภาคีต่าง ๆ ในพื้นที่ คอยมอนิเตอร์เด็กเป็นรายบุคคลว่าได้รับความช่วยเหลือ ตามแผนการดูแลที่ได้ระบุไว้แล้วหรือยัง
.
ดร.วรลักษณ์ กล่าวว่า ประโยชน์ของแอปพลิเคชั่นนี้ คือ
1. ทำให้เด็กได้รับความช่วยเหลือเป็นรายบุคคลเหมาะกับความต้องการของเขา
2.ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ บริการจะถูกนำมาทำภาพรวมของพื้นที่ เพื่อให้เห็นว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาของเด็กนอกระบบที่ไม่ได้ไปโรงเรียนมีอะไรบ้าง เช่น เด็กเร่ร่อน ติดยาเสพติด พิการ หรือ กำพร้า
เมื่อรู้สถานการณ์แล้ว ก็จะเห็นว่าปัญหาเด็กกลุ่มนี้ต้องการให้ความช่วยเหลืออะไร ซึ่งจะทำให้แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นภาพที่ตรงกัน และนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสำรวจเพิ่งเริ่มต้นไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่ 20 จังหวัด อาทิ จังหวัดนครนายก ยะลา กาญจนบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น โดยมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่หลายกลุ่มเป็นผู้ช่วยดำเนินการ ทั้ง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่จะเป็นอาสาสมัครมาร่วมดำเนินการ ซึ่งน่าจะสำเร็จในส่วนของการสำรวจข้อมูลอีกประมาณ 2 เดือน
ดร.วรลักษณ์ อธิบายว่า หากไปลงพื้นที่แล้วไม่พบบ้านก็จะมีช่องให้กรอกว่า ไม่พบตัวบ้านตามเลขที่บ้านที่ระบุ หรือพบบ้านไม่พบตัวเด็ก หรือ เด็กไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะมีตัวเลือกให้กรอกในแอป ฯ หากเด็กให้ความร่วมมือก็จะกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ และจะมีการประชุมภาคีสหวิชาชีพ เพื่อให้สหวิชาชีพลงไปทำเคสและเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา