ในเวที “ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง”เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ กับผู้บริหาร ครู อาจารย์สถานศึกษาสายอาชีพ และนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) ณ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2562 จบลงอย่างสนุกสนานคับคั่งด้วยสาระความรู้สอดแทรกเข้าไปกับกิจกรรมมากมาย
ตลอดระยะเวลา 2 วัน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ปานเพชร ชินิทร คณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รศ.ดร.สันติ ตันตระกูล ผู้ทรงคุณวุฒิ ผศ.ดร.สมชาย หมื่นสายญาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ดร.ณรงค์ มั่งคั่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ นายแสวง ทาวดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน และนายวัชรพงศ์ ฝั้นติ๊บ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลำพูน ต่างคลุกคลีร่วมวงกิจกรรมกับนักศึกษาอย่างใกล้ชิด
กิจกรรมในวันนี้ กลุ่มนักศึกษาร่วมทำกิจกรรมสร้างความรู้จัก กสศ. ผ่านการเป่าลูกโป่งสีขาวและเขียวแล้วนำมาประดิษฐ์เป็นคำว่า กสศ. ซึ่งวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.วิทยาลัยเทคนิคลำพูน 2.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน และ3.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ต่างมุ่งมั่นสามัคคีทำจนสำเร็จตามเวลาที่กำหนด หลังจากได้ตัวอักษรครบแล้ว วิทยากรจึงให้นักศึกษาเขียนความรู้สึกลงบนลูกโป่งสีเขียว แสดงความรู้สึกถึง กสศ. หลายคนจับปากกาบรรจงเขียน เช่นข้อความว่า ‘ขอบคุณที่ทำให้เด็กด้อยโอกาสได้โอกาส’ ‘ขอบคุณพี่ๆที่มาให้ความรู้ในระยะเวลาตลอด 2 วัน’ ‘ขอบคุณสำหรับโอกาสทางการศึกษาที่ทำให้ผมมีการศึกษาในวันนี้’ ฯลฯ
ส่วนลูกโป่งสีขาวเขียนความรู้สึกถึงครู อาจารย์ เช่น ‘ขอบคุณครูขวัญวิมาร ครูดุจดวงตา’ ‘ขอบคุณครู’ฯลฯ เมื่อเขียนเสร็จนักศึกษาทุกคนจะนำลูกโป่งใบนั้นไปให้คนที่นักศึกษาอยากมอบให้มากที่สุด
ในช่วงสุดท้ายกิจกรรมเวทีฯนี้ นพ.สุภกร กล่าวทิ้งท้ายก่อนปิดกิจกรรมว่า หลังจากนี้ขอให้นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเริ่มวางแผนชีวิต ขอให้เด็กๆตั้งเป้าหมายชีวิตและพยายามทำไปให้ถึงจุดหมาย เช่นเดียวกับอาจารย์ที่กำลังจะสร้างชีวิตเด็กทุกคน เรามีนักเรียนทุนฯรุ่น1 จำนวน 2,053 คน ถือเป็นครอบครัวใหญ่มาก
“ถ้าเด็กเหล่านี้ประสบความสำเร็จถือว่ากลุ่มใหญ่และเกิดประโยชน์มาก ทั้งจะทำให้การเรียนสายอาชีพได้รับการยอมรับจากสังคม ถ้าเราทำสำเร็จ ต่อไปครอบครัวมีคนนับหมื่น ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา และเป็นความสำเร็จในการยอมรับสายอาชีพของสังคมในไม่ช้า” นพ.สุภกร กล่าว