Man v(alue)s Machine ถึงเวลารู้ค่ากลไก พัฒนาทักษะเพื่องานในยุคดิจิทัล
โดย : ภัทรธิดา ไทยอุส่าห์
ภาพประกอบ : ภาพิมล หล่อตระกูล

Man v(alue)s Machine ถึงเวลารู้ค่ากลไก พัฒนาทักษะเพื่องานในยุคดิจิทัล

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของเศรษฐกิจ หากทักษะของคนงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและความไม่สมดุลในตลาดแรงงานอาจทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถบรรลุศักยภาพได้ เป็นเหตุให้มนุษย์มีการพัฒนาและปรับตัวให้คุ้นชินกับการใช้ชีวิตในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หุ่นยนต์ เทคโนโลยี 3 มิติ และความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) ล้วนแต่เป็นแรงผลักดันที่ส่งผลต่อทุกด้านของชีวิต อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างมุมมองใหม่ในการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนกับโลกและสิ่งต่างๆ รอบตัว นอกจากนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบต่องานและทักษะในการทำงานของผู้คนนับล้าน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้มีความสามารถด้านดิจิทัลที่ทันสมัย และปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีส่วนร่วมของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงถือเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

101 จึงชวนมองประเด็นนี้ ผ่านงานเสวนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อ ‘งานแห่งอนาคตและความท้าทายสำหรับ TVET: ข้อคิดจากโปรแกรมฝึกอบรมของ RECOTVET ในประเทศอาเซียน’ (Future of jobs and the challenge for TVET: Insights from RECOTVET training programs in ASEAN) ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ชวนมองการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติที่อุตสาหกรรมต้องการจากแรงงานที่มีทักษะ รวมถึงตอบคำถามว่าการฝึกวิชาชีพจะสามารถแก้ไขปัญหาในอนาคตของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้อย่างไร


อุตสาหกรรม 4.0 กับทักษะใหม่ของการศึกษาสายอาชีพ


ศ.ดร.จอร์จ สปอตเทิล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยี งานและอาชีวศึกษา (Center of Technology, Work and TVET) ประจำมหาวิทยาลัยเบรเมน ประเทศเยอรมนี เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ก่อให้เกิดความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นในสถานที่ทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยได้ยกตัวอย่างว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว คู่มือซ่อมแซมรถยนต์มีจำนวนหน้าเพียงไม่ถึงพันหน้าเท่านั้น แต่ในปัจจุบันคู่มือซ่อมแซมรถยนต์ได้เพิ่มจำนวนหน้าเยอะมากถึง 13,866 หน้า เนื่องจากเริ่มมีการบูรณาการของสหวิชาพื้นฐานการวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมระบบและควบคุม อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือที่เรียกว่า เมคคาทรอนิกส์ (mechatronics) รวมถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีระบบดิจิทัลเป็นระบบพื้นฐานของชีวิต

“ผู้ที่ทำหน้าที่ช่างจะต้องฝึกอบรมให้รับมือกับความซับซ้อนของการทำงานของรถยนต์ ดังนั้นในปัจจุบันการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพขึ้นจากกระบวนการทำงานในสถานที่ทำงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง”

งานวิจัยล่าสุดในประเทศเยอรมนีเผยว่าในอนาคตจะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 3 ล้านอาชีพ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะต้องมีการฝึกอบรมคนงานให้เข้ามาทำอาชีพใหม่ ที่เป็นผลมาจากการการเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ที่กำลังเกิดขึ้น

ศ.ดร.จอร์จ สปอตเทิล กล่าวถึงผลกระทบของอุตสาหกรรม 4.0 ว่าเป็นสถานการณ์ใหม่สำหรับลูกจ้าง เนื่องจากลักษณะงานและเวลาทำงานจะมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น เวลาในการส่งมอบงานก็จะสั้นลง นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลให้กลุ่มแรงงานที่มีทักษะมีการตัดสินใจร่วมกันที่ดีขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คนงานยังต้องรับมือกับการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมถึงการควบคุมกระบวนการต่างๆ ให้สมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับลูกจ้าง

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) วิเคราะห์ว่าแรงงานที่ทำงานด้านอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า เช่น โรงงานการผลิตในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามกว่า 60% มีความเสี่ยงสูงจากการถูกแทนที่ด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ (automation)

“งานที่ใช้ทักษะต่ำหรือไร้ทักษะจะได้รับผลกระทบ งานมีการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นกิจวัตรเป็นหลักจะมีการใช้คอมพิวเตอร์มาทำงานแทน ผู้มีทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะตกงาน แต่การใช้ระบบดิจิทัลก็อาจจะส่งผลในเชิงบวกสำหรับบริษัทที่มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรม 4.0 ในเชิงลึก”

ผลสำรวจเกี่ยวกับแนวโน้มต่างๆ ในกลุ่มบริษัทสัญชาติเยอรมันที่ใช้เทคโนโลยีในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจชี้ให้เห็นว่า หากบริษัทมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในอุตสาหกรรม 4.0 จะมีการจ้างงานในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ เช่น ช่างฝีมือ เจ้าหน้าที่เทคนิค และงานกึ่งวิศวกร เพิ่มขึ้นสูงถึง 20-30% ดังนั้นแรงงานที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ วิชาชีพขั้นสูง หรือด้านวิศวกรรมที่ได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ย่อมมีแนวโน้มที่จะได้งานที่ดีและมีโอกาสก้าวหน้าในสายงานสูงมาก

ศ.ดร.จอร์จ อธิบายว่าบทบาทของแรงงานที่ต้องใช้ทักษะจะเปลี่ยนแปลงไป คนงานจะต้องสามารถดำเนินงานร่วมกับทีมที่ประกอบไปด้วยระบบ เครื่องยนต์กลไก และวิศวกรการผลิตได้ ซึ่งปัญหาที่มักจะพบก็คือคนงานที่ไม่มีทักษะเพียงพออาจจะไม่เข้าใจภาษาทางวิชาการหรือศัพท์เทคนิคของวิศวกรที่เชี่ยวชาญได้ ดังนั้นจึงมีเงื่อนไขของทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม 4.0 คือคนงานต้องมีความสามารถในการทำความรู้จักกับโครงสร้างของเครือข่าย เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างเชี่ยวชาญ เรียนรู้วิธีการทำงานกับรูปแบบข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงทำความเข้าใจและพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของทางเลือกทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ อีกด้วย

การทำให้อุตสาหกรรม 4.0 มีความยั่งยืนต้องอาศัยมิติ 3 ประการ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล งาน และนัยทางสังคม หากนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรล้าสมัยมาใช้ในโรงงาน หรือนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับกระบวนการต่างๆ ให้เป็นระบบควบคุมอัตโนมัติ ให้เทคโนโลยีเป็นตัวนำและควบคุมทุกอย่าง โดยมนุษย์มีหน้าที่ต้องทำตาม ไม่มีการพูดคุยกัน ความสามารถของแรงงานทักษะสูงอาจถูกจำกัดได้ แต่ถ้าหากนำระบบต่างๆ มาพัฒนาและปรับใช้ในฐานะเครื่องมือช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนแรงงานทักษะสูง โดยมีมนุษย์เป็นผู้ออกแบบกระบวนการทำงานและเป็นผู้ที่รับผิดชอบในภาพรวม ก็จะถือว่าอุตสาหกรรม 4.0 นั้นมีความยั่งยืนในทั้ง 3 มิติ

“ในทุกพื้นที่ทั่วโลกและทุกภาคส่วนของสังคม เราจำเป็นต้องเริ่มดำเนินโครงการสำหรับการสร้างพันธมิตรด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการเรียนรู้ พันธมิตรเหล่านี้ควรมีเจตนาที่จะสร้างความมั่นใจว่า การพึ่งพาอาศัยกันทั้งหมดในชีวิตของเรานั้นจะเน้นไปที่การมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (technical and vocational education and training – TVET) ให้เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มาเป็นตัวชี้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”

โครงการ RECOTVET ได้ดำเนินการฝึกอบรมผู้ขยายผลโดยใช้การพัฒนาการเรียนรู้ผ่านงานที่ได้รับมอบหมาย (learn and work assignments) โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรม 4.0 และมีการวางแผนบทเรียนและการใช้แนวทางการสอนแบบมัลติฟังก์ชัน เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่มีต่ออุตสาหกรรมที่เน้นระบบดิจิทัลเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพสำหรับครูสอน TVET เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 อีกด้วย

ในช่วงท้าย ศ.ดร.จอร์จ ได้กล่าวถึงกล่องเครื่องมือ (toolbox) ที่ใช้ในการช่วยเหลือให้ผู้สอนในศูนย์ TVET ดำเนินการสอนอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิผลมากขึ้น โดยเน้นที่ 6 หัวข้อดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมวัฒนธรรมคุณภาพและการทำงานเป็นทีมที่สถาบันอาชีวศึกษา

2. ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการเรียนรู้และการสอนของสถาบัน TVET

3. สร้างตัวชี้วัดที่มุ่งเน้นถึงคุณภาพ และสร้างมาตรฐานสำหรับการพัฒนาคุณภาพ

4. วิธีการสอนในห้องเรียนให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

5. ประเมินผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ ใช้เครื่องมือในการประเมินในห้องเรียน

6. ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา


พัฒนากำลังคน สู่การสร้าง ‘แรงงานระดับโลก


รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายถึงปัญหาในการขับเคลื่อนประเทศว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางมานานถึง 43 ปี โดยได้อ้างอิงรายงานจากธนาคารโลกที่ให้ข้อมูลว่า ประชากรไทยในปี 1976 มีรายได้ประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับมาเลเซีย แต่มากกว่าจีนที่มีรายได้ต่อหัวประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประชากรไทยในปี 2020 มีรายได้ประมาณ 7,260 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมาเลเซียและจีนมีรายได้ต่อหัวประมาณ 10,410-11,200 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (World Competitiveness Center) โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (The International Institute for Management Development – IMD) ประจำปี 2021 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 จากทั้งหมด 64 ประเทศ ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าประเทศในอาเซียนด้วยกัน เช่น มาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 25 และสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 5

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนความสามารถในการแข่งขัน หากประเทศไทยต้องการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศอุตสาหกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาทักษะที่สำคัญเพื่อสร้างแรงงานระดับโลกให้ได้ โดยทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการในระดับโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ และความยืดหยุ่นทางปัญญากลายมาเป็นทักษะสำคัญในปัจจุบัน

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ชี้ให้เห็นว่าแรงงานกว่า 50% ในโลกต้องได้รับการพัฒนาทักษะใหม่ภายในปี 2025 และในอีก 5 ปีข้างหน้า 40% ของทักษะหลักที่เป็นที่ต้องการก็จะมีความเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เนื่องจากการจ้างงานในอนาคตจะขึ้นอยู่กับทักษะทางเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ การเรียนรู้เชิงรุก ความเป็นผู้นำ และความอดทนต่อความเครียด

“จะต้องมีการเพิ่มทักษะและเสริมทักษะใหม่เหล่านี้ให้กับนักศึกษาหรือบัณฑิตในอนาคตอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบโจทย์และเกื้อหนุนให้พวกเขามีทักษะที่มีคุณภาพในอนาคตให้ได้”

ในปี 2020 อัตราการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติอยู่ที่ 33% แต่ภายในปี 2025 จะเพิ่มเป็น 47% เนื่องจากจะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้น และงานอื่นๆ จะถูกแทนที่โดยมีการแบ่งงานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร ซึ่งส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นในด้านงานวิเคราะห์ข้อมูล ความเชี่ยวชาญด้าน AI และความเชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล เพราะเป็นทักษะที่เครื่องจักรไม่สามารถทำเองได้

ในรายงานทักษะการทำงานโลกประจำปี 2564 (Global Skills Reports 2021) ของบริษัท Coursera ซึ่งแสดงข้อมูลสถานะทักษะการทำงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ข้อมูล จาก 108 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 76 โดยมีการเริ่มเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล 46% และเทคโนโลยี 39% ส่วนทักษะด้านธุรกิจยังคงล้าหลังอยู่ที่ 19% แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะต้องเริ่มมีการขยับตัวและพัฒนาบุคลากรอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศให้ได้

ถ้าหากประเทศไทยผลักดันแค่อุตสาหกรรมเดิมๆ ประเทศก็จะไม่สามารถเติมโตได้ ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมที่ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา โดยจะต้องมีแนวคิดในการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างคนให้เป็นแรงงานฝีมือ แรงงานที่มีทักษะสูง นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการ ตามลำดับ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ

1. เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร การท่องเที่ยว และฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับการแพทย์ โครงข่ายคมนาคม และส่งเสริมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย

2. สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค – เสริมสร้างศักยภาพ SMEs วิสาหกิจ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ และลดความยากจนข้ามรุ่น

3. วิถีชีวิตยั่งยืน – พัฒนาพลังงานหมุนเวียน และลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

4. ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ – ภาครัฐทันสมัย ระบบการศึกษาและพัฒนาฝีมือแรงงานมีคุณภาพ

“หมุดหมายทั้งหมดที่เราจะต้องพัฒนาแรงงานคนให้ได้นั้น เป็นหน้าที่หลักของสถาบันการศึกษาในการผลิตกำลังคนให้มีศักยภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอนาคต ระบบการศึกษาจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนเพื่อจะสนับสนุนคนทุกช่วงวัย”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมี ‘แผนพัฒนากำลังคนแห่งชาติ’ ซึ่งประกอบด้วยแผนงาน 4 ด้านหลัก คือ

1. university-industry link curriculum – สร้างหลักสูตรพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรม

2. brain circulation – นำคนที่มีความรู้ความสามารถทั้งในและนอกประเทศ เข้ามาหมุนเวียนเพื่อช่วยในการผลักดันและยกระดับความสามารถของบุคลากรของประเทศให้เร็วยิ่งขึ้น

3. entrepreneurial university – ผลักดันมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาและบัณฑิตคิดที่จะเป็นผู้ประกอบการ

4. live long learning – ผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ มองว่าสถานการณ์ที่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องเผชิญนั้นนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งปัญหาเรื่องอัตราการเกิดลดลงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการศึกษาเนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมาย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อของนักศึกษา รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีถูกจำกัดด้วยความสามารถทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ก็เป็นปัญหาที่ทำให้สถาบันการศึกษาไม่ปรับตัวและผลิตบัณฑิตที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดออกมา

“สิ่งที่เราต้องการจะสร้างก็คือแรงงานระดับโลก (global worker) ให้นักศึกษาในประเทศสามารถทำงานได้ทั่วโลก ไม่จำเป็นจะต้องทำงานเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อตอบสนองอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เราต้องคัดสรรนักศึกษาที่มีคุณภาพ และผลิตการศึกษาที่มีคุณภาพไปพร้อมกัน”

จากตอนต้นที่ได้กล่าวถึงปัญหาว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังติดกับดักรายได้ปานกลางมานานถึง 43 ปีนั้น รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขว่าจะต้องมุ่งไปช่วยรากหญ้าและชุมชนให้มากขึ้น ทั้งนี้ยังต้องปรับปรุงระบบการบริหาร กลไกการเงินและงบประมาณ พัฒนาระบบการผลิตบัณฑิตคุณภาพสูง พัฒนาคุณภาพนักศึกษาและทักษะทางอาชีพ รวมถึงพัฒนาระบบการวางแผนด้านกำลังคน ปฏิวัติระบบการศึกษาไทยเพื่อให้ประเทศมีความเข้มแข็งและพร้อมจะก้าวไปสู่โลกาภิวัตน์ หรือการมีแรงงานระดับโลกได้

“ระบบการศึกษาทุกวันนี้แค่เรียนหนังสือ (studying) ไม่ได้แล้ว แต่ต้องเรียนรู้ (learning) ด้วย อาจารย์เองก็ต้องเป็นผู้สร้างระบบการฝึกสอน (coaching) ไม่ใช่เป็นแค่วิทยากร (lecturer) เพื่อช่วยกันปฏิวัติระบบการศึกษา และสร้างกลไกให้ก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ”

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ทิ้งท้ายด้วยการอธิบายถึงโครงการหนุนเสริม สนับสนุนวิชาการ ติดตาม และประเมินผลการทำงาน ให้แก่สถานศึกษาสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นโครงการของ กสศ. โดยมุ่งเน้นให้ความดูแลใน 3 ด้าน ได้แก่

1. การดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุนให้สามารถเรียนจบตามกำหนดเวลา

2. การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูง

3. การส่งเสริมการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา

ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกให้ทุนสำหรับนักเรียนในสายวิชาชีพ โดยมีหน้าที่คือตรวจสอบความพร้อมของสถาบันการศึกษาที่ให้ทุนลงไป โดยมีมาตรฐานว่าจะต้องเป็นสถาบันที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต เพราะถ้าให้ทุนกับสถาบันที่ไม่พร้อม อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่มุ่งหวังไว้ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังมีการประเมินสมรรถนะวิชาชีพอย่างชัดเจน เพื่อให้บัณฑิตสามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ รวมถึงให้ทุนกับคนที่มีความรู้ความสามารถแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดศักยภาพของการทำงานและผลิตกำลังคน และเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world