ความเสมอภาคทางการศึกษา The Great Gatsby Curve และทุนมนุษย์ของไทย
โดย : วิมุต วานิชเจริญธรรม
ภาพ : ภาพิมล หล่อตระกูล

ความเสมอภาคทางการศึกษา The Great Gatsby Curve และทุนมนุษย์ของไทย

ในช่วงวันที่ 10-11 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมานี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย องค์กรการศึกษา ยูเนสโก, องค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลก ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปวงชนเพื่อการศึกษา” ขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนจากงานวิจัยโดยนักวิจัยชั้นนำด้านเศรษฐศาสตร์และด้านการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งหวังจะกลั่นกรององค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นนโยบายเชิงปฏิบัติที่สร้างให้เกิดความเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า

ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาเกิดจากความไม่เท่าเทียมของโอกาสในชีวิต เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนอาจไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับชีวิตการทำงานในอนาคตได้เท่าเทียมกับเด็กๆ ที่เกิดในครอบครัวร่ำรวย

พูดอีกอย่างคือ ‘ความไม่เท่าเทียมในโอกาส’ เปรียบเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นมิให้พวกเขาก้าวข้ามความยากจน และไม่สามารถเลื่อนเศรษฐานะให้สูงขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ได้ ซ้ำร้ายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่ย่ำฐานอยู่กับที่ ยังตกทอดต่อไปยังรุ่นลูกหลาน จนกลายเป็นสภาพสังคมที่คนรุ่นหลังไม่อาจก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้มากกว่าคนรุ่นก่อน หรือที่เรียกว่า Intergenerational immobility

อลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้นำประเด็นนี้มากระตุ้นชาวอเมริกันให้ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมผ่านปาฐกถาที่ Center for American Progress เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2012

ในปาฐกถาครั้งนั้น ครูเกอร์ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการขาดโอกาสที่จะก้าวข้ามเศรษฐานะของบุพการีกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยหยิบยกข้อค้นพบจากงานวิจัยของไมลส์ คอแร็ก (Miles Corak) มาประกอบเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์

ในงานวิจัยของคอแร็กนั้นได้นำข้อมูลเงินได้ของรุ่นพ่อกับรุ่นลูกจากนานาประเทศ มาหาความสัมพันธ์ในทางสถิติ และประมาณค่าออกมาเป็นตัวชี้วัดอุปสรรคในการขยับเศรษฐานะของรุ่นลูก เรียกว่า “ค่าความยืดหยุ่นของรายได้ต่างรุ่นอายุ (Intergenerational earning elasticity)” ความยืดหยุ่นนี้มีค่าระหว่าง ศูนย์กับ 1 โดยหากความยืดหยุ่นมีค่าใกล้ 1 มากเท่าใด ยิ่งสะท้อนถึงเศรษฐานะที่ย่ำฐานอยู่ระดับเดิม นั่นหมายความว่า ลูกหลานของครัวเรือนที่ยากจนก็จะยังคงยากจนไม่เปลี่ยนแปลง

จากแผนภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่าคู่ลำดับของค่าความยืดหยุ่น (แสดงค่าบนแกนตั้ง) กับดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำ (ดัชนีจีนี่) เรียงตัวกันอยู่เป็นแนวรอบเส้นตรงที่ลาดชันขึ้น บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงตามกัน กล่าวคือ คนในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในรายได้สูง จะมีความลำบากในการยกเศรษฐานะให้ก้าวข้ามระดับของบุพการี ในทางกลับกันประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ลูกหลานของครอบครัวที่มีฐานะยากจนจะมีโอกาสสูงที่จะมีเศรษฐานะมั่งคั่งกว่าบุพการี

แผนภาพที่ 1 The Great Gatsby Curve

ที่มา Becker, Kominers, Murphy and Spenkuch (2018)

ข้อค้นพบของคอแร็ก ชี้ให้เห็นว่าประเทศสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และประเทศอิตาลี เป็นประเทศในกลุ่ม OECD ลำดับต้นๆ ที่มีความเหลื่อมล้ำในรายได้สูงและมีค่าความยืดหยุ่นของรายได้ต่างรุ่นอายุมากเช่นกัน

อลัน ครูเกอร์นำรูปกราฟนี้มาใช้ในปาฐกถาของเขา โดยเรียกขานรูปนี้ว่า “The Great Gatsby Curve” ล้อกับชื่อวรรณกรรมอมตะของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) ซึ่งเล่าเรื่องราวของ หนุ่มอเมริกันจากครอบครัวยากจนที่สร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายมาเป็นมหาเศรษฐี

พล็อตของนิยายเรื่องนี้สอดรับกับภาพฝันของชาวอเมริกัน (American dream) ที่เชื่อว่าทุกชีวิตที่เกิดบนแผ่นดินอเมริกานั้น มีโอกาสที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวให้ร่ำรวยมั่งคั่งได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นการเรียกขานชื่อเส้นกราฟของครูเกอร์จึงไม่ต่างกับการปลุกคนอเมริกันในตื่นจากความฝันที่เพ้อเจ้อไม่เป็นจริง เพราะแผนภาพที่ 1 ฟ้องให้เห็นว่าการก้าวข้ามชีวิตคนจนขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมอเมริกา

ครูเกอร์ได้สื่องานวิจัยด้วยการอ้างอิงกับนวนิยายที่คนอเมริกันรู้จักกันดี และทำให้เส้นกราฟนี้เป็นโจทย์วิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องพากันหาหนทางแก้ไข เพื่อให้สังคมมีการยกระดับเศรษฐานะได้ง่ายขึ้น

มีงานวิจัยมากมายที่พยายามวิเคราะห์ต้นตอของ The Great Gatsby Curve แต่ผู้เขียนจะขอหยิบยกงานชื่อ “A theory of Intergenerational Mobility” ของแกรี เบคเกอร์ (Gary Becker) และคณะที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Political Economy ในปี ค.ศ. 2018 มาเล่าไว้ ณ ที่นี้

ในงานวิจัยของเบคเกอร์และคณะ ได้อธิบายว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคสมัยปัจจุบันกับ “ทุนมนุษย์” หรือ Human capital มีส่วนขัดขวางมิให้ครัวเรือนรายได้น้อยยกฐานะให้มั่งคั่งขึ้นได้

คำว่า ‘ทุนมนุษย์’ เป็นนามธรรมที่สะท้อนถึง องค์ความรู้ ทักษะและคุณลักษณะต่างๆ ของแรงงานซึ่งเป็นที่พึงประสงค์ในตลาดแรงงาน เหตุที่เรียกคุณลักษณะดังกล่าวว่า “ทุน” ก็เพราะว่า ทั้งองค์ความรู้และทักษะต่างมีความยั่งยืน คงทน ไม่เสื่อมค่าได้ง่าย (เช่นคนเราเมื่อมีทักษะในการขับรถ ก็จะไม่สูญเสียทักษะนั้นไปในเวลาสั้นๆ) นอกจากนี้การจะได้มาซึ่งทุนมนุษย์ต้องมีการ “ลงทุน” ไม่ว่าจะในรูปทรัพยากรหรือในรูปของเวลา (เช่น เพื่อให้ได้ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ แรงงานต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ฝึกฝนและต้องมีค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในทักษะดังกล่าว)

ทุนมนุษย์มีส่วนสำคัญในการอธิบายความเหลื่อมล้ำในรายได้สองประการคือ

หนึ่ง แรงงานที่มีระดับทุนมนุษย์สูงจะมีผลิตภาพในการทำงานสูงและจะได้รับผลตอบแทนจากการทำงานสูงตามไปด้วย ซึ่งครัวเรือนที่มีฐานะดีย่อมมีความพร้อมที่จะลงทุนในทุนมนุษย์ให้กับลูกหลานมากกว่าครัวเรือนที่ยากจน ดังนั้นลูกหลานของครอบครัวที่ร่ำรวยจึงประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานและมีแนวโน้มที่จะร่ำรวยมั่งคั่งต่อไป

สอง งานวิจัยของเบคเกอร์และคณะชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันสร้างผลตอบแทนที่เอื้อประโยชน์กับแรงงานทักษะสูงมากกว่าแรงงานด้อยทักษะ ดังนั้นผู้ที่มีระดับทุนมนุษย์สูงจึงเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้มากกว่า และมีรายได้ที่เพิ่มสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

ด้วยคำอธิบายทั้งสองข้อข้างต้น เราจะพบว่าลูกหลานของครัวเรือนยากจนต้องเผชิญกับกำแพงสูงที่ขวางกั้นไม่ให้พวกเขาเข้าถึงงานที่ให้ผลตอบแทนสูง ส่งผลให้เศรษฐานะของพวกเขาย่ำฐานอยู่ที่เดิมเฉกเช่นกับบุพการี

ธนาคารโลกได้พยายามสร้างดัชนีทุนมนุษย์ (Human capital index) ขึ้น โดยนำตัวชี้วัดต่างๆ ทางด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุขมาประมวลเป็นตัวบ่งชี้ระดับทุนมนุษย์ของแต่ละประเทศ โดยค่าตัวเลขดัชนีที่ประมวลได้นั้น บอกให้ทราบว่า เด็กแรกเกิดในวันนี้นั้น เมื่อถึงวัยที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต จะมีผลิตภาพมากน้อยเพียงใด โดยวัดออกมาเป็นสัดส่วนของผลิตภาพได้รับจากการพัฒนาเต็มศักยภาพ

ตัวชี้วัดที่นำมาใช้ประมวลค่าดัชนีทุนมนุษย์ได้แก่

1) โอกาสที่จะอยู่รอดถึงอายุ 5 ขวบ (Probability of survival to age 5)

2) จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ไม่มีปัญหาการเติบโตชะงักงัน (Children under 5 not stunted)

3) อัตราการรอดชีพของผู้ใหญ่ (Adult survival rate)

4) จำนวนปีในโรงเรียนที่คาดการณ์ (Expected years of schooling)

5) คะแนนจากการทดสอบที่แปลงเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (Harmonized test score) และ

6) จำนวนปีของการศึกษาที่ปรับด้วยความรู้ที่ได้จริงจากการเรียน (Learning-adjusted years of school)

ดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทยมีค่าเท่ากับ 0.6 ซึ่งหมายความว่าเมื่อเด็กแรกเกิดในวันนี้กลายเป็นแรงงานในอีก 18 ปีข้างหน้า เขา/เธอจะมีทุนมนุษย์เท่ากับร้อยละ 60 ของระดับทุนมนุษย์เต็มศักยภาพ มองในอีกด้านของเหรียญคือยังห่างจากระดับเต็มศักยภาพอยู่ ร้อยละ 40

ค่าดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทยจัดได้ว่าอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของโลก (เท่ากับ 0.57) แต่ก็ต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ (ซึ่งมีค่าดัชนีทุนมนุษย์เท่ากับ 0.9)

หากจะวิเคราะห์ถึงต้นตอที่ทำให้ค่าดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มคะแนนปานกลาง จะพบว่ามาจากตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา (ตัวชี้วัดที่ 5-6) เป็นสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยมีค่าของตัวชี้วัดด้านนี้น้อยกว่าด้านอื่นๆ กล่าวคือในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิการศึกษาฟรี 12 ปี มีส่วนช่วยให้ทุกครัวเรือนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษาพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน และทำให้ประเทศไทยได้คะแนนจากตัวชี้วัด 1-4 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาที่นำมาใช้คำนวณดัชนีทุนมนุษย์บ่งชี้ถึงคุณภาพที่ยังอ่อนด้อยของนักเรียนไทยโดยเฉลี่ย กล่าวคือ นักเรียนไทยโดยเฉลี่ยได้คะแนนจากการทดสอบที่แปลงเป็นมาตรฐานเดียวกัน เท่ากับ 436 คะแนน จากคะแนนสูงสุด 625 และจำนวนปีที่ปรับด้วยความรู้ที่ได้จริงจากการเรียนมีค่าเท่ากับ 8.6 ปี ซึ่งต่ำกว่าจำนวนปีสูงสุดของการศึกษาพื้นฐานคือ 14 ปี คะแนนจากตัวชี้วัดทั้งสองนี้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับคะแนนเฉลี่ยของโลก ซึ่งยังห่างไกลจากระดับของการพัฒนาเต็มศักยภาพ นั่นหมายความว่า จำนวนเวลาเรียนที่ลงทุนไปเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์นั้น ให้ผลตอบแทนการลงทุนกลับมาต่ำกว่าที่ควร

ทั้งธนาคารโลกและนักวิชาการไทยต่างได้เคยวิเคราะห์ผลสอบที่ผ่านมาจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for international student assessment หรือ PISA) เพื่อค้นหาสาเหตุที่ประเทศไทยได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 ด้านคือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐานะมีความเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา กล่าวคือ คะแนนสอบในด้านวิทยาศาสตร์และด้านการอ่านของกลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีเศรษฐานะในกลุ่ม 20% บนสุด มีค่าสูงกว่านักเรียนที่มาจากครัวเรือนที่มีเศรษฐานะในกลุ่ม 20% ล่างสุด และช่องว่างระหว่างผลคะแนนทั้งสองด้านนี้ มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงปีหลังๆ

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาทุนมนุษย์นั้นมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และยิ่งทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษานั้นเป็นศูนย์กลางของการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น และส่งเสริมการยกระดับความเป็นอยู่ของครัวเรือนในระดับฐานรากของสังคม อย่างไรก็ดี การพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมในทุกพื้นที่และทุกระดับเศรษฐานะนั้นย่อมต้องใช้ทรัพยากรจากภาครัฐจำนวนมหาศาล เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ บางทีเราอาจต้องเริ่มต้นจากภาครัฐที่ตระหนักถึงความสำคัญของความเท่าเทียมกันในทุกมิติของสังคมก่อน


Gary Becker, Scott Kominers, Kevin Murphy and Jorg Spenkuch, “A Theory of Intergenerational Mobility” , Journal of Political Economy, vol. 126(S1), pp. 7-25

Miles Corak (2013), “Inequality from Generation to Generation:  The United States in Comparison,” in Robert Rycroft (editor), The Economics of Inequality, Poverty, and Discrimination in the 21st Century, ABC-CLIO.

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world