Think Like a Creative Teacher รวมเกร็ดคิดที่ทำให้ครูสอนอย่างสร้างสรรค์ จากงาน CES 2023

Think Like a Creative Teacher รวมเกร็ดคิดที่ทำให้ครูสอนอย่างสร้างสรรค์ จากงาน CES 2023

ยุคสมัยเปลี่ยนไป วิธีที่คนหนึ่งคนจะเรียนรู้ก็ต้องปรับตาม การเรียนที่เคยใช้ได้ผลกับคนรุ่นก่อนอาจไม่เหมาะสมกับเด็กรุ่นนี้อีกต่อไป

ในการประชุม CES 2023 ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาจากหลายวงการได้มานั่งสนทนา แบ่งปัน และถกเถียงกัน โดยเน้นไปที่ประเด็นการประยุกต์แนวทางการคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้กับการเรียนการสอน

นอกเหนือจากการคุยกันเรื่องนโยบาย มีหลายช่วง หลายประโยคที่เราในฐานะผู้ฟังคิดว่าเป็นสิ่งที่คนเป็นครูหยิบไปปรับใช้กับการสอนของตัวเองได้ ไม่ว่าจะสอนเด็กในระดับชั้นไหน เราขอสรุปมาให้ฟังดังนี้

จะเลือกทำไมในเมื่อทำทั้งหมดได้
False Dichotomies หรือ ทวิบถเท็จ คือการคิดว่าเราจำเป็นต้องเลือกการเรียนรู้แบบหนึ่งแล้วจะทำให้ด้านอื่นๆ ด้อยลง เช่น การออกแบบหลักสูตรให้ผู้เรียนมีความสุขจะทำให้ขาดความเอาจริงเอาจัง หรือการสนับสนุนความหลากหลายจะทำให้โรงเรียนขาดความเป็นเลิศ แต่แท้จริงแล้ว ครูควรคำนึงว่าสามารถทำไปพร้อมกันได้

เมื่อการท่องจำใช้ไม่ได้อีกต่อไป
นักคิดคนดังอย่าง กาลิเลโอ โสกราตีส และเพลโต้ ล้วนเป็นผลผลิตมาจากความใคร่รู้และความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่วิธีการเรียนการสอนในปัจจุบันเน้นให้ท่องจำ คนในวงสนทนาลงความเห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่ทำลายจิตวิญญาณความใคร่รู้และทักษะการแก้ปัญหาของเด็กๆ

ลดความเคร่งลงสักนิด
ทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็กอายุ 15 ปีโดยเฉลี่ยนั้นต่ำกว่าเด็กอายุ 10 ปีเสียอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคาดหวังของระบบการศึกษาที่บีบบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพราะฉะนั้น หากครูอยากให้เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์และมีนิสัยใคร่รู้ กฎระเบียบบางอย่างก็ควรถูกผ่อนปรนลง

การแยกแยะทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
ในยุคที่เรารับข้อมูลทั้งจากหนังสือเรียน สื่อการสอนออนไลน์​ หรือโซเชียลมีเดีย หลายคนมักประสบกับ ‘ภาวะภูเขาข้อมูลถล่ม’ (Avalanche of Information) ครูอาจารย์จึงควรสอนทักษะในการแยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกและผิด แยกข้อมูลที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ แยกข่าวจริงและข่าวปลอมให้กับเด็กๆ และควรนำบทเรียนที่เคยเรียนมาพูดคุยถกเถียงกันในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กลืมความรู้เหล่านั้น

เปลี่ยนคำถามและกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม
ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู แน่นอนว่าครูหลายคนจะคิดถึงอนาคตของเด็กๆ เป็นสำคัญ แต่แทนที่จะคิดถึงอนาคตเด็กด้วยการถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร วงสนทนา CES 2023 ชวนให้มุ่งทักษะในการปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อดีกว่า
นอกจากคำถามเรื่องอนาคต เด็กๆ ควรถูกกระตุ้นให้ตั้งคำถามต่อวิธีการเรียนการสอนแบบเดิมๆ และมีพื้นที่ที่ทุกคนมีส่วนในกระบวนการเรียนรู้ได้ ครูควรเชื่อมโยงแนวคิดประชาธิปไตยกับทักษะการคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน เพราะกว่าจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย ต้องพูดคุย ถกเถียง อภิปราย และเข้าใจมุมมองหลากหลาย ทำให้เด็กมีทักษะในการตั้งคำถามถึงสิ่งที่ถูกต้อง

ความคิดสร้างสรรค์ คือหนึ่งในเครื่องยนต์ที่ช่วยพัฒนามนุษย์
หลายคนผูกติดคำว่าความคิดสร้างสรรค์เข้ากับศิลปะและงานครีเอทีฟ แต่จริงๆ แล้ว ความคิดสร้างสรรค์คือหนึ่งในเครื่องยนต์ที่ช่วยสร้างคนให้เป็นคน เพราะเมื่อครูสอนให้เด็กๆ มีทักษะการคิดสร้างสรรค์ พวกเขาจะเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ปลดล็อกศักยภาพในตัวเอง แถมยังเปิดมุมมองอันกว้างขวาง โอบรับความหลากหลายและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ด้วย โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาควรสร้างคอมมูนิตี้ที่เป็นมิตรต่อความครีเอทีฟ ให้ผู้เรียนฝึกฝนตนเองได้ด้วยทรัพยากรที่ดีที่สุด

ก่อนที่เด็กจะสร้างสรรค์ ครูต้องฝึกคิดนอกกรอบให้ได้ก่อน
ตัวอย่างหนึ่งที่เราชอบมากของกรณีศึกษาการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เกิดขึ้นในโรงเรียนประถมศึกษาที่อังกฤษ แม้จะมีพื้นที่จำกัดแต่ครูใหญ่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เขาเห็นว่านอกรั้วโรงเรียนนั้นเป็นพื้นที่ 100 เอเคอร์ที่น่าสำรวจไม่น้อย เขาจึงทำเรื่องขยายส่วนของโรงเรียนเพิ่ม นำสัตว์บางชนิดที่เด็กๆ อยากเห็นเข้ามาเลี้ยงในแผ่นดินนั้น สอนเด็กให้เรียนรู้วิธีดูแลสัตว์อย่างถูกต้อง นี่คือตัวอย่างของการคิดนอกกรอบของครูที่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น