ทั่วโลกมีเด็กจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียน ทั้งด้วยข้อจำกัดด้านร่างกายอย่างความพิการหรือความแตกต่างในด้านอื่นๆ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา เพศ และความยากจน ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนมีสิทธิในการได้รับการศึกษาจากครอบครัวและชุมชนที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา มีสิทธิในการได้เรียนรู้และมีพัฒนาการที่เหมาะสมในแต่ละปี เด็กทุกคนควรจะได้รับการศึกษาอย่างถูกต้อง เกิดประโยชน์ แม้ว่าพวกเขาอาจจะมีความแตกต่างก็ตาม
มีเด็กนักเรียนกว่า 93 ล้านคนทั่วโลกที่บกพร่องทางร่างกาย แต่นั่นไม่อาจเป็นข้อจำกัดในการมีความฝันในการเรียนไม่ต่างจากเด็กนักเรียนทั่วไป ฝันที่มีอนาคตที่ดีได้เช่นเดียวกัน รวมถึงความต้องการคุณภาพการศึกษาที่ช่วยพัฒนาทักษะและส่งเสริมศักยภาพของพวกเขาทุกคน
จำนวนกว่า 50% ของเด็กพิการนั้นไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน เปรียบเทียบกับ 13% ของเด็กปกติ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้เรียนที่มีความพิการ มักจะเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยจากระดับผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษา ถูกจำกัดการเข้าถึงการศึกษาและความสามารถในการเป็นส่วนหนึ่งต่อสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตทางการเมือง ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการศึกษาที่แบ่งแยกความแตกต่าง เป็นผลของการตัดสินใจที่ล้มเหลวของผู้มีอำนาจในการนำนักเรียนผู้พิการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในโรงเรียน
อะไรคือ Inclusive Education?
แนวคิดการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) เป็นการจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมกับเด็กทั่วไปในชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไป เป็นการเสนอให้นักการศึกษาพิจารณาคำนึงถึงคุณค่าของการพัฒนาชีวิตคน ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาทุกด้านของวิถีแห่งชีวิต เพื่อให้มีความสามารถ ความรู้ และทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างเป็นสุขและมีคุณค่า อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมจึงหมายถึงรูปแบบการเรียนในห้องเรียนที่นักเรียนมีความแตกต่างและหลากหลายได้เรียนร่วมในห้องเรียนเดียวกัน สามารถทำกิจกรรมนอกสถานที่หรือกิจกรรมหลังเลิกเรียนร่วมกันได้ โรงเรียนสามารถจัดให้เล่นกีฬาหรือมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ได้ร่วมกัน แนวคิดนี้เป็นการให้คุณค่ากับความหลากหลายและการสนับสนุนนักเรียนแต่ละคนในห้องเรียน ถ้าหากเป็นการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เด็กนักเรียนทุกคนจะต้องรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนเดียวกับห้องเรียนนั้น ไม่รู้สึกแปลกแยกหรือมีระยะจากเด็กนักเรียนทั่วไป ทั้งนักเรียนที่มีความพิการและพ่อแม่สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเป้าหมายและตัดสินใจร่วมกับทางโรงเรียนได้ บุคลากรของโรงเรียนเองจะต้องได้รับการฝึกฝน อบรม สนับสนุน มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมความร่วมมือ และตอบสนองกับความต้องการของเด็กนักเรียนทุกคน
ทำไมการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
ระบบการจัดการศึกษาแบบนี้จะเป็นการสร้างคุณภาพทางการศึกษาที่ดีมากขึ้นสำหรับนักเรียนทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงเด็กนักเรียนผู้พิการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กนักเรียนที่พูดภาษาอื่นหรือเป็นเชื้อชาติคนกลุ่มน้อย ลดทัศนคติในการแบ่งแยกความต้องการ ในส่วนของโรงเรียนจะต้องเป็นการจัดเตรียมพื้นที่ให้เป็นบริบทที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง จากการเรียนรู้ในครอบครัวมาสู่พื้นที่โลกใหม่ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ด้วยความเคารพและความเข้าใจต่อกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีความหลากหลายและมีพื้นหลังที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถเรียนรู้และเล่นร่วมกันได้ภายในพื้นที่โรงเรียน
จากรายงาน Global Education Monitoring Report: Inclusion and education โดยองค์การสหประชาชาติ ปี 2020 ระบุว่า มีประเทศน้อยกว่า 10% ที่มีกฎหมายรองรับเรื่องการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมอย่างแน่นอน ในรายงานยังระบุถึงปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุของการคัดแยกผู้เรียนที่มีความแตกต่างออกจากระบบการศึกษา ทั้งพื้นหลังทางครอบครัว เอกลักษณ์ ความสามารถ อาทิ เพศ อายุ ที่อยู่ ความยากจน ความพิการ เชื้อชาติ ชาติกำเนิด ภาษา ศาสนา การอพยพ และสถานการณ์บังคับให้ย้ายถิ่น เพศสภาพ การแสดงทางเพศ ประวัติการติดคุก ความเชื่อ และทัศนคติ
รายงานจาก Global Education Monitoring (GEM) ปี 2020 เองก็ระบุการเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หันกลับมาให้ความสำคัญกับเด็กที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง รวมถึงการสนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ ส่งเสริมสังคมที่มีความยืดหยุ่นและมีความเท่าเทียมมากขึ้น
องค์ประกอบพื้นฐานของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
- มีผู้ช่วยสอนและผู้เชี่ยวชาญ : กลุ่มบุคลากรที่มีศักยภาพอย่างมากในการช่วยส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถมองเห็นความต้องการของเด็กนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม หรือช่วยส่งเสริมให้นักเรียนที่ละทิ้งการเรียนในห้องเรียนให้กลับมาอีกครั้งด้วยการสื่อสารแบบตัวต่อตัวมากขึ้น
- หลักสูตรที่ครอบคลุมเด็กทุกกลุ่ม : การมีหลักสูตรนี้รวมถึงการนำแนวคิดที่สำคัญของท้องถิ่นและสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กที่เป็นกลุ่มชายขอบ หลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องที่แบ่งแยกสิ่งดีและสิ่งที่แยก เปิดโอกาสให้มีการปรับหลักสูตรที่เข้ากับรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนที่อาจมีความต้องการเฉพาะ
- การมีส่วนร่วมของครอบครัว : โรงเรียนจะต้องเปิดพื้นที่ให้พ่อแม่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแจ้งความต้องการของเด็ก เสนอความคิดเห็นในการกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ในห้องเรียน สำหรับระบบโรงเรียนที่มีความหลากหลาย การคำนึงถึงผู้เรียนทุกคนนั้นหมายถึงการคิดวิธีที่หลากหลายในการเข้าถึงครอบครัวภายใต้เงื่อนไขที่โรงเรียนมี
- รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ : จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่เลือกปฏิบัติ ออกเอกสารทางกฎหมายที่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายอย่างเท่าเทียม และยกเลิกนโยบายที่ไม่เป็นธรรม
แนวคิดการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการพัฒนาและการออกแบบโรงเรียน ห้องเรียน โปรแกรมการศึกษา และกิจกรรมใหม่ นักเรียนทุกคนจะได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันอย่างไม่แบ่งแยก และเป็นการทำให้แน่ใจว่าการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่ดีนั้นสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของเด็กทุกคน เพื่อการตอบรับ การยอมรับ การเคารพ และการสนับสนุน ระบบการเรียนแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเรียนภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ด้วยการสนับสนุนให้ยกเลิกอุปสรรคที่นำไปสู่การกีดกันทางการศึกษาได้ต่อไป
ที่มา :