ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ โอกาสสานฝัน เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ โอกาสสานฝัน เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

เรื่องราวจากยอดดอย

นิ้ง หรือ เกษณี พิทักษ์ถาวรกุล มาจากครอบครัวชาติพันธุ์ละว้า ดอยม่วงสอด ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัฒนธรรม ภาษา และการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ครอบครัวของเธอและชาวหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการทำนาขั้นบันไดและปลูกผักกะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผักกาดขาว ถั่วแดง เป็นหลัก 

แน่นอนว่าด้วยความเป็นชุมชนเกษตรกรรมและห่างไกลจากความเจริญแบบนี้ ฐานะทางบ้านของ นิ้ง จึงไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในหมู่บ้านที่มีรายได้แบบพออยู่พอกินจนแทบจะลืมเรื่องการศึกษาสูงๆ ไปได้เลย แต่ด้วยความรักในการเรียน เธอจึงเลือกเดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อมาศึกษาต่อในเมือง อย่างน้อยที่สุดก็คือการเรียนในสายอาชีวศึกษา เพราะมองว่าค่าใช้จ่ายถูกกว่าสายสามัญและเมื่อจบแล้วมีโอกาสทำงานได้ทันที 

ระหว่างนั้น นิ้ง ทำงานพิเศษเพื่อส่งตัวเองเรียนไปด้วย แต่เธอก็ยังรักษาผลการเรียนให้อยู่ในระดับที่ดีมาโดยตลอดและด้วยความสม่ำเสมอนี้ ช่วงเรียน ปวช. – ปวส. เธอจึงได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หลังเรียนจบชั้น ปวส. นิ้ง ไม่มีเงินมากพอที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาตรี เธอจึงมุ่งหน้าเข้าสู่โรงงานเพื่อให้มีรายได้จุนเจือครอบครัว โดยได้งานที่โรงงานแปรรูปผลไม้แห่งหนึ่ง แต่เธอไม่เคยหยุดที่จะฝันในเรื่องการเรียน แม้ในวันนั้นสถานการณ์จะไม่เป็นใจกับเธอนัก 

“นิ้งอยากเรียนต่อด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง ให้มีอาชีพที่หลากหลายมากกว่าการทำนาปลูกผัก แต่ก็ต้องหยุดเอาไว้ก่อน เพราะเราต้องมีรายได้ดูแลตัวเองและครอบครัวด้วย”

สู่ครอบครัว ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’

ความฝันของนิ้งเริ่มกลับมาสดใสอีกครั้ง เมื่อมีคนแนะนำให้ลองสมัครรับ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาต่อเต็มศักยภาพ ให้กับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่มาจากสายอาชีวศึกษาให้ได้เรียนต่อเนื่อง ในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก นี่จึงเป็นอีกจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของนิ้ง เลยทีเดียว 

“ทุนพระกนิษฐาฯ เหมือนครอบครัวที่สองของหนู พร้อมที่จะสนับสนุนและให้โอกาสเราทางด้านการศึกษา และยังเหมือนเป็นที่พักพิงให้เรา เวลาที่ไม่สบายใจสามารถพูดคุย ส่งข้อความไปหาพี่ๆ ที่ปรึกษาในโครงการได้เลย เรื่องการศึกษาก็พร้อมสนับสนุน เรื่องการเงินก็พร้อมสนับสนุน

“จากที่เรามองไม่เห็นอนาคต ว่าเราจะทำงานอะไรได้บ้าง จะเป็นสาวโรงงานไปตลอดชีวิตไหม หรือว่าจะไปทำอะไร คือมองไม่เห็นอนาคตเลย แบบเรามุ่งหน้าจะไปทำงานอย่างเดียว หาเงินส่งน้องเรียนมีความคิดแค่นี้ แต่เมื่อเรามีการศึกษาต่อจะมีหลายอาชีพให้เราเลือกทำ”

ปัจจุบัน นิ้ง เป็นนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ รุ่นที่ 3 และเป็นนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม้โจ้ ได้เรียนตามความฝันที่ตั้งเป้าหมายไว้ เป็นทั้งความหวังและความภาคภูมิใจของคนในชุมชน เป็นสายเลือดใหม่ที่จะนำความรู้ความสามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิดในอนาคต

“ที่บ้านเป็นเกษตรกรปลูกแค่ผัก ไม่มีหลักการเลี้ยงสัตว์อย่าง หมู ไก่ ต้องไปซื้อในตัวเมือง ระยะทางก็ค่อนข้างไกลต้องเปลืองค่าน้ำมันอีก ก็มองเห็นโอกาสที่จะสร้างอาชีพใหม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน ในชุมชนของเรา แค่ปลูกผักเป็นอาชีพเดียวที่ทำกันทั้งหมู่บ้าน ช่องทางที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมันมองไม่เห็นเลย แต่ถ้าเรามีฟาร์มในชุมชนจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ชุมชนได้

“และหนูก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อยากรักษาความเป็นละว้าของเราเอาไว้ ให้คนอื่นได้เห็นว่าถึงเราจะเป็นชนเผ่ายังมีโอกาสได้ศึกษา มีโอกาสที่จะแสดงศักยภาพของเราให้คนอื่นได้เห็น ยิ่งได้พูดภาษาของตัวเองออกไปรู้สึกว่าไม่อายเลยที่เราเป็นชนเผ่า อยากให้คนอื่นได้รู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทย อยู่ในแผ่นดินไทย เป็นคนไทย”

จาก ‘ทะเล’ ถึง ‘ภูเขา’ ความประทับใจสู่เป้าหมายเพื่อชุมชน 

เมื่อวันที่ 25 – 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมค่ายทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ “สู้ฝัน …….  บนทางช้างเผือก : Be Bold, Be Brave, Be Bright” ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้นักศึกษาทุนทั้ง 3 รุ่น ใน 26 จังหวัด 39 สถานศึกษา รวม 98 คน ได้สร้างความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด และประสบการณ์ของการเป็นนักศึกษาทุนร่วมกัน สามารถนำเอาทักษะมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงสร้างจิตสาธารณะซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นบุคลากรคุณภาพ ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดย นิ้ง ได้เป็นตัวแทนของรุ่นออกไปกล่าวบรรยายสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียน การใช้ชีวิตอีกด้วย

และกิจกรรมค่ายในครั้งนี้ได้ออกแบบให้มีการแบ่งกลุ่มนักศึกษาทั้ง 98 คน ให้กระจายกันไปลงพื้นที่เรียนรู้ ‘วิถีแม่กลองในมุมมองของคนรุ่นใหม่’ มีทั้งเดินป่าชายเลนดอนหอยหลอด ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดร่มหุบริมทางรถไฟ และฟาร์มหอยแครงเกรดพรีเมี่ยม ซึ่ง นิ้ง ได้เลือกลงพื้นที่ศึกษาป่าชายเลนโดยให้เหตุผลว่า บริบทของชุมชนเป็นวิถีชีวิตที่เธอไม่เคยสัมผัสมาก่อน เพราะเคยอยู่แต่บนดอย อยากไปเรียนรู้เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้กับกับชุมชนของตนเอง

“ป่าชายเลนเป็นสิ่งที่หนูใฝ่ฝัน เพราะหนูไม่เคยเจอ พูดจริงๆ หนูอยู่แต่บนดอยมีแต่ภูเขา ไม่เคยไปเจอว่าต้นโกงกางมันเป็นอย่างไร ต้นแสมเป็นอย่างไร แล้ววิธีการปลูก การอยู่ของคนชายทะเลเป็นอย่างไร อยากไปสัมผัสกับตัวเองว่าวิถีของเขาเป็นแบบไหน

“พอไปเห็นของจริงก็ได้เรียนรู้ว่าการเป็นอยู่ของเขาก็ค่อนข้างลำบากเหมือนกันนะ ไม่รู้ว่าพายุจะเข้ามาวันไหน หรือบริเวณชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะก็หายไปทั้งแถบเลย เกินกว่าที่เราคิดไว้มาก เหมือนวันหนึ่งทะเลจะกลืนกินชุมชนเขาไปได้ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างตรงนี้ แต่เราก็เห็นว่าผู้ใหญ่บ้านกับคนที่อยู่ตรงนั้นเขาก็มีความกล้าที่จะลุกออกมาเพื่อพัฒนา รักษาความเป็นอยู่ของหมู่บ้านชายทะเลให้ยังคงอยู่ จนทำให้วันนี้สามารถปลูกป่าชายเลนยาวตลอดชายฝั่ง เป็นการรักษาแผ่นดินชายทะเล และเชื่อมความสัมพันธ์คนในชุมชน สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการเก็บหอย ก็ทำให้กลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ของเราสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน ใช้ทรัพยากรของเราไม่ให้คนในหมู่บ้านออกไปทำงานที่อื่น ให้กลับมามองทรัพยากรในหมู่บ้านว่ายังมีสิ่งดีๆ หรือสิ่งต่างๆ ที่เราจะร่วมกันสร้าง ร่วมกันพัฒนา และยังคงรักษาชุมชนได้ ไม่ใช่ว่าไปทำงานที่อื่น พัฒนาที่อื่น แต่ไม่ได้พัฒนาภายในหมู่บ้านของเรา อยากให้เกิดขึ้นที่บ้านของเรา อยากจะให้มีผู้นำคนที่จะกล้าออกมาพูด กล้าออกมาทำ”

เกี่ยวกับ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’

‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ เป็นโครงการส่งเสริมโอกาสทางศึกษาต่อเต็มศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่มาจากสายอาชีวศึกษา (ปวช. หรือ ปวส.)  ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาต่อเต็มศักยภาพอย่างต่อเนื่องในระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยระบบการศึกษาในปัจจุบันที่สนับสนุนสายอาชีพ โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมในระดับสูง (ปริญญาตรี โท และเอก) ที่มีน้อยกว่าสายสามัญ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างสมรรถนะของกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการสายอาชีพและสาขาที่ขาดแคลน โดยสาขาที่ส่งเสริมจะเป็นสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการและพัฒนากำลังคนของประเทศ

หนึ่งในแผนกิจกรรมสำหรับนักศึกษาผู้รับทุนฯ คือ การเสริมประสบการณ์และหนุนเสริมทักษะ (Enrichment Program) ด้านทักษะวิชาการที่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ ทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะชีวิต (Soft Skills and Life Skills) รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงลึกและกว้าง ให้นักศึกษามีความรู้และประสบการณ์ทักษะเพื่อให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก้าวหน้า การเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่เชื่อมโยงกับโลกและชุมชนท้องถิ่น และการติดตามพัฒนาการของนักศึกษาทุนทั้งในด้านคุณภาพการเรียน และคุณภาพชีวิตด้านอารมณ์และจิตใจ

ปัจจุบันมีนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพทั้งหมด 3 รุ่น และกำลังเปิดรับนักศึกษาทุนรุ่นที่ 4 ในปีการศึกษานี้ และรุ่นต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง