ปิดโรงเรียนสมุทรสาคร แต่การเรียนรู้ไม่เคยหยุดนิ่ง

ปิดโรงเรียนสมุทรสาคร แต่การเรียนรู้ไม่เคยหยุดนิ่ง

โรงเรียนในพื้นที่สีแดงอย่างจังหวัดสมุทรสาคร ที่ถูกปิดมาแล้วเกือบ 2 เดือน ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีสัญญาณว่ากำหนดเปิดเรียนได้อีกครั้งเมื่อใด อย่างไรก็ตามแม้ยังเปิดเรียนไม่ได้ แต่การศึกษาจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป โรงเรียนหลายแห่งมีวิธีการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤตที่น่าสนใจ รวมถึงยังเป็นโอกาสของการนำสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่พัฒนาขึ้นจากโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP ของ กสศ. มาปรับใช้กับเด็กๆ ในสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น แม้ว่าโรงเรียนจะปิดแต่ความรู้ต้องไม่ถูกปิดกั้นและสามารถเดินหน้าต่อไป

 

จัดกระบวนการ PLC หารูปแบบใหม่ๆ สำหรับนักเรียนช่วงปิดเรียน

รัชนีพร บุญศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหม่หนองพะอง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การปิดเรียนยาวนานเกือบ 2 เดือน สร้างความอ่อนล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก แต่เด็กๆ กลับมองว่าเป็นมิติใหม่ๆ ของการเรียนรู้ ทุกคนตื่นเต้นที่ได้เรียนในรูปแบบที่ต่างไปจากการเรียนในห้อง ครูจะใช้กระบวนการ PLC ทุกสัปดาห์เน้นการค้นหารูปแบบใหม่ๆ ในการเรียนการสอน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนตื่นตัว ไม่เบื่อ ซึ่งครูทุกคนก็ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่เราจะเน้นให้ใบงานและกิจกรรมต้องเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาการเรียน อีกสิ่งหนึ่งที่พบคือเด็กบางคนแต่เดิมไม่สนใจการเรียน แต่เขากลับกลายเป็นคนขยันเรียนเมื่อได้เรียนแบบออนไลน์ ทำให้เราคิดว่ารูปแบบการเรียนก็ถือว่ามีผลต่อความสนใจของนักเรียนด้วย

ทั้งหมดช่วยจุดประกายโรงเรียนเรื่องการค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อมากระตุ้นให้เด็กๆ ตื่นตัวในการเรียนรู้มากขึ้น ผนวกกำลังทักษะที่ไดจากทีมโค้ชของเครือข่าย TSQP ที่กสศ.ได้ดำเนินการเข้ามาสนับสนุนแนะแนวการเรียนการสอนที่รองรับปัจจุบันและเหมาะสมกับสถานการณ์เมื่อเกิดภาวะวิกฤต ถึงจะมีปัญหาสำคัญในเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารที่เด็กมีไม่ทั่วถึงทุกบ้าน แต่เราก็ใช้วิธีให้เด็กบ้านใกล้กันมาเรียนด้วยกัน พยายามตามเก็บให้หมด ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนอย่างเท่าเทียม

ผอ.รัชนีพร กล่าวว่า การจัดการศึกษาในช่วง COVID-19 สิ่งที่เห็นได้ชัดคือครูมีความ active ขึ้น กระตุ้นตัวเองในการหาสิ่งแปลกใหม่มาพัฒนาตัวเองและส่งให้กับนักเรียน และจากวิกฤตครั้งนี้ทำให้ได้เห็นความสามัคคี อดทน และความทุ่มเทของบุคลากรโรงเรียนร่วมมือกันเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนต่อไปได้ ถึงแม้จะไม่เต็มร้อยก็ตาม

 

จัดทำสื่อ ‘กสิกรรมชาแนล’ เป็นช่องใช้เผยแพร่ความรู้

สุพัตรา นาวิก ผู้อำนวยการโรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ประสบการณ์ COVID-19 รอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ทำให้โรงเรียนมีการสำรวจความพร้อมเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ของเด็ก จึงมีข้อมูลพื้นฐานข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวมาถึงการระบาดในรอบล่าสุด ทางโรงเรียนได้นำข้อมูลที่มีมาปรับใช้เป็นต้นแบบจัดการศึกษา เริ่มตั้งแต่การจัดให้มีการการเรียนผ่าน DLTV ร่วมกับให้ใบงาน และกิจกรรมให้เด็กรับกลับไปทำ โดยครูจะตามงานเด็กทุกวัน ซึ่งผู้ปกครองของเด็กทุกคนจะสื่อสารกับครูโดยตรงผ่านไลน์กลุ่ม ครูจะบันทึกว่าเด็กเข้าเรียนกี่คน คนที่ไม่เข้าเรียนติดปัญหาอะไรบ้าง และหาทางแก้ไขให้ทันที

“โรงเรียนมีการจัดทำสื่อ ‘กสิกรรมชาแนล’ เป็นช่องที่ครูใช้เผยแพร่ความรู้ รวมถึงใช้สอนเด็กๆ ให้ทำคลิปวิดีโอ เพื่อสื่อสารส่งต่อกันทางกลุ่มไลน์หรือเพจเฟซบุ๊กของโรงเรียน อีกทั้งช่องทีวีที่สร้างขึ้นยังใช้แลกเปลี่ยนเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ของโรงเรียนอื่นๆ ในสมุทรสาครที่ประสบปัญหาเดียวกันด้วย ส่วน Learning Box ที่ได้รับจาก กสศ. ซึ่งเด็กๆ ได้ใช้ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์ COVID-19 รอบแรก การปิดโรงเรียนรอบหลังนี้ ได้มาปรับให้เป็น Learning Bag และมอบให้เด็กตั้งแต่ชั้น อ.2 ถึง ป.6 ทุกคน เด็กจะได้รับ Learning Bag ประกอบด้วยชุดการเรียนรู้ โจทย์งาน และอุปกรณ์เพื่อนำไปทำชิ้นงาน และกลับมาส่งพร้อมรับถุงใหม่ทุกสัปดาห์ โดยรวมแล้วทั้งครู ผู้ปกครอง และเด็กๆ สามารถปรับตัวได้ดีในสถานการณ์วิกฤต แม้ชิ้นงาน การบ้าน หรือผลสะท้อนที่ส่งกลับมาอาจจะไม่ได้เต็มร้อยเหมือนตอนโรงเรียนเปิด แต่ทุกคนก็พยายามให้ความร่วมมือกับโรงเรียนอย่างเต็มที่” ผอ.โรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล กล่าว

 

จัดเรียนออนไลน์และสื่อเรียนรู้ให้เด็กเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

รัติยา กาหลง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางปิ้ง ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า โรงเรียนใช้วิธีจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM, Google Meet  และ DLTV ร่วมกับการบูรณาบทเรียนผ่านกิจกรรม Maker Space ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กสศ. โดยใช้กล่อง Learning BOX  ซึ่งมีแบบฝึกหัดและงานให้เด็กๆ กลับไปทำที่บ้านได้ ทำให้แม้ในเด็กกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการศึกษาออนไลน์ ก็ยังสามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ได้ในช่วงที่โรงเรียนปิด

การจัดการสอนออนไลน์ ทางโรงเรียนสามารถทำได้ถึง 89.72% จากเด็ก 400 คน มีเพียง 10.28 ที่เข้าไม่ถึง ซึ่งโรงเรียนได้ใช้วิธีติดต่อผู้ปกครองให้เข้ามารับและส่งงานที่โรงเรียน หรือให้ครูที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเด็กๆ เข้าไปส่งมอบและรับงาน

“ด้วยวิธีการที่ทำเราพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้การตอบรับและร่วมมือกับโรงเรียนเป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่ครูและผู้ปกครองทุกคนคิดเหมือนกันคือ วิกฤตครั้งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ชาวสมุทรสาครทุกคนต้องรับผลกระทบรุนแรงจากการเป็นพื้นที่สีแดง ครูและผู้ปกครองจึงกระตือรือร้นในการช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ต่อไป ทั้งช่วยตามงานเด็ก สอบถามความคืบหน้าเรื่องบทเรียนต่างๆ และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนเด็กๆ ต่างยอมรับรูปกระบวนการจัดการศึกษาในรูปแบบของ TSQP ที่ใช้นวัตกรรมอย่าง Learning Box มาช่วยสร้างการเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุก ด้วยสื่ออุปกรณ์ที่หลากหลาย และวิธีการสอนของครูที่ไม่ปิดกั้นความคิดเด็ก” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางปิ้ง กล่าว

 

ทำ Maker Space ตารางกิจกรรมตามความสมัครใจ

สมพิศ กอบจิตติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยกกระบัตร จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนช่วง COVID-19 ใช้การเรียนออนไลน์เป็นหลัก ครูจะทำตารางสอนแต่ละสัปดาห์ ส่งใบงานให้เด็กนำไปทำ และให้ทำแบบฝึกหัดผ่าน DLTV ซึ่งคณะครูจะผลิตคลิปสอนเด็กๆ กันเองด้วย การเรียนออนไลน์ของทางโรงเรียนมีเด็กที่มีอุปสรรคเรื่องการเข้าถึง แต่ครูแก้ปัญหาด้วยการนำใบงานไปส่งให้ที่บ้าน หรือจัดทำลิงก์ให้เรียนย้อนหลังกรณีที่ผู้ปกครองมีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวและต้องพกไปทำงานด้วย ในแต่ละชั้นจะจัดทำไลน์กรุ๊ป กลุ่มเฟซบุ๊กสำหรับใช้ติดต่อสื่อสารกัน

การทำ Maker Space ครูจะทำตารางให้เด็กทำกิจกรรมสัปดาห์ละครั้ง เปิดโอกาสให้เด็กคิดว่าอยากทำอะไร ตามความสนใจ ตามสภาพแวดล้อมของตน โดยห้องเรียนจะแบ่งเป็น 6 ห้องให้เด็กเลือกเข้าเรียนห้องไหนก็ได้ตามความสมัครใจ เช่น ทำอาหาร สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ ซึ่งเด็กจะส่งงานเป็นภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอกกลับมา ซึ่งการจัดการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นทำให้มีโอกาสในการพัฒนาเรื่องการใช้เทคโนโลยี หรือการคิด ขวนขวายหาวิธีการว่าจะทำยังไงให้เด็กได้เรียนและมีประสิทธิภาพที่สุด เช่นการถ่ายคลิป การทำข้อสอบออนไลน์ โดยรวมครูทุกคนมีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยกกระบัตร กล่าวว่า ถึงแม้มีปัญหาอุปสรรคที่พบในการจัดการเรียนการสอนที่ทำอยู่คือเด็กๆ และผู้ปกครองไม่ได้มีความพร้อมทุกครอบครัว ทั้งเรื่องเวลา เครื่องมือ แต่ครูของเราจะไม่ปล่อยใครไว้ จะเข้าถึงทุกคนในจำนวน 342 คนของนักเรียนทั้งหมด “เราต้องตามทุกคน ใครหายไปครูจะเข้าไปหา ไปส่ง-รับ ใบงานถึงบ้าน” แม้โรงเรียนจะปิดแต่การศึกษาต้องเดินต่อไปไม่หยุดชะงัก

 

ปรับการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ ‘ออนแฮนด์’

ครูภาษิตา เฉียงภาเลิศ โรงเรียนวัดปัจจันตาราม จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ในการระบาดระลอกใหม่โรงเรียนใช้วิธี ‘ออนแฮนด์’ คือมีใบงาน ให้ครูอัดคลิปสอน แล้วให้ครูประจำชั้นส่งให้ผู้ปกครองเด็กทางกลุ่มไลน์ สำหรับ ป.4-6 ซึ่งเป็นเด็กโตเสริมด้วยการสอนออนไลน์ ยกเว้นคนที่ไม่สะดวกจะใช้วิธีเพิ่มใบงานเฉพาะคน ส่วนการเรียนออนไลน์เราใช้ google meet แล้วมีการติดตามผลโดยครูประจำชั้น คอยช่วยเหลือพิเศษสำหรับคนที่ทำงานไม่ได้

“สำหรับ Learning Box มองว่าช่วยได้เยอะ แต่ด้วยจำนวนที่ไม่พอกับเด็กทุกคน เรานำของในกล่องมาแยก มาจัดทำใหม่ให้ครบตามจำนวนเด็ก ซึ่งใช้ได้จริงในหลาย ๆ วิชา ข้อดีของการจัดการศึกษาในช่วงนี้คือเด็กมีความคิดเป็นของตัวเอง เขาจะสนุก มีอิสระ เลือกเวลาเรียนเองได้ประมาณหนึ่ง กลุ่มนี้จะเรียนประมาณ 10 โมง ถึงบ่าย ๆ บางคลาสขอเข้าเรียนตอนค่ำ เขาก็ตอบรับกันดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ส่วนชั้นประถมถือว่ามีความสนุกตื่นเต้น แต่อัตราเข้าเรียนยังอยู่แค่ 50% เพราะไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล” ครูภาษิตา กล่าว

ครูภาษิตา กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญคือเด็กที่เริ่มโต ผู้ปกครองเขาจะพาไปทำงานด้วย ผู้ปกครองเขาจะคิดว่าโรงเรียนหยุด ก็ให้ไปช่วยขายของ ขายผัก ทำนาเกลือ จึงอธิบายว่าโรงเรียนปิดแต่เด็กยังต้องเรียน ยังต้องได้เติมความรู้ ซึ่งก็ต้องเป็นความพยายามของทางโรงเรียนที่จะทำความเข้าใจต่อไป

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค