โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) หรือ “โรงเรียนพัฒนาตัวเอง” เป็นหนึ่งในความพยายามของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดกลาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวกับครูและผู้บริหารโรงเรียน ว่าปัจจัยความสำเร็จของโครงการนี้อยู่ที่ผู้บริหารที่จะเป็นผู้นำคุณครูไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) มีองค์ประกอบที่สำคัญเรื่องแรกคือครูจะต้องรู้จักศักยภาพของเด็กแต่ละคน ยกตัวอย่างลูกศิษย์ที่โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ เคยมีคนที่เขามาเรียนทุกวันแต่ไม่เคยเข้าห้องเรียนเพราะเบื่อสอนอะไรเขาก็รู้หมดแล้ว ต่อมาเราค้นพบว่าเขาเป็นอัจฉริยภาพด้านคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันจบปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอีกหลายคนที่เขาไม่ได้เรียนเก่งแต่เขามีความสามารถด้านอื่นเช่น บางคนเล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง เล่นโขนเก่ง มีความสามารถเป็นพิธีกร
ปัจจุบันเราทั้งหลายกำลังถูกล้อมโดยหลักสูตรที่ขยับได้ยาก ตอนนี้เรากำลังคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ หากเรารู้ศักยภาพของเด็ก หรือรู้ว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร บางคนซึมเศร้า เราก็เข้าไปช่วยทุกวิถีทางทั้งส่งครูไปสอบที่โรงพยาบาล จนทุกอย่างผ่านวิกฤตไปได้ ก็จะช่วยลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปในแต่ละปีได้
ปรับการสอนตามความต้องการ
ลดอัตราเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
ปัจจุบันมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา 70,000 คน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฐานะความยากจนของครอบครัว แต่สาเหตุสำคัญที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามาจากการเรียนการสอนในห้องเรียน ไม่ตอบสนองสิ่งที่พวกเขาอยากเรียน ดังนั้นหากปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้สอดรับกับความต้องการของเด็กๆ ย่อมสามารถลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยการเรียนการสอนแบบ Active Learning จะทำให้เห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคน หากเป็นการเรียนการสอนแบบยืนสอนหน้าชั้นเรียนจะไม่สามารถมองเห็นได้
รศ.ดร.ดารณี อธิบายว่า อีกองค์ประกอบที่สำคัญคือการรวมพลังของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน รวมทั้งเปิดให้นักเรียนมีส่วนประเมินผลการเรียนของตนเอง เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และกำกับตัวเองถือเป็นซอฟท์สกิลที่โลกในยุคหลัง COVID-19 กำลังต้องการ
สร้างการเรียนรู้ตามวัย และระดับพัฒนาการ
อีกองค์ประกอบคือเรื่องการเรียนรู้ตามวัยหรือตามระดับพัฒนาการ ซึ่งเด็กม.3 บางคน อาจเก่งในวิชาที่เขาถนัดมากว่าเด็กม.5 โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาไม่เคยขาดแคลนครูเพราะเขาใช้วิธีการสอนคละชั้น ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ถ้าเข้าใจเทคนิควิธีการสอน เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันต้องได้รับการพัฒนาไปตามวัย และคำนึงถึงเรื่อง “พหุปัญญา” เมื่อด้านหนึ่งโดดเด่นก็อาจมีอีกด้านที่ด้อย เด็กออทิสติกบางคนมีอัจฉริยภาพด้านศิลปะส่งผลงานประกวดได้รางวัลระดับนานาชาติ
สิ่งที่สำคัญคือการดูแลแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของนักเรียนแต่ละคน จากข้อมูลจะพบว่าเด็กปฐมวัย 30 % มีพัฒนาการไม่สมวัย เช่น เรื่องการสื่อสาร ดังนั้นจะต้องกระตุ้นการพัฒนาในส่วนที่เป็นปัญหากลุ่มเสี่ยงบางคนที่หลุดไปจากระบบการศึกษาเมื่อเห็นเพื่อนเขาเรียนแบบ Active Learning ก็ทำให้เขากลับมาเรียนต่อ การปรับการเรียนการสอนจึงมีส่วนช่วยให้เด็กหลุดออกนอกระบบได้น้อยลง
เน้นพัฒนา ซอฟท์ สกิล ที่ AI ทำไม่ได้
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า การพัฒนาโรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนด้อยโอกาสให้พัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ จะสามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ซี่งก่อนที่เด็กจะเปลี่ยน ครูจะต้องเปลี่ยนต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามแนวทาง Active Learning พร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัย ติดตามประเมินผล
อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับโลกอนาคต ต้องพัฒนาทักษะทั้ง IQ EQ จนปัจจุบันมีDQ หรือ ความฉลาดทางดิจิตอล Digital Intelligence ไปจนถึงการพัฒนา ซอฟท์ สกิล โดยเน้นทักษะในสิ่งที่ ปัญญาประดิษฐ์(AI) ทำไม่ได้ ทั้งการสื่อสาร ความร่วมมือ การคิดวิเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิสัมพันธ์
เสริมสมรรถนะ “ยืดหยุ่น” พร้อมรับวิกฤต
ในอนาคตสมรรถะที่สำคัญมีหลายเรื่องทั้งการปรับตัว ความสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ความยืดหยุ่นรับมือกับความยากลำบาก ที่ผ่านมามีเด็กยากจนพิเศษ 700,000 คน แต่ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน พ่อแม่บางคนที่เคยยากจนกลายเป็นยากจนพิเศษ ความยืดหยุ่นจะช่วยรับมือในการเผชิญวิกฤต ที่ครูจะต้องสอนให้เขามีความเข้มแข็ง และนำมาสู่การกำกับตัวเอง ทั้งหมดจะมี Active Learning เป็นหัวใจสำคัญ
“หวังว่าจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ซี่งไม่ได้วัดผลกันแค่ว่าเปลี่ยนแล้วนักเรียนได้เกรดเพิ่มในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก มีการพัฒนาซอฟท์ สกิล ต่อไปจะได้ขยายไปยังโรงเรียนอื่นในพื้นที่ เด็กๆ จำนวนมากได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงจึงขอฝากความหวังไว้กับพวกเราทุกคน” รศ.ดร.ดารณี กล่าว
สร้างเครือข่าย ต้นแบบ รร.พัฒนาตนเอง
ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ คือการพัฒนาโรงเรียนอย่างเป็นระบบด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งผู้บริหาร ครู บุคลากรในโรงเรียนไปจนถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ คุณลักษณะ และพฤติกรรมของนักเรียนด้วย ภารกิจ 3 ด้านคือ การบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน การสนับสนุนสภาพแวดล้อมและสิ่งต่างๆ
สำหรับเป้าหมายที่หวังผลคือ “โรงเรียน” สามารถคิดและพัฒนาคุณภาพตนเองได้ทั้งระบบและเป็นต้นแบบการพัฒนาขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น “ครู” มีทักษะจัดการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learning) สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 “เครือข่าย” เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในระดับโรงเรียน ระหว่างโรงเรียน และชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพโรงเรียน