พบกับทางเลือกหนึ่งของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ด้วยวิธีบูรณาการสาระวิชาเพื่อออกแบบ ‘หน่วยการเรียนรู้’ โดยเชื่อมโยงไปที่ความสนใจของผู้เรียน ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจจากครู ที่นำไปสู่การสร้างนิสัยของนักค้นคว้า พร้อมเติบโตขึ้นเป็นประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 กับบุคลิกของผู้ใฝ่รู้ ช่างสงสัย ตั้งคำถาม แล้วลงลึกในการค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องราวที่ตนสนใจ สามารถสังเคราะห์ข้อมูลความรู้ทั้งแท้เทียมที่กระจัดกระจาย เพื่อแยกแยะ ‘จริง’ ออกจาก ‘เท็จ’ ได้
ที่โรงเรียนบ้านโกรกลึก ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนเพียงร้อยกว่าคน แต่กลับมีวิธีการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ในการพานักเรียนชั้นประถมลงพื้นที่สืบค้นเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน เพื่อต่อยอดสู่ความสนใจใคร่รู้ในสาระวิชาประวัติศาสตร์ ที่จะขยายต่อไปยังความสนใจที่กว้างใหญ่ขึ้น จากความใคร่รู้ภายในตัวของเด็ก ๆ เอง
ผอ.การุณ ชาญวิชานนท์ เล่าว่า โรงเรียนบ้านโกรกลึกเป็นหนึ่งในโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ที่ใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง(TSQP) โดย กสศ. จัดการเรียนการสอนด้วย 3 แนวทางหลัก คือ จิตศึกษา, PBL (Problem-based Learning) และ PLC (Professional Learning Community)
ในโครงสร้างการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนเน้นที่ 3 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ดังนั้นในวิชาอื่น ๆ จะใช้วิธีสร้างหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการกลุ่มสาระวิชา อาทิ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษา การงานอาชีพ หรือศิลปะเข้าด้วยกัน ไม่แยกออกเป็นวิชาเดี่ยว โดยวิชาประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสาระวิชาสังคมศึกษา ก็นับรวมอยู่ในหมวดหมู่นี้เช่นกัน
“การที่เราไม่แยกส่วนวิชา เพราะต้องการออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงไปที่ตัวผู้เรียนให้ได้มากที่สุด สร้างบทเรียนจากความสนใจของเขา โดยครูต้องค้นหาเรื่องราวที่เด็กอยากเรียนรู้ให้พบ แล้วนำทางสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการค้นคว้าหาข้อเท็จจริง”
สืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชน ปลูกฝังความ ‘รักที่จะเรียนรู้’
ผอ.การุณ เล่าว่า เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนสาระวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ชั้น ป.1 ในชื่อหน่วยการเรียนรู้ ‘บ้านหรรษา’ หรือ ‘ป่าเดินใหญ่’ โดยครูจะพาน้อง ๆ ชมสถานที่ต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เดินชมป่า นำเรื่องราวของชุมชนในวันเก่าก่อนที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง มาสร้างภาพจินตนาการให้เด็กเห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เด็กจะได้ข้อมูลว่าป่าของชุมชนเมื่อก่อนเคยกว้างกว่าที่เห็น มีต้นไม้ใหญ่มากมาย มีสัตว์ป่านานาชนิด ขณะที่ภาพตรงหน้าที่เด็ก ๆ เห็นคือป่าที่เหลือพื้นที่ไม่มาก ข้อขัดแย้งนี้เองที่จะกระตุ้นให้เด็กอยากรู้ อยากได้คำตอบว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างไร
“เราต้องการให้หน่วยการเรียนรู้ตั้งขึ้นจากฐานปัญหาที่ใกล้ชิดเด็กที่สุด แล้วเขาจะเกิดความอยากรู้ด้วยตัวเอง แต่กระบวนการนี้ ครูต้องเป็นคนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ ตั้งคำถาม เสนอข้อมูล แล้วทิ้งปลายเปิดให้เด็กค้นคว้า แล้วชวนคุยว่าถ้าเกิดความอยากรู้แล้วต้องทำอย่างไร ต่อจากนั้นเด็กจะช่วยกันวางแผน ทั้งสัมภาษณ์ผู้ปกครอง หาข้อมูลจากปู่ย่าตายาย คนเก่าแก่ในชุมชน พอแต่ละคนได้ข้อมูลกลับมา เขาก็จะเอามาพูดคุยหาข้อสรุปด้วยกัน
“จุดประสงค์ของเราคืออยากให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว มองเห็นได้ คือถ้าเราตั้งโจทย์ให้เด็กเล็ก ๆ ด้วยประวัติศาสตร์ที่ไกลตัวออกไป เขาจะไม่สนใจ ไม่เกิดการจุดประกายให้รักที่จะเรียนรู้ ซึ่งวิธีนี้พอเด็กเริ่มสนใจค้นคว้าข้อมูลเองแล้ว เขาจะค่อย ๆ รู้จักตนเอง รู้จักภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ เข้าใจความเปลี่ยนแปลง รู้สาเหตุที่ป่าไม้เหลือพื้นที่น้อยลง แล้วเขาจะประมวลผลและพบคำตอบด้วยตัวเองได้”
สู่ประวัติศาสตร์ที่ไกลตัวออกไป
ผอ.การุณ กล่าวว่า ความสนใจของเด็ก จะขยายขอบเขตเพิ่มขึ้นตามการเติบโต ซึ่งการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่โรงเรียนบ้านโกรกลึก จะให้โจทย์ที่กว้างและลึกขึ้นไปตามระดับชั้นที่สูงขึ้น
“เมื่อเข้าใจตนเองดีพอ เด็กจะขยายวงค้นคว้าออกไป ว่าหมู่บ้านของเขาตั้งอยู่ ณ ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือภาคใดของประเทศ แล้วจากภาพของประเทศไทย ก็จะขยายไปสู่ระดับภูมิภาค ระดับทวีป จนเขาเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของตนในภาพใหญ่ของโลกใบนี้
“ทั้งนี้ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ต่าง ๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ ‘ความสนใจ’ เป็นที่ตั้ง เช่นเด็กบางคนอยากเรียนเรื่องท้าวสุรนารี เขาก็จะไปค้นข้อมูลแล้วมานำเสนอ แลกเปลี่ยนกับเพื่อนในห้องที่อาจสนใจเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่น เมือง หรือบุคคล แล้วพอแต่ละคนได้อภิปรายกัน มันจะเกิดการต่อยอดความสนใจที่นำไปสู่การค้นคว้าไม่สิ้นสุด
“กระบวนการนี้เองที่การแยกประวัติศาสตร์ออกมาเป็นวิชาเดี่ยวจะไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน โดยเฉพาะเด็ก ๆ เพราะเราอย่าลืมว่าประวัติศาสตร์นั้นมีแง่มุมที่ซับซ้อน และไม่ได้มีข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว ดังนั้นเราไม่สามารถกำหนดหัวข้อให้เขาเรียน เอาไปผลิตเป็นวิชาใดวิชาหนึ่งออกมา แล้วจะคาดหวังให้เด็กสนใจเหมือนกันทุกคนได้”
ผอ. ร.ร.บ้านโกรกลึก กล่าวว่า จุดแข็งของ Problem-based learning คือจะนำผู้เรียนไปพบประเด็นที่แตกหน่อต่อยอดไปได้ไม่รู้จบ เป็นห่วงโซ่ของการค้นคว้าเรียนรู้ในเรื่องราวใหม่ ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ “ถ้าเราระบุเนื้อหาที่ตายตัวให้เด็กทุกคนไปสู่ตัวชี้วัดเดียวกันหมด เมื่อเด็กไปเจอเรื่องที่สนใจอยากรู้เพิ่มเติม ครูจะไม่กล้าสอนเพราะอยู่นอกเหนือหนังสือเรียน นอกเหนือสาระวิชาที่กำหนด ขณะที่ครูใน PBL จะมีทักษะในการช้อนความสนใจของเด็กเป็นรายคน แล้วเชื่อมต่อวงจรการเรียนรู้ใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีการนี้เอื้อต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในทุกระดับมากกว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์นั้นเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อมีการพบหลักฐานและความรู้ใหม่”
ประเมินการเรียนรู้ผ่านชิ้นงานและทักษะ ทำให้เห็นพัฒนาการเด็กได้ทุกสัปดาห์
ในเรื่องการวัด-ประเมินผล ที่โรงเรียนบ้านโกรกลึกใช้หลักสูตรแกนกลาง (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551) ซึ่งมีตัวชี้วัดในกลุ่มสาระการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ดังนั้นทุกโจทย์ของครู ทุกชิ้นงานของเด็ก ย่อมจะถูกนำไปเทียบตามมาตรฐานตัวชี้วัด ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าได้ผลในระดับที่ดี
การประเมินเด็กชั้นประถมศึกษาจากการสอบจะทำปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่ PBL เราวัดผลได้ทุกครั้งที่มีชิ้นงาน มีการสะท้อนกลับเพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียนและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู สำคัญคือเราเห็นพัฒนาการ เห็นทักษะที่เกิดขึ้น เหล่านี้คือสิ่งที่จะอยู่ติดตัวของเด็ก ๆ ต่อไป
“สำหรับผู้ที่ไม่เคยสังเกตเด็ก ๆ ในห้องเรียน ผมอยากให้ลองหลับตาแล้วนึกถึงเด็กสองกลุ่มว่า เด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องนั่งท่องจำตำราประวัติศาสตร์ ต้องอ่าน ต้องตอบคำถามทุกวัน เพื่อไปวัดผลด้วยข้อสอบ กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ออกไปเดินดูในสถานที่จริง ได้จับต้องลูบคลำประวัติศาสตร์ชุมชนของเขา ได้เข้าใจรากเหง้าที่มาของตัวเขาจริง ๆ แล้วได้นำข้อมูลมาสะท้อนคิด ตั้งคำถามต่อ ทำชิ้นงานนำเสนอ หรือแม้แต่เกิดข้อถกเถียงซึ่งต้องแยกย้ายไปหาข้อมูลกลับมาพิสูจน์กัน เด็กสองกลุ่มนี้ ใครจะสนุก หรือมีแรงกระตุ้นที่จะค้นคว้าหาความรู้ในสาระวิชาประวัติศาสตร์มากกว่ากัน” ผอ.การุณ สรุปทิ้งท้ายด้วยคำถามปลายเปิด