‘ครูเปลี่ยนเพื่อใคร? ใครเปลี่ยนเพื่อครู?’ จุดประกายไฟในตัวครู ให้เปล่งแสงได้เต็มที่
โดย : รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)

‘ครูเปลี่ยนเพื่อใคร? ใครเปลี่ยนเพื่อครู?’ จุดประกายไฟในตัวครู ให้เปล่งแสงได้เต็มที่

อีกรายการน่าสนใจอย่างรายการ ‘ครูปล่อยแสง’ ทางช่อง ALTV ดิจิทัล HD4 สถานีโทรทัศน์ Thai PBS  ที่ออกอากาศในเดือนเมษายน 2564 ร่วมเสนอข้อคิดเห็นที่กล่าวถึงการสร้างมาตรฐานการศึกษา ที่เริ่มต้นจากกระบวนการพัฒนาครูให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือการประกอบหลักสูตรที่มุ่งค้นหาครูในท้องถิ่น เพื่อสร้าง ขัดเกลา และส่งครูคนหนึ่งกลับสู่โรงเรียน คืนสู่ท้องถิ่น พร้อมติดตามส่งเสริมให้ครูคนหนึ่งนั้นเปล่งแสงได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกุญแจดอกสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่ยั่งยืน

‘ครูพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เพียงต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง’

(ซ้าย) รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. (ขวา) อ.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้กล่าวถึงความตั้งใจในการปฏิรูปการศึกษาของ กสศ. ว่า ส่วนหนึ่งคือการมุ่งตรงไปที่ห้องเรียนและโรงเรียน ระดมพลังของครูทั่วประเทศให้สามารถสร้างห้องเรียนประสิทธิภาพสูง ซึ่งไม่จำเป็นต้องหรูหราด้วยเทคโนโลยี แต่เป็นห้องเรียนที่อบอุ่น มีเด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ได้รับการเอาใจใส่ นั่นหมายถึงครูต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นนักจัดการที่รอบรู้และสามารถประยุกต์เอาสิ่งที่มีอยู่มาใช้ร่วมกับนวัตกรรมการสอนสมัยใหม่เพื่อสร้างความท้าทายให้เด็กๆ มีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองที่แข็งแรง

“เราค้นพบว่าการเข้าไปเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนต้องทำกับโรงเรียนทั้งระบบ แต่ก่อนจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องสร้างระบบความคิดใหม่ ให้ครูในโรงเรียนลงมือทำด้วยตนเอง ภายใต้การโค้ชรูปแบบ วิธีการ วิธีคิดจากทีมพี่เลี้ยงภายนอก และได้รับแรงสนับสนุนจากชุมชน ซึ่งจากหลายโครงการที่ กสศ. ได้ทำร่วมกับโรงเรียนและครูทำให้เราเห็นเลยว่า ภายในเวลาหนึ่งปีมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญคือเราค้นพบว่าจริง ๆ แล้วครูทุกท่านพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เพียงต้องการการสนับสนุนจากรอบด้านที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีแรก ถึงปีที่สองและปีที่สาม จนเขายืนหยัดได้ด้วยตนเอง กลายเป็นครูแกนนำของท้องถิ่น และส่งต่อความรู้ประสบการณ์ต่อไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ได้ ”  

ใครต้องเปลี่ยนเพื่อครู?

รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่าการจะขับศักยภาพของครูต้องทำให้ครูทำงานได้ง่ายขึ้น ให้งานหลักของครูคือการรับผิดชอบดูแลลูกศิษย์ เพราะหัวใจสำคัญคือไม่มีระบบการศึกษาใดที่จะมีคุณภาพแซงหน้าครูไปได้ ครูจึงต้องได้รับกำลังใจ การดูแลสภาพแวดล้อม และได้ผลตอบแทนที่สมควรได้รับ

“คนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนเพื่อครูจึงเป็นภาครัฐ ในด้านการสร้างบรรยากาศให้ครูทำงานอย่างมีความสุข ให้เขาเห็นคุณค่าความหมายของการเป็นครูได้ต่อไป สองคือครอบครัวของเด็กๆ ที่ต้องเป็นฝ่ายร่วมบ่มเพาะร่วมมือกับโรงเรียน สามคือสังคม เช่นสถาบันการศึกษาหรือสื่อสาธารณะที่ต้องช่วยเหลือสนับสนุนให้ครูทำงานได้เต็มที่ อย่างที่สุภาษิตแอฟริกันว่าไว้ว่า เราต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อสร้างเด็กคนหนึ่ง กับการพัฒนาครูหนึ่งคนก็เช่นเดียวกันที่ต้องใช้ความร่วมมือจากคนทั้งสังคม และท้ายที่สุดคือครูเอง ที่ต้องพึงระลึกว่าอาชีพครูคือความภาคภูมิใจในการสร้าง การให้โอกาสคนได้พัฒนาตนเอง เพราะเมื่อพ่อแม่เอาลูกมาฝากให้ครูดูแลหมายถึงเขาได้ฝากสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดของเขาไว้กับเรา ครูจึงต้องดูแลเด็กๆ ให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณค่าทั้งด้านการเรียนและพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม”

สร้างสิ่งแวดล้อมที่จะดูแลหล่อเลี้ยงครูให้มีไฟ มีแรง มีจิตวิญญาณการเป็นครูได้ตลอดไป

อ.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในพื้นฐานของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการศึกษา ‘ครูสำคัญที่สุด’ เพราะครูคือคนที่อยู่กับเด็กๆ ในห้องเรียน ซึ่งหมายถึงเด็กอยู่ในมือครู ครูจะปั้นเขาให้เป็นอย่างไรก็ได้

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากครูรุ่นหนึ่งมาถึงอีกรุ่นหนึ่ง เรามีครูที่มีวัยใกล้กับลูกศิษย์ ครูรุ่นใหม่เหล่านี้จะมีความเข้าใจว่าเด็ก ๆ ต้องการอะไรมากขึ้น ในมุมมองของ สพฐ. เราเชื่อว่าครูรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นผู้จุดประกาย สร้างมิติใหม่ๆ ทางการศึกษา และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนได้มากที่สุด ซึ่งหน้าที่ของ สพฐ. คือจะต้องดูแลหล่อเลี้ยงครูให้มีไฟ มีแรง มีจิตวิญญาณการเป็นครูได้ตลอดไป ซึ่งเราคิดว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อครูคือปัจจัยนั้น นี่คือสิ่งที่ สพฐ. ต้องดำเนินการ ทั้งการทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาเข้าใจบทบาทที่แท้จริงของครู และต้องปรับหลักสูตรให้ครูได้ทำหน้าที่พี่เลี้ยงชี้แนะช่วยเหลือนักเรียนได้เต็มที่”  

แล้วครูต้องเปลี่ยนเพื่อใคร?

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีวิทยาการการเรียนรู้คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีวิทยาการการเรียนรู้คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในนามรายการ ‘ครูปล่อยแสง’ ได้กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากไว้คือ ทั้งที่ผ่านมาและในวันนี้เรามีโครงการมากมายที่ลงไปทำกับครูหรือโรงเรียน อย่างไรก็ตามต้องคำนึงด้วยว่าครูควรมีอิสระในการไขว่คว้าหาความรู้เติมเต็มในมุมที่ตัวเองต้องการ เพื่อนำสิ่งที่มีในตนเองมาใช้กับลูกศิษย์ได้อย่างเต็มที่ และก่อนที่จะเกิดขึ้นเป็นโครงการต่างๆ เราต้องไม่ลืมที่จะคิดถึงคุณภาพชีวิตของคุณครูด้วย ว่าโครงการต่างๆ นั้นจะกลายเป็นการเพิ่มภาระของครูให้มากขึ้นไปอีกหรือไม่ 

“ส่วนเรื่องคุณภาพในการเป็นครูสำหรับครูทุกคน คือสิ่งที่ครูต้องตั้งคำถามกับตัวเอง สิ่งสำคัญที่จะทำให้ครูคนหนึ่งคงประสิทธิภาพในตัวเองและพัฒนาต่อไปได้ คือความมั่นคงภายในต่อคำถามที่ว่า เรามาอยู่ตรงนี้ทำไม ทำหน้าที่เพื่ออะไร และอะไรคือความภูมิใจของเรา ถ้าครูยังคงมั่นคงกับสิ่งเหล่านี้ ก็จะสามารถเผชิญกับปัญหาอุปสรรค และค้นพบคำตอบในใจตนเองได้ว่าแท้จริงแล้ว ครูต้องเปลี่ยนเพื่อใคร หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งใด”  

ที่มาภาพ : เพจ ‘ALTV ช่อง 4 TV เรียนสนุก’