โรงเรียนพัฒนาตนเองควรเป็นอย่างไร ?
พัฒนาแล้วนักเรียนได้ประโยชน์อะไร ?
ครูควร ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ อะไรบ้าง ?
วันนี้ที่โครงการ TSQP สิ้นสุดลง บทเรียนที่ กสศ. ทีมโค้ช ผู้บริหารโรงเรียนและครู ได้เรียนรู้ร่วมกันมาตลอด 3 ปี จะให้คำตอบในเบื้องต้น พร้อมผลักดัน ‘คำถาม’ เหล่านี้ให้ดำเนินต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด
เพราะความหมายของการ ‘พัฒนาตนเอง’ คือการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ดังนั้นการทำงานจึงต้องตั้งอยู่บนคำถามนำทางที่ว่า ‘โรงเรียนของเราควรเป็นอย่างไร ผู้บริหารและครูต้องทำอย่างไร หรือจะดึงเอาผู้ปกครอง ชุมชน เขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงต้นสังกัดเข้ามามีบทบาทได้อย่างไรบ้าง …ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก และวิถีชีวิตของผู้คน’
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวปิดโครงการ ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ หรือ TSQP (Teacher and School Quality Program) ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการการศึกษา (กสศ.) และภาคี 11 เครือข่าย ร่วมทำงานกับโรงเรียน ครู และนักเรียนต้นแบบ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ(Whole School Approach) ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพของระบบบริหารจัดการ และการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในชั้นเรียน เพื่อพัฒนานักเรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 และขยายผลสู่การสร้างกลไกขับเคลื่อนพัฒนาโรงเรียนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ตั้งต้นจากคำถามว่า ในสังคมปัจจุบันที่ซับซ้อนด้วยความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา เด็กราวหกแสนคนที่เกิดใหม่ทุก ๆ ปี จะถูกข้อจำกัดกั้นดักไว้มากแค่ไหน มีเหลือสักกี่คนที่ไปถึงเป้าหมายในการเรียนรู้ หรือพัฒนาตนเองได้เต็มขีดขั้น
และไม่ใช่แค่ประชากรรุ่นใหม่ที่ไล่หลังมา แต่คนไทยทั้ง 66 ล้านคน จะพัฒนาตัวเอง หรือร่วมกันยกระดับคุณภาพผลลัพธ์การเรียนรู้ของประเทศอย่างไร
เพราะการศึกษาเรียนรู้เป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม
โครงการ TSQP เกิดขึ้นบนฐานความเชื่อว่าโรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ ถ้าได้รับการ ‘หนุนเสริม’ หรือ ‘สร้างพลัง’ (Empowerment) ซึ่งไม่ใช่การ ‘บังคับบัญชา’ (Command and Control) โดยริเริ่มเข้าไปทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง มุ่งไปที่กลุ่มเด็กขาดแคลนโอกาส หรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 700 กว่าแห่ง จาก 8,000 โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ซึ่งคิดเป็น 10 %
เครื่องมือสำคัญในการหนุนเสริมคือ 6Q ได้แก่ Q – Coach, Q – Goal (School Goal), Q – Info, Q – PLC, Q – Network, Q – Classroom จนไปถึง Q ที่ 7 – 8 ได้แก่ Q – DE (Developmental Evaluation) และ Q – Systems Thinking โดยวางเป้าหมายให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนต้องประกอบด้วย V – A – S – K (V – values ค่านิยม, A – attitude เจตคติ, S – skills ทักษะ, K – knowledge ความรู้)
ศ.นพ.วิจารณ์ เสนอว่าการ ‘สอน’ ไม่ควรเป็นหลักยึดของครูอีกต่อไป แต่จะต้องทำให้ผู้เรียนไปถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากภายใน ผ่านกระบวนการ Active Learning ซึ่งเป็น ‘การเรียนรู้เชิงรุก’ (Constructivism) หรือคือการ ‘สร้าง’ นั้นสำคัญกว่าการ ‘ถ่ายทอด’ ความรู้
“วิธีที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ภายในที่ดีที่สุด คือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการลงมือปฏิบัติ (Experiential Learning) ซึ่งไม่ใช่แค่กับตัวนักเรียน แต่ครูและโรงเรียนเองต้องเพิ่มพูนทักษะผ่านการลงมือปฏิบัติเช่นกัน นอกจากนี้ เราต้องตระหนักว่าปัจจุบันการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะที่โรงเรียนอีกแล้ว โรงเรียนต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและคนในชุมชน สามารถสานเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่มาช่วยหนุนเสริม โรงเรียนจึงจะสามารถยกระดับสู่การพัฒนาตนเองได้จริง ๆ
“ผลจากการทำโครงการสามปีเศษ เราได้เห็นว่าโรงเรียนจำนวนหนึ่งสามารถพัฒนาตนเองไปได้ไกลถึง Q7 และ Q8 มีการนำ DE หรือ Developmental Evaluation มาเป็นเครื่องมือเรียนรู้ พัฒนางานเป็นระบบ มีการประเมินตนเอง จนได้ feed forward กลับมาปรับการทำงานรองรับอนาคตต่อไป หรือเราได้เห็นการเชื่อมโยงทรัพยากรจากนอกโรงเรียน จนเกิดเป็น System Thinking มีระบบซ้อนระบบ มีการทำงานที่เคลื่อนขับด้วยอนุระบบหลากหลายตามบริบทของโรงเรียนนั้น ๆ
“ขณะที่ทีมโค้ชได้แสดงให้เห็นความยืดหยุ่นและหลากหลายในการทำงาน ตั้งแต่การตีความโจทย์และออกแบบการหนุนเสริมที่ไม่ตายตัว แตกต่างไปตามความถนัดของแต่ละทีม จนทำให้หลายโรงเรียนก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นสามารถพิจารณาเลือกเครื่องมือจากทีมโค้ชอื่น ๆ ที่เหมาะกับโรงเรียนตนเองมาปรับใช้ เช่นโรงเรียนในการโค้ชของลำปลายมาศ ก็ไม่ได้ยึดติดอยู่แค่จิตศึกษา แต่ได้นำ Maker Space หรือ Steam Design Process ของบ้านปลาดาวมาใช้ เพราะเขามองเห็นเป้าหมายปลายทาง ว่าประโยชน์สูงสุดคือผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ของเด็ก
“การหนุนเสริมของทีมโค้ชทำให้เราเห็นแนวโน้มว่าในอนาคต การเปลี่ยนแปลงระบบโรงเรียนจะสามารถไปถึงความหมายของการ ‘Transform’ ได้ คือแทรกซึมลงในระบบ ลงในวัฒนธรรม เป็นมิติของโรงเรียนพัฒนาตนเองในอุดมคติ ซึ่งหลายโรงเรียนกำลังเดินทางไปสู่ตรงจุดนั้น”
วันใด ‘หยุด’ พัฒนา ย่อมหมายถึงเตรียมตัวรับ ‘ความล้มเหลว’
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า โรงเรียนจะพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนได้ต้องไม่หยุดตั้งคำถาม โดยเฉพาะคำถามที่อยู่บนฐานความคิดแบบ Growth Mindset ว่า
เมื่อโรงเรียนเปลี่ยนแล้ว ดีแล้ว ?
จะยังมีปัญหาใดให้ต้องแก้ไข ?
จะรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ?
จะทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร ?
“สิ่งที่อันตรายที่สุดของสถานศึกษาและคนในแวดวงการศึกษาเรียนรู้ คือความ ‘เก่ง’ คือถ้าคิดว่าตนเองแน่แล้ว ไม่คิดปรับปรุงแล้ว ตกลงไปในหล่มความคิดแบบ Fix Mindset แล้ว ไม่ช้าไอ้ที่เคยว่าดีแล้วก็จะตกต่ำ ด้วยกาลเวลา ด้วยสถานการณ์ ซึ่งไม่อนุญาตให้สิ่งใดอยู่ยั้งยืนยง ดังนั้นใครที่ประมาท ไม่ตระหนักว่าโลกและผู้คนมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา คิดว่าตนเก่งแล้วหยุดตั้งคำถามใหม่ ๆ เพียงปีหนึ่งหรือสองสามปีผ่านไป คุณจะกลายเป็นคนตกยุค ไม่ทันโลก School Transformation จึงต้องเป็น Continues Process เสมอ หมายถึงเป็น ‘กระบวนการที่ไม่มีวันจบสิ้น”
โครงการ TSQP สิ้นสุดลงแล้ว ทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกันมา ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ต้องทบทวนความรู้ ทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าจะทำให้แต่ละโรงเรียนพัฒนาต่อเนื่องอย่างไร จะตั้งคำถามใหม่ ๆ หรือแสวงหาช่องทางการหนุนเสริมอย่างไร เพราะจากนี้ไป โรงเรียนจะปรับบทบาทจากผู้รับโจทย์ เป็น ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ (Change Agent) โดยสมบูรณ์ เพื่อก้าวไปสู่การเป็น ‘โรงเรียนพัฒนาตนเองที่ไม่มีวันสิ้นสุด’“โรงเรียนทั้งหลายได้ถูกปลุกขึ้นแล้ว ให้ขบถต่อสภาพเดิม ๆ ให้นำความไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่มากระตุ้นตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้น ซึ่งการทำงานกว่า 80 % จะต้องเกิดจากภายในโรงเรียน และผลักหมุนการเรียนรู้สู่การยกระดับขึ้นด้วยตัวโรงเรียนเองได้”
อธิบายในเชิงทฤษฎี วงจรการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ จะหมุนไปด้วย ประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำ (Concrete Experience) สู่การสังเกต ใคร่ครวญ สะท้อนคิด (Reflective Observation) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาสั้น ๆ ทันที หรือบางทีต้องใช้เวลานานกว่าจะตกผลึก จากนั้นเป็นขั้นตอนการสร้างหลักการหรือทฤษฎีด้วยตนเอง (Abstract Conceptualization) เพื่อนำไปทดลองปฏิบัติ (Active Experimentation)
“ข้อแนะนำคือในหลักการทดลองปฏิบัติ ผู้เรียนรู้ต้องเลือกที่จะ ‘เชื่อ’ และ ‘ไม่เชื่อ’ ในสิ่งที่ตนตั้งสมมติฐาน คือต้อง ‘ดื้อ’ต่อตัวเองว่าเราไม่ได้คิดถูกทั้งหมด แล้วเมื่อได้ผลลัพธ์ออกมา ต้องมีการทดลองทำซ้ำในสถานการณ์เดิม จนกว่าจะแน่ใจว่าผลพิสูจน์เป็นไปในทางเดิมทุกครั้ง จึงค่อยปักใจเชื่อ แล้วก็ต้องพร้อมตั้งคำถามใหม่ขึ้นมาอีก เพื่อท้าทายหลักการของตนต่อไป
“สำหรับการทำงานของครู วงจรควรเริ่มต้นจากเป้าหมายว่าจะทำให้ลูกศิษย์แต่ละรุ่น หรือแต่ละคน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อออกแบบการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ ทดสอบ พิสูจน์ผลลัพธ์ แล้วสิ่งที่ควรคำนึงคือ ท่านต้องอย่าหยุดอยู่แค่เพียงได้มาซึ่งวิธีการ แต่ต้องใคร่ครวญทดลอง และเรียนรู้จากข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ต่อไป จนถึงระดับที่สะท้อนได้ถึงหลักการ (conceptualization) คือหักล้างสอบทานทฤษฎีในตำราได้ว่าไม่ตรงกันหรือไม่ครบถ้วน เพราะการทำงานที่ต่างด้วยบริบท แน่นอนว่าตำราบอกเราไม่ได้ทุกอย่าง หากยังมีช่องว่างที่ครูสามารถมองเห็นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งตรงกับสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่มี รวมถึงคิดต่อยอดไปได้ถึงการรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือในอีกระดับหนึ่ง คือท่านอาจสามารถสะท้อนจากข้อมูลป้อนกลับไปได้ไกลยิ่งกว่าระดับหลักการ แต่ย้อนไปถึงว่า ‘กฎ’ หรือ ‘กติกา’ ที่ตั้งไว้จำเป็นต้องเปลี่ยนบางอย่าง หรือเปลี่ยนทั้งหมดหรือไม่ เพื่อจะทำให้การทำงานดีขึ้นทั้งระบบ
“เราต้องไม่คิดว่า ‘กฎ’ นั้นคือจุดสูงสุด เพราะมันคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (man made) ดังนั้นเมื่อสร้างได้ ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำคัญคือจะเปลี่ยนเพื่ออะไร เพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเปลี่ยนเพื่อพวกเราทั้งหมด คนในระดับปฏิบัติการจึงต้องกล้าคิดไปให้ถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับนั้น แล้วมุ่งไปหาพลังหนุนเสริม และสื่อสารสังคมว่าเราต้องปรับปรุงระบบ เพื่อประโยชน์ต่อพลเมืองของเราในอนาคต”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวสรุปว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่โรงเรียนทุกแห่งพร้อมปรับเปลี่ยนเป็น ‘โรงเรียนแห่งความสงสัย’ ก้าวข้ามการเชื่อในสูตรสำเร็จ หรือทฤษฎีสำเร็จรูป เมื่อนั้นประตูแห่งการ ‘พัฒนาตนเอง’ ก็จะเปิดออก เราจะมีครูที่ไม่ปิดกั้นหรือทำลายความช่างสงสัยใคร่รู้ อันเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของเด็ก มีห้องเรียนสมัยใหม่ที่มีสมรรถนะสูง (Hi-functioning classroom) เปิดกว้าง ท้าทาย ยืดหยุ่น เป็นมากกว่าห้องเรียนตามความหมายเดิม มีโรงเรียนที่วัดผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในกรอบ V – A – S – K และสามารถคำนวณ ES – effect size เพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนได้
“การประเมินว่าวิธีจัดการเรียนรู้ (intervention) ได้ผลแค่ไหน ขนาดของผลลัพธ์ (ES) จะบอกคำตอบให้เราว่า feed forward ที่ต้องนำกลับไปทำต่อคืออะไร จำเป็นต้องปรับวิธีการหรือกฎกติกาหรือไม่ ซึ่งคุณค่าของคำตอบนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ครูหรือโรงเรียนจะยึดตามที่ ‘หลักสูตรบอก’ หรือให้ ‘นักเรียนเป็นคนบอก’ แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ นักเรียนคงไม่บอกออกมาด้วยตัวเองได้ตรง ๆ แต่ครูจะรับสารเหล่านั้นได้ด้วยการเอาใจใส่ สังเกต ติดตาม ผ่านทางพฤติกรรม ท่าทาง หรือคำพูดบางคำ ที่เด็กสื่อสารสะท้อนกลับอยู่ตลอดเวลา”
และทั้งหมดนี้คือคำถาม ที่ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบฝากไว้ให้คิด ว่าเส้นทางต่อจากนี้ของโรงเรียนพัฒนาตนเอง จะไปต่ออย่างไรเมื่อพ้นจากโครงการ TSQP ‘เรา’ จะสามารถทำให้การศึกษาทั้งระบบยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้แค่ไหน หรือในกระบวนการพัฒนานั้น ต้นสังกัดจะมีปฏิสัมพันธ์และหนุนเสริมโรงเรียนอย่างไร และท้ายที่สุดแล้ว ‘โรงเรียน’ จะยังเป็นสถานที่บ่มเพาะพัฒนา ‘คน’ ได้ดีแค่ไหน ในท่ามกลางยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านที่รุนแรงรวดเร็ว
..ซึ่งคนที่จะตอบได้ คือ ‘พวกเราทุกคน’