การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หนึ่งตัวช่วยฝ่าวิกฤตปิดโรงเรียน COVID-19

การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หนึ่งตัวช่วยฝ่าวิกฤตปิดโรงเรียน COVID-19

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ทำให้เด็กนักเรียนหลายจังหวัดต้องหยุดเรียนกลางคันมาอยู่กับบ้านชั่วคราว จำต้องห่างหายจากการเรียนการสอนระบบปกติในโรงเรียน ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับครูและเพื่อนร่วมชั้น จนอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาในช่วงนี้​ ​

ในสถานการณ์เช่นนี้ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV นับเป็นตัวช่วยชั้นดีแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และเด็ก ทั้งที่อยู่ในเมืองใหญ่ หรือ ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ สามารถเติมเต็มความรู้และการศึกษาให้กับเด็กได้โดยไม่ขาดช่วง ผ่านระบบ DLTV ที่ออกอากาศทางหน้าจอโทรทัศน์ ในระบบทีวีดิจิทัล , ระบบ KU-BAND , ระบบ C-BAND ทั้งยังเผยแพร่ทาง ออนไลน์ บนเว็ปไซต์ www.dltv.ac.th รวมทั้งปัจจุบันมี แอปพลิเคชัน DLTV ให้บริการบนสมาร์ทโฟนเพื่อความสะดวกสบายอีกช่องทางด้วย

 

Live  ความรู้ส่งตรงถึงเด็ก พร้อมรับชมย้อนหลังได้ ตลอด 24 ชม.

หลักสูตรตารางการเรียนการสอน หรือ แผนการจัดการเรียนรู้ ออกแบบโดย มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีครูระดับมืออาชีพมาเป็นวิทยากรถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ แบบครบถ้วน จึงเรียกครูเหล่านี้ว่า “ครูต้นทาง” ตารางการเรียนการสอนสามารถรับชมแบบไลฟ์สด รอชมล่วงหน้า หรือ รับชมย้อนหลังได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ในบรรดาโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 1.4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ที่ใช้ระบบ DLTV เป็นแนวทางการศึกษา “โรงเรียนวัดศาลากุล” จังหวัดนนทบุรี มี “ชัยฤกษ์ วุฒิธาดา” เป็นผู้อำนวยการฯ นับเป็นโรงเรียนต้นแบบใช้ระบบ DLTV เต็มรูปแบบ 100% แม้มีนักเรียนเพียง 85 คน และ ครู 8 คน ทำให้ในสถานการณ์ COVID-19 ปรับตัวได้ไวกว่าโรงเรียนอื่น ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาใช้ระบบ DLTV สอนเด็กอยู่แล้ว ไม่ว่าเด็กจะนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียน หรือ นั่งเรียนอยู่กับบ้านก็ได้รับความรู้ตามมาตรฐาน สพฐ.กำหนดทุกประการ โดยทุกวิชาที่เด็กเรียน ตั้งแต่ระดับประถม 1 – 6 จัดตารางเรียนตรงกับตารางสอนของ DLTV ที่ “ออนแอร์” หรือ “ออนไลน์” ให้เด็กและครูได้รับชม

 

“ครูปลายทาง” หนุนเสริมการเรียนรู้ ​​
“ไลน์กลุ่ม” ​ประสานครู นร.​ผู้ปกครอง

ในช่วงเวลาปกติ ขณะที่ครูประวิชาจะทำหน้าที่เป็น “ครูปลายทาง” ร่วมสอนเสมือนพี่เลี้ยงคอยเสริมและเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กระหว่างนั่งอยู่หน้าจอ ทีวี ในโรงเรียน โดยเฉพาะวิชาที่ ครูปลายทาง อาจไม่เก่ง หรือ ถนัดระบบการศึกษา DLTV ช่วยได้มาก นับเป็นการหนุนเสริมการเรียนรู้ร่วมกันที่เป็นประโยชน์ทั้งครูและนักเรียน 

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์​ COVID-19 โรงเรียนวัดศาลากุล ให้เรียนอยู่ที่บ้าน​​และใช้การสอนผ่าน ทีวี​​ หรือ โทรศัพท์มือถือกับสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สามารถทำได้ง่ายในช่วงเวลานี้  ​สิ่งที่สำคัญคือ​โรงเรียนจะตั้ง “ไลน์กลุ่ม” โดยมี ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และ เด็กอยู่ในกลุ่มเดียวกันหมด เพื่อนัดวัน เวลา และวิชาเรียนตามตารางสอนของ DLTV กำหนดไว้

“ก่อนเรียนระบบ DLTV ในทุกเช้าเด็กทุกคนจะต้องแชททักไลน์กลุ่ม ตั้งแต่เวลา 08.15 น. เพื่อเตรียมพร้อมเรียนจริง ในเวลา 08.30 น. พอเรียนจบ 1 วิชา ทาง ครูต้นทาง จะมอบการบ้าน หรือ รายงาน ให้เด็กทำ จากนั้น ครูปลายทาง จะแจ้งเด็กในไลน์กลุ่มให้ส่งการบ้านตามที่ได้รับมอบหมาย พอเด็กทำการบ้าน หรือ รายงานเสร็จ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องถ่ายรูปเด็กคู่กับการบ้าน ส่งเข้ามาในไลน์กลุ่ม เป็นอันว่าการเรียนการสอน 1 วิชาของวันนั้นเสร็จสมบูรณ์” ผอ.ชัยฤกษ์ กล่าวถึงระบบการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์ COVID-19 

 

DLTV เหมาะกับเด็กทุกช่วงวัย
สร้าง Active Learning ได้ที่บ้าน

การเรียนการสอนแบบนี้เหมาะสมกับเด็กทุกช่วงวัย หรือ ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กอนุบาลและประถมวัย ที่เพิ่งหัดเรียนรู้ ควรมีทางเลือกการเรียนที่หลากหลายรูปแบบผสมผสานกัน และ ในทัศนะของ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศาลากุล ระบุว่า ระบบ DLTV ไม่ได้เพียงช่วยเติมเต็มการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้าง “ระเบียบวินัย” แก่เด็กได้ตั้งแต่ยังวัยเยาว์ จากการทำการบ้าน หรือ เขียนรายงานตามที่ “ครูปลายทาง” มอบหมาย แม้ไม่ได้มีครูตัวจริงเสียงจริง ยืนอยู่ตรงหน้าชั้นก็ตาม นับเป็นการสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการลงมือกระทำ หรือ Active Learning โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองค่อยช่วยเหลืออยู่ข้างๆ  

ผอ.ชัยฤกษ์ กล่าวว่า หากนำระบบ DLTV ไปใช้อาจไม่ได้ผลดีมากในปีแรก เพราะเป็นช่วงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ครู และ พ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ในระยะยาว 4 – 5 ปีผ่านไป จะใช้ได้ผลดี ในเบื้องต้นโรงเรียนตั้งแต่ระดับผู้บริหาร และ ครูต้องเปิดใจกว้างยอมรับการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งใหม่ โดยโรงเรียนต้องสร้าง “ครูปลายทาง” ให้เป็นนักเล่าเรื่องที่ดีและสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระที่ถ่ายทอดจาก “ครูต้นทาง” ดังนั้นการวางแผนการสอนล่วงหน้านับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับพ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญมาก เพราะต้องคอยปะกบดูแลลูกอยู่ไม่ห่างคอยให้คำแนะนำตลอดเวลาไม่ปล่อยให้เด็กเสียสมาธิไปกับสิ่งยั่วยวนรอบตัว

ดังนั้น ครู โรงเรียน และ พ่อแม่ ต้องร่วมมือกันในการวัดประสิทธิภาพจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองจนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่ม หรือ ดีขึ้น นี่คือดัชนีชี้วัดความสำเร็จของระบบ DLTV

ขณะนี้ DLTV กำลังจะก้าวไปอีกขั้นกลายเป็น Video on Demand ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ระบบเครือข่ายคมนาคม โทรคมนาคม หรือ สัญญาณอินเตอร์เน็ตเข้าไปไม่ถึง ซึ่งระบบ DLTV แบบเดิมจะให้เรียนจาก Hard copy แบบออฟไลน์ ด้วยการบรรจุคลิปวีดีโอต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิชาที่จะทำการเรียนการสอนลงใน Flash Drive หรือ ฮาร์ดดิสชนิดพกพา เมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตร ครูปลายทาง จะต้องเดินทางมาที่ส่วนกลาง หรือ ส่วนกลางต้องส่ง Flash Drive หรือ ฮาร์ดดิสชนิดพกพา อันใหม่ไปให้ 

 

เป้าหมายไม่ใช่แค่การศึกษาสำหรับเด็กพื้นที่ห่างไกล
แต่ต้องฝึกสมาธิ​และเรียนรู้ด้วยตัวเอง

สิ่งที่ ผอ.ชัยฤกษ์ ​ ย้ำเสมอ คือ ครูและผู้บริหารของโรงเรียนที่จะนำระบบ DLTV ไปประยุกต์ใช้ ต้องเปิดใจกว้างยอมรับ เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดของ DLTV ไม่ใช่แค่ช่องทางการศึกษาแก่เด็กที่อยู่ไกล​ หรือ ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เท่านั้น แต่ DLTV ต้องการเป็นช่องทางในการฝึกพัฒนาการสมาธิให้เด็กรู้จักจดจ่ออยู่กับเนื้อหาสาระและคำสอนของครู นับเป็นการฝึกระเบียบวินัย รวมถึงส่งเสริมให้เด็กหัดศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ดังนั้นทุกเช้า (ก่อนสถานการณ์ COVID-19) จะเห็นภาพเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดศาลากุล ทำกิจกรรมนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน เพื่อฝึกจิตใจให้แน่วแน่จดจ่ออยู่กับการเรียนการสอน จึงเป็นเหตุผลให้ ทำไมการจัดการเรียนการสอน DLTV ของโรงเรียนวัดศาลากุล จึงประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบ DLTV ระดับประเทศ

อีกทั้งมีประกาศปิดโรงเรียนไปนานแค่ไหน แต่ น้องๆ  โรงเรียนวัดศาลากุล ก็ยังสามารถนั่งเรียนรู้ทุกวิชาอยู่กับบ้านได้​ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากสถานการณ์ COVID-19 ​นี่จึงอาจเป็นแนวทางที่โรงเรียนอื่น ๆ สามารถดูเป็นตัวอย่างและ​​นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนตัวเอง เนื่องจากในอนาคตสถานการณ์  COVID-19 ไม่แน่ว่าจะเนิ่นนานเพียงใด หรือ แม้สถานการณ์จะดีขึ้นแต่ก็อาจหวนกลับมาระบาดซ้ำอีกได้ ​

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ จึงไม่ควรหยุดอยู่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น ควรหยิบรีโมทขึ้นมาเปิดช่อง DLTV เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วย ในช่วงกักตัวอยู่กับบ้าน เป็นการช่วยดึงความสนใจเด็กๆ จะได้ไม่วอกแวกไปกับสิ่งยั่วยุ อาทิ เล่นเกม ติดมือถือ เล่นโซเซียลมิเดีย ฯลฯ ถือเป็นการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค