เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีติดตามผลประเมินภายในเพื่อเสริมศักยภาพภาคีเครือข่าย ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อน ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ หรือ Teachers – School – Quality – Program (TSQP) รุ่นที่ 2 ปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนเป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์ ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการติดตามประเมินภายในและหาข้อตกลงร่วมในการติดตามประเมินผลภายในของชุดโครงการฯ ซึ่งมี 8 องค์กรภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,มหาวิทยาลัยนเรศวร ,มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ,มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ,มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และมูลนิธิสยามกัมมาจล
ยึดหลักเด็กมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ของรุ่นที่ 2 แต่เป็นการทำงานของโครงการ TSQP เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ซึ่งบนเว็บไซต์ กสศ. โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) ได้รวบรวมข้อมูลโครงการ TSQP ไว้อย่างครบถ้วนสำหรับผู้สนใจในโครงการนี้
“TSQP ต้องการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนทั้งระบบ หรือ Whole School Approach ด้วยการไปกระตุ้นให้โรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบใน 2 ส่วน คือ 1. การพัฒนาคุณภาพของระบบบริหารจัดการโรงเรียน และ 2.การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 เพื่อมุ่งสร้าง ผลลัพธ์การเรียนรู้ = Values + Attitude + Skills + Knowledge ให้เกิดกับผู้เรียนทุกคน”
TSQP มีความเชื่อว่า การพัฒนาเด็กต้องมีหลักการที่สำคัญหลายเรื่อง ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยต่างๆ อาทิ ความรู้สู่ความเชื่อ Visible Learning (2009) โดย John Hattie จากงานวิจัย (Meta-analysis) เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษามาตรการคุณภาพ พบว่า มี 6 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน ประกอบด้วย
1) ครูรู้ศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน
2) พลังร่วมของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน : การที่ครูไปอบรมแล้วมาขยายผลด้วยตนเองเพียงลำพังทำได้ยาก ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าต้องอาศัยการมีส่วนร่วม
3) นักเรียนมีส่วนประเมินผลการเรียนของตนเอง : ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถามในการเรียนการสอนว่าที่ผ่านมาให้เด็กมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน
4) การเรียนรู้ได้เหมาะสมตามช่วงวัยหรือระดับของพัฒนาการ
5) เปลี่ยนหลักคิดการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการทางานในโรงเรียน
6) การดูแลแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของนักเรียนแต่ละคน
“การทำงานตลอดเส้นทางตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และที่กำลังจะก้าวต่อไปในปี 2566 เมื่อย้อนดูจาก 6 ปัจจัยข้างต้นเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนา ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าบางเรื่องอาจจะใช่ บางเรื่องอาจะไม่ใช่ แต่เราก็พยายามศึกษาวิจัยและนำมาออกแบบ จนได้พบมาตรการที่สำคัญหลายอย่าง มีการทำงานกับ 11 เครือข่ายร่วมพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ แม้ว่าขณะนี้มีบางเครือข่ายไม่ได้จับมือไปต่อ แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบความร่วมมือเป็นแบบอื่นๆ โดยยึดเป้าหมายเดิม คือ การให้เด็กมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี” ดร.อุดม ระบุ
จาก TSQP สู่ TSQM
ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ได้กล่าวในหัวข้อ ‘จาก TSQP สู่ TSQM การจัดการความสำเร็จสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่’ ว่า ขณะนี้ทีมโค้ช TSQP ทุกคนกำลังจะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอีกขั้น จาก TSQP โดยอักษร P ตัวสุดท้ายซึ่งเดิมหมายถึง Project ได้เปลี่ยนมาสู่ TSQM โดยอักษร M คือ Movement หมายถึง เปลี่ยนการทำงานในที่แคบ คือจาก Project ที่มีกติกา ระเบียบ มาเป็นการทำในสิ่งที่กว้างขึ้นโดยขึ้นกับตัวของเราเอง
“วันนี้ผมขอมาป่วน โดยมีข้อสมมุติฐานว่า ทุกคนคือผู้นำการศึกษาของบ้านเมือง ผ่านประสบการณ์มามากทั้งในตัวบุคคล การมีปฏิสัมพันธ์ในระหว่างโรงเรียน, ระหว่างเครือข่าย, ระหว่างพื้นที่, และระหว่างชุมชน โดยการป่วน เป็นการพูดให้งง เพื่อให้เห็นถึงตัวโครงการที่ชัดเจนว่าต่อไปจากนี้จะเป็นการ Movement และแสดงให้เห็นถึงสภาพของความชั่วร้าย หรือ Wicked ในงานที่พวกเรากำลังร่วมกันทำเพื่อบ้านเมือง”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า คำว่า Wicked ในด้านการศึกษาวิชาชีพสุขภาพ คือความชั่วร้าย แต่ในความคิดของตนคือโหดร้าย แต่ขอให้มองไปทางความหมายที่ดี คือมองเป็นความท้าทายที่กำลังเผชิญหน้ากับสภาพการศึกษาไทยที่วิกฤติ ซึ่งหากยอมรับได้ว่ามันโหดร้าย การทำงานก็จะต้องไม่ทำตามรูปแบบ หรือมีแบบแผนตายตัว แต่ต้องมีหลากหลายวิธีการที่เหมาะสมโดยยึดถืออุดมการณ์เป็นเรื่องใหญ่
“ในชีวิตการทำงานมากว่า 50 ปี ผมสะท้อนคิดไปเรื่อยๆ จนพบว่ามีสิ่งที่ยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงใหญ่ คือ การหลงเข้าใจผิด คือการเอาวิธีการ เครื่องมือ มาเป็นเป้าหมาย หรือสับสนกับ 2 สิ่งนี้ ทั้งที่เป้าหมายต้องอยู่ที่ผลลัพธ์ที่เด็กเป็นตัวตั้งหรือเป็น end ส่วนที่เหลือเป็นเพียงเส้นทางสู่ความสำเร็จ ซึ่งอาจจะมองต่างกันไป เช่น การเรียนรู้ของครูที่เจริญก้าวหน้าขึ้น เป็น end ได้เช่นกัน แต่อย่าหลง เพราะผลสุดท้ายตัวเด็ก คือหัวใจสำคัญ เพราะฉะนั้น ที่เราจะต้องทำคือเอาสภาพของ Wicked มาสร้างอิสระ มาเป็นพลัง ใช้ความไม่ชัดเจน คลุมเครือ มาสร้างสรรค์ สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายในงานของเรา”
โรงเรียนพัฒนาตนเอง จากโครงการ สู่ ขบวนการ School / Education Systems Transformation”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า TSQP รุ่นที่ 2 กำลังจะจบในระยะ 10 เดือน แต่กระบวนการพัฒนาโรงเรียนจะยังไม่จบ เพียงแค่ต้องเปลี่ยนเป็น TSQM หมายถึงจากโครงการสู่ ขบวนการ School / Education Systems Transformation โดยมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ คือทำเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน เป็นหัวใจสำคัญ
“เหมือนเรากำลังเปลี่ยนจาก ตัวหนอน เป็นผีเสื้อ Transformation จากความเป็น project สู่ process วางแผนเอง ไม่ต้องรอการสั่งการ โดยธรรมชาติของผีเสื้อไม่สามารถกลับไปเป็นดักแด้ได้ แต่โรงเรียนสามารถเกิดภาวะถอยหลังได้มาจากหลายปัจจัย”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า กสศ.จะช่วยหนุนให้โรงเรียนลอกคราบ ซึ่งกระบวนการนี้ก็มีหลายขั้นตอน ได้แก่
- จาก สภาพปัจจุบัน สู่ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” : เปลี่ยนจาก ทีมโค้ชทำงานสนอง กสศ. สู่ ทำงานสนองโรงเรียน สนองประเทศไทย
- จาก ทีมโค้ชทำงานสนอง กสศ. สู่ ทำงานสนองโรงเรียน สนองประเทศไทย :
- จาก โรงเรียนทำงานสนองหน่วยเหนือ สู่ ทำงานสนองนักเรียน : นี่คือหัวใจ
- จาก เน้นนักเรียนเรียนรู้ในโรงเรียน สู่ นักเรียนเรียนรู้ตลอดชีวิต
- จากเด็กวัยเรียน สู่ เด็กทุกวัย : เอาใจใส่เด็กในพื้นที่ ชุมชน ทุกวัย
ปรับฐานคิด
เข้าใจให้ตรงกัน ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ เป็นอย่างไร ?
“ผมพยายามเน้นตั้งคำถามให้ทุกคนช่วยกันคิด อย่าเพิ่งเชื่อ หากถามว่า โรงเรียนพัฒนาตนเอง เป็นอย่างไร ? คำถามคือ “เราควรคิดให้ หรือให้โรงเรียนคิดเอง/ร่วมคิด/ร่วมกันคิด ที่ผ่านมา TSQP คิดจากส่วนกลาง แต่ตอนนี้เรา Transform แล้ว ขอให้ผ่อนลงเยอะๆ ได้ไหม ให้โรงเรียนคิดเองได้ไหม เพราะโครงการผ่านมา 3 ปี แล้ว ในการให้โรงเรียนดำเนินการต่อ เราก็ดูว่าสามารถหนุนอย่างไรได้บ้าง”
ศ.นพ.วิจารณ์ อธิบายต่อไปว่า ถ้าถามว่า หนุนให้โรงเรียนพัฒนาตนเองอย่างไร อันดับแรก ต้องเลิกกำหนดสูตรสำเร็จ ไปสู่การกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ การวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการปรับตัวต่อเนื่อง
“เพื่อให้การศึกษาไทยไปสู่การศึกษาไทยคุณภาพสูงจะทำอย่างไร ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือการลงมือทำ ส่วนใครบ้างเป็น stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็จะต้องมีส่วนในการแก้ไข สิ่งนี้จะสามารถช่วยเปลี่ยนการศึกษาไทยได้ โรงเรียนมีกระบวนทัศน์และพฤติกรรมถูกต้อง เด็กได้ประโยชน์ โรงเรียนตั้งใจต่อการเปลี่ยนการศึกษาไทยทั้งหมด โดยมีหลักฐานเป็นที่ปรากฏได้ว่า learning outcome ของเด็กดี คือมี VASK หรือมีคุณค่าในการฝึกคนให้เป็นคนดี เป็นเรื่องของประโยชน์ระยะยาวของชีวิต”
ศ.นพ.วิจารณ์ ชี้ว่า stakeholder มีทั้งการร่วมกับชุมชนโดยรอบและการทำงานร่วมกับต้นสังกัด โดยมีกลไกหนุนเสริมในรูปแบบที่ไม่ใช่ควบคุมสั่งการ ซึ่งกลไกนี้ กสศ.พยายามค้นหามาตลอด เช่นเดียวกับตนที่พยายามยุกลไกสนับสนุนในฐานะที่ทุกคนเป็นผีเสื้อไม่ใช่ตัวหนอน ทุกคนต้องกำหนดและบอก กสศ.ว่าอยากได้แบบนี้ กสศ.ช่วยได้หรือไม่ โดยได้ชี้ทั้งช่องทางนามธรรมและรูปธรรม ที่สำคัญคือ เมื่อทุกคนรู้ว่าปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ Wiked หรือโหดร้าย ก็ต้องทำไปเรียนรู้ไป เรียนรู้จากการปฏิบัติ (experiential learning) เป็นหัวใจสำคัญ หมายความว่าจะต้องมีสัมมาทิฎฐิทั้งครู โค้ช นักเรียน และทุกคนเรียนจากตนเองในการปฏิบัติและใคร่ครวญสะท้อนคิด ตั้งเป้า ดำเนินการ เรียนรู้ ปรับปรุงต่อเนื่อง ตามวงจรการเรียนรู้ของ Kolb’s Experiential Learning Cycle
Bottom-up Education Systems Transformation
ศ.นพ.วิจารณ์ ย้ำว่า กระบวนการที่เรากำลังช่วยกันคือ Bottom-up Education Systems Transformation ที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษาจากหนอนเป็นผีเสื้อได้ โดยเราริเริ่มจากส่วนปลายของระบบ คือ โรงเรียน และมี กสศ.เข้าช่วยหนุนให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงตนเอง มีกระบวนการทำให้เกิดผลสำเร็จ สร้างคุณภาพของโรงเรียนเพื่อไปผลักดันการเปลี่ยนเชิงระบบ ซึ่งการ empower ถือเป็นหัวใจ และที่ผ่านมาจะเห็นว่าโรงเรียนเองได้สร้างเครือข่ายของตนเองจนเกิดการหนุนเสริมกัน
“ผมเชื่อว่าในสถานการณ์โหด สิ่งดีๆ มีอยู่ แต่ที่ผ่านมาระบบไม่คำนึงถึง หรือไม่มีสายตาในการมอง เพราะสายตาไปอยู่ที่คำสั่งหรือเงื่อนไขของตนเอง ไม่ได้ดูที่เด็กซึ่งโรงเรียนซึ่งอาจจะทำโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ Wicked จะเป็นการ โหด/ดี หากมองให้เป็น ความโหดบวกกับความเป็นมนุษย์อยู่ในสันดาน หรือ DNA ซึ่งเราย่อมมีครูแบบนี้อยู่ เพียงแต่เดิมอาจจะถูกตราว่า เป็นครูนอกคอกใช่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่ผมตั้งคำถาม
“ขอย้ำว่าความโหดคือสิ่งที่ดี หากพลิกวิธีคิดไปหาด้านบวกของสิ่งที่ยากเพราะมีอยู่แล้วในมนุษย์เรา ดังนั้น ในวงของเราในสายตาผมต้องเป็นการทำไปเรียนรู้ไป ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สามารถปรับได้โดยการเรียนรู้ของเราเอง เพียงอย่าหลงแค่รู้ทางเทคนิคไม่พอ ต้องเรียนรู้หลักการให้ได้ มองให้เห็นเป็นระบบวงจร”
สะท้อนคิดสู่หลักการ เพื่อนำไปทดลองต่อเนื่อง
ศ.นพ.วิจารณ์ ยังได้อธิบายถึง Kolb’s Experiential Learning Cycle ว่า เป็นวงจรที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะเริ่มจากประสบการณ์ตรง (Concrete Experience) ไปสู่การสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น (Reflective Observation) แล้วนำมาสะท้อนคิดไปสู่การหาวิธีการ และดีที่สุดคือไปหาหลักการและจงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง (Abstract Conceptualization) ตรงนี้เป็นหัวใจเพื่อการนำไปลองใหม่ในสถานการณ์เดิม หากผลลัพธ์ดีขึ้นคือการเข้าใจที่เพิ่มขึ้นถูกต้องขึ้น (Active Experimentation) เป็นวงจรการเรียนรู้เรื่อยไป ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นในมนุษย์ทุกคน
“อยากเสนอข้อคิดเห็นว่า เรากำลังก้าวสู่การขับเคลื่อนผลลัพธ์การศึกษาของนักเรียนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับ Transform ปรับวิถีปฏิบัติในโรงเรียน เปลี่ยนความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติในครอบครัว ชุมชน พื้นที่ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานมหกรรมพลังโรงเรียนและครู เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยการศึกษาในสังคมไทยเป็นเป้าหมาย
“หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนทางการเมือง โดยผู้ก่อการ (ดี) สู่ Education Systems Transformation ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่การขับเคลื่อนที่ทำให้เด็กได้ประโยชน์ทำให้เป้าหมาย ยกระดับ CLO – VASK นักเรียน และคุณภาพพลเมืองไทยดีขึ้น เพื่อเป้าหมายปลายทางร่วมกัน คือ เคลื่อนจากประเทศรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศรายได้ระดับสูง”
ศ.นพ.วิจารณ์ ย้ำว่า โครงการ TSQP ได้สร้างความสำเร็จให้ประเทศไทย จากผลการประเมินของโครงการฯ โดยทีมวิจัยและประเมินผล (มูลนิธิศึกษาธิการ) พบว่า ครึ่งหนึ่งจาก 636 โรงเรียน ประสบความสำเร็จในการยกระดับได้สำเร็จ
“หน้าที่ของเราทุกคนจากนี้ต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นชัดและเชื่อว่าเด็กได้ประโยชน์จริง ซึ่ง กสศ.ก็จะช่วยสนับสนุนด้วย เราจะเห็นแสงสว่างว่าเราช่วยกันวางพื้นฐานคุณภาพพลเมืองไทยในอนาคต เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คุณภาพสังคมดี อย่าลืมว่ามาเลเซียเพื่อนบ้านของเรา ในปีนี้ได้เลื่อนเป็นประเทศรายได้สูงแล้ว เมื่อเขาทำได้ทำไมประเทศไทยจะทำไม่ได้” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้าย