โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบโรงเรียน ครู การเตรียมพร้อมเด็กในศตวรรษที่ 21 ในพื้นที่เป้าหมาย 288 โรงเรียน ครอบคลุม 35 จังหวัด โดยมี 5 หน่วยวิชาการสำคัญร่วมพัฒนา โดย 1 ใน 5 หน่วยวิชาสำคัญอย่างมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ที่มาช่วยพัฒนาเติมความรู้ให้กับโรงเรียน
จากแนวคิดเรื่อง “สนามพลังบวก” อันเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรม 3 อย่าง คือ จิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – based Learning : PBL) และ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community : PLC) PBL นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนซึ่งได้ผลเป็นที่ยอมรับและ กำลังถูกขยายผลต่อยอดไปสู่โรงเรียนแห่งอื่นด้วยเป้าหมายการการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นจริง
อ.วิเชียร ไชยบัง จากมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ผู้บุกเบิกเส้นทางสายนี้เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นพัฒนาการเรียนการสอนในระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2552 เริ่มต้นที่โรงเรียนลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ก่อนขยายผลไปยังโรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนเครือข่าย ซึ่งการจะทำให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลงได้ต้องทำให้ได้ 400-500 โรงเรียนต้นแบบและขยายไปยังโรงเรียนลูกข่าย ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร
“ตัวแปรคือโรงเรียน ผู้บริหาร ระบบราชการที่มีมายด์เซ็ตอีกแบบ เราต้องเข้าไปช่วยเขาพัฒนา ปลุกเขาให้ตื่น แต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน และเมื่อตื่นแล้วก็ต้องมาสร้างทักษะให้เขาเพื่อเปลี่ยนแปลงโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง เป็นโรงเรียนที่ดี คาดว่าประมาณสองปีจะสามารถเห็นผลได้แบบจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย” อ.วิเชียรระบุ
อ.วิเชียร อธิบายว่า จากนวัตกรรมที่นำมาใช้พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและครู สิ่งแรกคือ ‘จิตศึกษา’ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา “ปัญญาภายใน” ทำให้ผู้เรียนเข้าใจตัวเอง ใคร่ครวญกำกับตัวเองได้ มีเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งจิตศึกษา มี 3 กระบวนทัศน์ ซึ่งต้องทำทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ กระบวนทัศน์แรก ครูต้องสร้าง “สนามพลังบวก” ให้นักเรียนรู้สึกว่าอยู่ที่นี่ปลอดภัย ได้รับการเคารพ ร่วมไปกับทางกายภาพของสถานที่มีความสะอาดร่มรื่นปลอดภัย มีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและลูกศิษย์
“เราจะทำทุกอย่างไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เราจะไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง โดยสร้างวิถีที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เด็กต้องกำกับตัวเองให้ได้ในแต่ละช่วงเวลา ว่าเวลานี้จะทำอะไร เวลานี้ต้องหยุด สร้างความสม่ำเสมอจนมีเซนส์เรื่องเวลา กำกับตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าใกล้เวลาเข้าแถว เข้าห้องเรียนแล้ว” อ.วิเชียรกล่าว
ถัดมา กระบวนทัศน์ที่สอง ครูต้องใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับเด็ก มีสิ่งที่ต้องลดไม่ทำกับสิ่งที่ต้องทำเพิ่ม ซึ่งอยู่บนหลักการเดียวกันคือเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของเด็ก โดยสิ่งที่ไม่ควรทำก็เช่น การเปรียบเทียบ การจัดอันดับ ส่วนสิ่งที่ควรทำเพิ่มก็เช่น การรับการชื่นชม การไว้วางใจต่อเขา สิ่งต่างๆเหล่านี้ เสริมให้สมองส่วนกลางของเด็กให้ปลอดภัย ทำให้เขารู้สึกได้รับเกียรติ มีคุณค่าพอที่จะเรียนรู้กับเพื่อนได้
กระบวนทัศน์ที่สามคือกิจกรรมจิตศึกษา มีสามขั้นตอนคือ 20 นาทีแรก ครู จะต้องเตรียมสภาวะจิตเด็กเช่น บริหารสมอง (เบรน ยิม) หรืออทำอะไรก็ได้ให้เด็กมีสติ 2-5 นาที จากนั้นครูให้ประสบการณ์บางเรื่องเพื่อให้เกิดการรีเฟลคชั่น ให้สมองส่วนหน้าได้คิดวิเคราะห์ตัดสินใจเพื่อเลือกทำอะไรบางอย่าง และจบลงด้วยเอ็มพาวเวอร์ (empower)
ทั้งนี้ กิจกรรมมีเป้าหมาย 3 ระดับ คือ ฝึกให้เด็ก มีความชำนาญ มีสติ สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา
และมีความสามารถตัดสินใจเลือกเชิงจริยธรรมได้ มีความสามารถเลือกเพื่อนำตัวเองได้ ทำลายสิ่งไม่ดี และเป้าหมายระดับสูงคือฝึกให้ผู้เรียนเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเป็นจริงในสิ่งที่มันเป็นโดยไม่ตัดสินว่ามันดีเลวอย่างไร
“การฝึกอย่างนี้สัก 200 วัน โครงสร้างสมองย่อมเปลี่ยน มีภาวะการใคร่ครวญ สูงมาก เขาจะเลือกตัดสินใจอะไร
ด้วยความระมัดระวัง ดูผลกระทบ เขาจะพบตัวเอง เป้าหมายคือการทำให้เขาปฏิบัติต่อสิ่งที่เขามากระทบตัวเองอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไรให้ไม่เบียดเยียนคนอื่น คอนเซ็ปต์ทั้งหมดสามารถใช้ได้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึง ม.3 แต่ก็จะแตกต่างไปในลักษณะกิจกรรมที่เป็นไปตามวัย” อ.วิเชียรอธิบายผลลัพธ์
สำหรับจิตศึกษาเป็นการเน้นปัญญาภายใน แต่ PBL จะเน้นปัญญาภายนอก คือเน้นไปที่การ เข้าใจต่อโลก ทักษะการดำเนินชีวิต การมีทักษะที่จะไปทำงาน และเข้าใจต่อศาสตร์ความรู้ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ซึ่งสองส่วนนี้จะต้องเป็น Active Learning
ขณะที่ การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับครู เราได้พัฒนา PLC แบบเรา มีรูปแบบที่เข้าใจง่าย ใช้ได้ผลในโรงเรียน ซึ่งจะต้องมี 1. ปัจจัยเกื้อหนุน คือ การมีสถานที่สะอาดปลอดภัย ร่มรื่น มีวิถีวัฒนธรรมใหม่ วิธีการที่คนจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และกับคนด้วยกัน 2. ปัจจัยเรียนรู้ มีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน หลายแบบมาก ตั้งแต่ถอดบทเรียน Lesson study Case study ไปจนถึงการทำ system study ร่วมกัน
ทั้งนี้ การจะทำ PLC ได้สำเร็จต้องฝึกทักษะครู ให้เป็นทักษะสำหรับการรับรู้ที่สมบูรณ์ ทักษะการกำกับตัวเองเพื่อที่จะให้เกิดการใคร่ครวญและเรียนรู้ เช่นเราฝึกทักษะ Deep Listening ฝึกทักษะ Dialogue ทักษะ Fa (Facilitator) ถ้าทำอย่างนี้ ได้ PLC ถึงจะเดินเพื่อขับเคลื่อนครูให้เก่งขึ้นได้
“ถ้า PLC ได้ผลทุกอย่างจะเปลี่ยนหมดซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลง ครูตื่นรู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ ทำไม่ถูกกับเด็ก ทำไม่ถูกกับวิธีการจัดการเรียนรู้ของมนุษย์หลังจากนั้นจะเห็นความมพยายามเปลี่ยนวิธีการจัดของตัวเองโดยใช้ PLC เป็นตัวช่วย เขาก็จะมี ความเป็นครู ที่เป็นแอคทีฟเลิร์นนิ่งมากขึ้น เข้าใจเด็กมากขึ้น และวางการสอนน้อยลง เป็นการสร้างการเรียนรู้มากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากที่ไปมาทุกโรงเรียนสัมผัสได้” อ.วิเชียรกล่าวย้ำ
อ.วิเชียร กล่าวเสริมว่า เมื่อครูเปลี่ยนเด็กก็เปลี่ยน ที่ปรากฏได้ผลทันทีคือ หนึ่งการขาดเรียนน้อยลง จนไม่ขาดเรียน สองเขาสนิทกับครู รักครู ร่วมกิจกรรม กำกับตัวเองจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรียนโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนก็จะสูง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เน้นไม่ใช่แค่เรื่องผลการเรียนแต่เป็นเรื่องทักษะการเรียนรู้ร่วมกันต่อเนื่อง เพราะนี่คือเรื่องใหญ่ที่จะใช้ตลอดชีวิต ส่วนใครจะอยากจะวัดผลสัมฤทธิ์ ใครอยากจะวัดทักษะศตวรรษที่ 21 ใครอยากจะวัดด้านไหนก็ได้แต่ขอให้ได้เรื่องนี้ก่อน ถ้าหากมีทักษะเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลาทุกอย่างก็จะปรับได้ตามถานการณ์
เมื่อมนุษย์รักการเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะเห็นความเข้าใจจริงต่อสิ่งต่างๆ ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆได้เท่าเทียมกันเพราะคุณภาพการจัดการเรียนรู้ไม่เท่ากัน