ยูเนสโกยกย่องไทยเป็นผู้นำความเสมอภาคทางการศึกษาของเอเชีย

ยูเนสโกยกย่องไทยเป็นผู้นำความเสมอภาคทางการศึกษาของเอเชีย

กสศ. – ยูเนสโก ลงนาม MOU ร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้แนวโน้มเด็กนอกระบบทั่วโลกกลับมาเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ยก ABE หรือการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานการทำงาน แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำการศึกษายั่งยืน ขณะที่ กสศ.เดินหน้า ABE แล้ว 20 จังหวัด ระดมทุกภาคส่วน ดูแลเด็กในและนอกระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมกรุงเทพ 1 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)กับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพฯ (ยูเนสโก) เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก พร้อมจับมือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย องค์การยูเนสโก้ องค์การยูนิเซฟ และองค์การช่วยเหลือเด็ก จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา”(All for Education) ระดับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ในปี2563 (2020) ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน เพื่อช่วยกันวางยุทธศาสตร์นับถอยหลัง 10 ปีสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้านการศึกษา (SDG4) ให้สำเร็จภายในปี 2030

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า กสศ.และองค์การยูเนสโกจะร่วมดำเนินโครงการทั้งด้านวิชาการ และการสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายระดับชาติและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งในปี 2563 (2020)จะเป็นวาระครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาการศึกษาเพื่อปวงชนหรือ “ปฏิญญาจอมเทียน” ซึ่งเป็นเจตนารมย์ของผู้นำเกือบ 200 ประเทศที่ต้องการให้เด็กเยาวชนทุกคนเข้าถึงและสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาได้ 100% และเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเพื่อการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลสถิติจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) แสดงให้เห็นแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับนานาชาติที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา(ระดับประถมศึกษา) ทั่วโลกที่เคยมีจำนวนมากกว่า 100 ล้านคน เมื่อปี 1990 ลดลงเหลือราว 63 ล้านคนในปี 2017 หรือลดลงเกือบร้อยละ 40 แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา (2007-2017) จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาทั่วโลกมีอัตราที่ลดลงน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มชะลอตัวลง กลุ่มเป้าหมาย 5-10% สุดท้ายยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา หรือต้องออกจากการเรียนกลางคัน เพราะปัญหาสภาพเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ฯลฯ ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษาเริ่มกลับมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่างปี 2016-2017 อีกครั้ง

ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กลไกภาครัฐแต่ลำพัง ไม่สามารถจัดการให้หมดไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยแนวคิดปวงชนเพื่อการศึกษาหรือAll for Education ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ช่วยกันออกแบบหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน และหนึ่งในแนวทางที่เป็นวาระซึ่งทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง คือการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ Area Base Education Reform (ABE) ที่ใช้กระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับประเทศไทย กสศ.สนับสนุนให้เกิดขึ้นแล้วใน 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา และ สงขลา

นพ.สุภกร กล่าวว่า เบื้องต้นใช้ยุทธศาสตร์ 2 มาตรการคู่ขนานกันอย่างเป็นระบบ เป็นวงจรการแก้ปัญหาเชิงระบบที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบ iSEE ของกสศ.เข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย คือ1.มาตราการป้องกัน (OOSCY Prevention) ไม่ให้หลุดออกนอกระบบการศึกษาด้วยโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (CCT) ปัจจุบันกสศ.ช่วยขจัดอุปสรรคในการมาเรียนให้เด็กกลุ่มนี้ทั่วประเทศราว 700,000 คน และทุนการศึกษาสายอาชีพสำหรับนักเรียนยากจนจำนวน 2,500 ทุนต่อปี 2. มาตรการแก้ไขเร่งด่วน (OOSCY Correction) โดยกสศ. ร่วมกัน 20 จังหวัด ระดมความร่วมมือหลายภาคส่วนสร้างกลไกช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษา เพื่อค้นหา ส่งต่อให้เด็กส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือฝึกทักษะด้านการศึกษาและอาชีพ ส่วนกลุ่มที่ยังไม่พร้อมคืนสู่ระบบการศึกษา ก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา/ ฟื้นฟูจากทีมสหวิชาชีพต่อไป เบื้องต้นในปี 2562 กสศ.สามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ทันที 5,000 คน จากจำนวนเด็กเยาวชนอายุนอกระบบการศึกษา 670,000 คน (3-17 ปี) ทั่วประเทศ

ด้านนายชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการยูเนสโก ประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทยว่า ได้แสดงความเป็นผู้นำในภูมิภาพเอเชียแปซิฟิกเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษา เป็นการสานต่อความเป็นผู้นำของไทยในเอเชียเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตลอดช่วง 30ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประชุมระดับโลกด้านการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ที่หาดจอมเทียนจนเป็นที่มาของปฏิญญาจอมเทียน องค์การยูเนสโกประทับใจและชื่นชมความมุ่งมั่นทำงานของไทยในการทำให้การศึกษาเป็นสิ่งเสมอภาคสำหรับทุกคน และหวังให้ประเทศในเอเชียรวมถึงประเทศอื่นๆในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเรียนรู้และเอาไทยเป็นแบบอย่างในการริเริ่มดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) องค์การยูเนสโกเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นผู้นำด้านความเสมอภาคทางการศึกษา และเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 ต่อไป

“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในครั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียมเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ รวมถึงการริเริ่มโครงการนำร่องในจังหวัดภูเก็ต ยะลา สงขลา และกาญจนบุรี ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆที่มีปัญหาขาดโอกาสได้เข้าถึงทางการศึกษา เข้ามาสู่ระบบ และจะมีการจัดทำคู่มือทั้งภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษามาเลย์ เพื่อความเข้าใจที่มีมากขึ้น ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายกระทรวงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น เพื่อให้เกิด การบูรณาการในการทำงาน” ผู้อำนวยการยูเนสโก ประจำประเทศไทย กล่าว