กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ออกโรงเรียกร้องให้โรงเรียนทุกแห่งในภูมิภาคเอเชียใต้ ครอบคลุมอินเดียและประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน บังกลาเทศ และศรีลังกา เปิดทำการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนในประเทศเหล่านี้ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนได้เร็วที่สุด ป้องกันผลกระทบจากภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือหดหาย รวมถึงปกป้องไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบ และตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ตลอดจนการถูกละเมิดลิดรอนสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางยูนิเซฟได้ออกแถลงการณ์แนะนำให้อินเดียและเพื่อนบ้านเปิดโรงเรียนได้แล้ว หลังจากที่เด็กนักเรียนในภูมิภาคดังกล่าวมากกว่า 400 ล้านคนไม่ได้เดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนนานร่วมกว่า 1 ปี พร้อมเตือนว่า หากปล่อยระยะเวลานานกว่านี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะกินระยะเวลายาวนานหลายสิบปี
รายงานของยูนิเซฟระบุว่า โรงเรียนหลายแห่งในบังกลาเทศปิดโรงเรียนมาแล้วเกือบ 18 เดือน นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ปิดโรงเรียนนานที่สุดในโลก ขณะที่โรงเรียนอีกหลายแห่งในเอเชียใต้ปิดโรงเรียนโดยเฉลี่ยที่ 31.5 สัปดาห์ ระหว่างช่วงเดือนมีนาคม 2020 – เดือนสิงหาคม 2021
จอร์จ ลาร์เยีย-อัดเจย์ (George Laryea-Adjei) ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าวต่อสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุว่า การปิดโรงเรียนมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็กในภูมิภาคเอเชียใต้มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากบริบทแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียใต้ไม่ได้แข็งแกร่ง และสนับสนุนภาวะการเรียนออนไลน์ของเด็ก
“การเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ต่างๆ ของเด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ทำให้เรามองเห็นภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือการขาดความรู้ โดยเฉพาะในหมู่เด็กผู้หญิงจากครอบครัวยากจน เนื่องจากเป็นค่านิยมและความเชื่อที่ให้ความสำคัญกับเด็กผู้ชายมากกว่า และผู้ชายมักจะได้รับความไว้วางให้หยิบจับแตะต้องเทคโนโลยีมากกว่า” ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียใต้กล่าว
ขณะที่การศึกษาฉบับหนึ่งในอินเดียแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของนักเรียนประถม 3 ที่สามารถอ่านหนังสือของเด็กประถม 1 ได้อย่างแตกฉานมีสัดส่วนที่ลดลงจาก 42 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 มาอยู่ที่เพียง 24 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพบว่า การที่เด็กถูกตัดขาดจากโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง ทำให้นักเรียนต้องประสบกับภาวะความเครียดและความวิตกกังวลในระดับสูง สุขภาพจิตใจย่ำแย่ และเพิ่มความเสี่ยงของตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ส่วนเด็กหญิงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกบีบบังคับให้ต้องแต่งงานก่อนวัยอันควร
ขณะเดียวกัน ทางยูนิเซฟได้จัดทำรายงานเรียกร้องให้บรรดารัฐบาลในภูมิภาคเอเชียใต้เร่งจัดสรรมาตรการความปลอดภัยเพื่อให้นักเรียนเดินทางมาโรงเรียนได้อย่างปลอดโปร่ง รวมถึงเป็นหลักประกันว่านักเรียนจะสามารถฟื้นฟูความรู้ที่หายไป ตลอดจนหาทางยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพของการเชื่อมต่อเชื่อมโยงถึงกัน
จอร์จ ลาร์เยีย-อัดเจย์ แห่งยูนิเซฟเอเชียใต้ กล่าวเตือนว่า หากรัฐบาลปล่อยนิ่งเฉย ไม่เร่งดำเนินการจัดการ จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และเป็นต้นทุนที่มหาศาล เนื่องจากทำให้กำลังแรงงานข้ามชาติลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และทำให้ผลที่ตามมาส่งผลกระทบในระยะยาวนาน
ตามฐานข้อมูลล่าสุดขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พบว่า โรงเรียนในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล และอัฟกานิสถานยังคงเปิดเพียงบางส่วน ในขณะที่โรงเรียนในปากีสถานและศรีลังกาเปิดอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
ที่มา : UN urges full reopening of South Asia schools amid learning loss