การศึกษาคือการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ไม่มีใครปฏิเสธความจริงในข้อนี้ เพราะการศึกษาคือการลงทุนกับทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของสังคมอย่างทรัพยากรมนุษย์ เพื่อวางรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
ทว่าถ้าพูดให้ถึงที่สุด ในมุมมองของ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง การลงทุนในการศึกษาเป็นอะไรที่ยิ่งลงทุนไว ยิ่งได้เปรียบ ดังนั้น เราไม่เพียงต้องลงทุนในการศึกษา แต่ควรลงทุนตั้งแต่ใน ‘เด็กปฐมวัย’ เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาทุนมนุษย์ และยังเป็นการลงทุนที่เขามองว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไปในอนาคตด้วย
ทำไมเราต้องรีบลงทุนในเด็กปฐมวัย และเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภาพรวม 101 ชวนหาคำตอบผ่านบทสนทนากับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ที่ศึกษาและทำเรื่องเด็กปฐมวัยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไล่เรียงตั้งแต่การลงทุนในเด็กปฐมวัย ไปจนถึงภาพใหญ่ของการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากความเหลื่อมรู้ในความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา | 101 Policy Forum #24 ออกอากาศในวันที่ 31 มีนาคม 2568

ถ้าพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณจะนึกถึงเรื่องอะไร
ผมนึกถึงเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะเวลาผมลงพื้นที่แล้วเห็นบรรยากาศการเรียนรู้ของโรงเรียนขนาดเล็กเทียบกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมีทรัพยากรที่มากกว่า และทรัพยากรในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่การมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ นะครับ แต่หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพด้วย
ผมว่าปัญหาใหญ่และเป็นความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุด คือเรื่องคุณภาพการศึกษาหรือคุณภาพการเรียนรู้ในพื้นที่ห่างไกล ยังไม่นับเรื่องที่ภาครัฐทุ่มงบประมาณพัฒนาการศึกษาและพัฒนาครูในอัตราส่วนที่ไม่เท่ากันด้วย
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เราจะเห็นงานวิชาการหรืองานวิจัยหลายๆ เรื่อง ในฐานะคนที่ทำงานด้านการศึกษาโดยเฉพาะด้านเด็กปฐมวัย ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน เรารู้อะไรบ้างแล้ว
หลายปีที่ผ่านมา ผมเริ่มหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย และไม่ได้เจาะจงแค่การเรียนนะครับ แต่ขยายไปถึงการพัฒนาเด็กผ่านผู้ปกครองของพวกเขาด้วย โครงการหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและดูมีอนาคต คือ โครงการ ‘Parenting’ ที่ทำร่วมกับ กสศ. โดยเป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้ปกครองพัฒนาและเรียนรู้วิธีทำกิจกรรมกับเด็กเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่
โครงการ Parenting จะใช้เครื่องมือจากต่างประเทศที่ได้รับการทดลองและพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีมาใช้ และเราจะทดลองดำเนินการที่ขอนแก่นภายในปีนี้ (2568)
คุณช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมว่า ‘เครื่องมือ’ ดังกล่าวทำงานอย่างไร และจะช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ปกครองอย่างไรบ้าง
เครื่องมือของเราจะระบุอย่างชัดเจนว่า จะส่งเสริมการทำงานระหว่างผู้ปกครองกับเด็กอย่างไร เช่น ถ้าจะส่งเสริมการอ่านหนังสือ เราก็นำหนังสือไปให้เขาและสอนว่า อ่านอย่างไรจึงจะสนุก หรือถ้าผู้ปกครองอยากต่อจิ๊กซอว์เล่นกับลูกหลานก็จะนำไปให้ เพราะเราเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้มีประโยชน์ และถ้าผู้ปกครองเชื่อตรงนี้ด้วย พวกเขาก็น่าจะเต็มใจและประสงค์จะนำกิจกรรมเหล่านี้ไปทำร่วมกับลูกหลานที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง
เรายังร่วมกับ กสศ. เพื่อทำวิจัยและประเมินด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวช่วยให้เด็กดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน และมีอุปสรรคอะไรบ้าง เพราะว่าถ้าเราประสบความสำเร็จในเรื่องนี้และผู้ปกครองเรียนรู้วิธีที่จะนำไปใช้ได้ ผมว่ามันมีอนาคตที่ดีและจะขยายผลไปได้อย่างรวดเร็วนะ ลองคิดสิว่า ถ้าในอนาคต เราขยายความร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ จะช่วยได้มากทีเดียว
มีประเทศไหนบ้างที่มีการทำกิจกรรมกับผู้ปกครองของเด็ก และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่ออีกได้ด้วย
มีหลายประเทศที่ทำแบบนี้นะครับ แต่ถ้าเอาใกล้ๆ เราก็คือประเทศจีน ที่มีโครงการ China REACH ซึ่งทำในมณฑลยากจนของจีน ซึ่งจะมีคนท้องถิ่น คล้ายๆ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองหรือไปเยี่ยมบ้านทุกสัปดาห์ แต่ละครั้งก็จะนำกิจกรรมใหม่ๆ ไปด้วย เช่น อ่านหนังสือ ต่อจิ๊กซอว์หรือต่อบล็อก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้งสิ้น
ทางจีนทำโครงการนี้อยู่ประมาณสองปีและพบว่าได้ผลค่อนข้างดี ทั้งในแง่ของการขยายผลโครงการและความร่วมมือจากคนในท้องถิ่น ทำให้เรามั่นใจด้วยเช่นกันว่า จะสามารถทำโครงการแนวนี้และขยายผลต่อไปได้
ถ้ามองในภาพรวม ทำไมเราต้องเร่งรัดหรือพัฒนาเด็กปฐมวัยเรื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือช่วยสนับสนุนการศึกษาในภาพรวมได้อย่างไร
ผมขอกล่าวถึงงานวิจัยของศาสตราจารย์ เจมส์ เจ เฮ็คแมน (Jame J. Heckman) ที่ช่วยอธิบายว่า ทำไมเราต้องเร่งพัฒนาเด็กปฐมวัย
เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เด็กอาศัยฐานเก่าเพื่อไปเรียนเรื่องใหม่ และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพราะถ้าเด็กไม่ได้รับการพัฒนาหรือไม่มีฐานที่มั่นคง เพื่อถึงจุดหนึ่ง เขาจะเรียนไม่รู้เรื่องหรือมองว่าไม่ได้รับประโยชน์จากการเรียนอีกต่อไป ตรงนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบมากกว่าที่ควรจะเป็น
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเร่งรัดพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ทำให้เขาเติบโตมาโดยมีทักษะที่ดี ผมว่านั่นเป็นอนาคตของเราและจะช่วยแก้ปัญหาที่จะตามมาภายหลังได้

คุณมองว่านโยบายใดเป็นนโยบายที่ไม่ควรเลิกดำเนินการ หรือมีนโยบายใหม่ๆ ที่เราควรจับตามองไหม
ผมว่าความรู้หรือทักษะพื้นฐานยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ แต่ถ้ามองในไปถึงในแง่ทักษะทางสังคม (soft skill) สิ่งหนึ่งที่เราอยากเห็นมากขึ้นคือ การที่ผู้เรียนพร้อมจะเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะในอนาคตจะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่เด็กไม่มีพื้นฐานมากพอที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะในอนาคต ไม่ว่าจะทำอะไร อาชีพไหน คุณก็ต้องปรับตัว
เพราะฉะนั้น ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะช่วยให้เด็กปรับตัวได้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง มันเป็นเรื่องของคาแรกเตอร์หรือการปลูกฝังจากสถานศึกษาที่จะทำให้เยาวชนอยากเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพื่อสอบ แต่ต้องการและพร้อมที่จะแสวงหาความรู้ ผมว่านี่แหละคือความท้าทายที่ไม่ง่ายและเรายังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
เท่าที่ฟังดูเรามีความพยายามด้านการพัฒนาการศึกษา หรือปรับใช้นวัตกรรมใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง คุณคิดว่าภาคนโยบายเป็นอย่างไร ได้หยิบยกหรือนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปปรับใช้บ้างไหม
เท่าที่ผมได้ทำเรื่องการศึกษาปฐมวัยกับ กสศ. มา ผมคิดว่าหน่วยงานภาครัฐเริ่มให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัยมากขึ้น รวมถึงนำไปขยายผลแล้ว แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าระบบรัฐมีความเทอะทะและยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ได้ และก็ต้องใช้เวลาด้วย
ส่วนตัวผมไม่ค่อยมีความหวังกับหลักสูตรนะ เพราะผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นขึ้นในห้องเรียน คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้ หลักสูตรก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่การปรับพฤติกรรมหรือสร้างแรงจูงใจให้ครูตอบสนองได้ดีขึ้นก็เป็นเรื่องใหญ่อยู่ รวมถึงเรื่องที่ว่า จะทำอย่างไรให้มีคนนำหลักสูตรไปปฏิบัติหรือใช้จริง ผมว่านี่แหละเป็นปัญหาระยะสั้นที่เรากำลังเผชิญอยู่ตลอดเวลา
เท่ากับว่าเราไม่มีแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือใดที่จะนำงานวิชาการมาเชื่อมกับระดับนโยบายเลยหรือ
ผมก็ไม่แน่ใจนะ นึกไม่ออกเหมือนกันว่าสิ่งที่ว่าต้องเป็นอย่างไร (หัวเราะ)
เท่าที่ผมทำงานกับ กสศ. มา ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องชื่นชมทาง กสศ. คือการมีวิธีสื่อสารที่หลากหลาย บางทีนำงานวิจัยมาย่อยแล้วสื่อสารออกไปก็มี ผมว่าสารก็ไปถึงผู้รับระดับหนึ่งนะ แต่เขาจะสนใจไหมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผมเคยทำกับ กสศ. และสร้างผลตอบรับได้ค่อนข้างเยอะคือ PISA for Schools เราพบว่า เด็กที่มีทักษะตั้งแต่ชั้นประถมดีก็มีโอกาสทำคะแนน PISA ได้ดี เท่ากับว่า ถ้าเราอยากให้ประเทศเรามีคะแนน PISA ดี ก็ควรจะโฟกัสตั้งแต่ชั้นประถม แต่ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ยินเรื่องนี้เลย สิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องพยายามคือการโฟกัสไปที่เด็กเล็กหรือเด็กประถม ตรงนี้จะมีประโยชน์นานาประการเพราะเป็นรากฐานที่เราจะนำไปใช้ต่อได้
มีคนพูดถึงแนวคิดคูปองการศึกษา (school voucher) คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมสนใจเรื่องนี้นะ เพราะปัจจุบัน ปัญหาหนึ่งคือคนที่มีทรัพยากรและต้องตัดสินใจไม่ใช่คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เพราะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ผู้ปกครองและเด็ก แต่พวกเขากลับไม่ใช่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือบอกว่าทรัพยากรจะไปลงที่ไหน
เพราะฉะนั้น คูปองการศึกษาเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อเพิ่มบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีอำนาจการตัดสินใจให้มากที่สุด นอกจากนี้ โรงเรียนจะต้องตอบสนองกับเรื่องนี้ด้วยและทำให้ตนเองมีคุณภาพมากขึ้น นั่นแหละคือแนวคิดของคูปองการศึกษา
แต่ปัจจุบัน เรายังไม่เคยทดลองใช้ตรงนี้เลย ผมว่าเราควรทดลองใช้มากขึ้น จากนั้นจึงประเมินผลและเรียนรู้วิธีการที่จะนำไปดำเนินการต่อด้วย

คุณคิดว่าแนวคิดนี้จะสนับสนุนการศึกษานอกระบบไหมหรือจริงๆ การศึกษาในระบบก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน
จริงๆ ผมอยากเห็นการศึกษาในระบบเป็นแบบนี้ ผมว่าจุดอ่อนของการศึกษาในระบบคือการไม่มีทางเลือก เราอยากให้ผู้ปกครองมีบทบาทและทางเลือก ส่งเสียงไปถึงโรงเรียนได้
จากทั้งหมดที่คุยกันมา คุณประเมินสถานการณ์ตอนนี้อย่างไร คิดว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไร หรือลงทุนด้านไหน
ผมยังคิดว่าเราควรฝากความหวังไว้กับผู้ปกครองนะ ทุกคนรู้แหละว่าครอบครัวและผู้ปกครองสำคัญ แต่เราเริ่มเรียนรู้แล้วว่า เรามีเครื่องมือที่มีศักยภาพเพียงพอเพื่อให้ผู้ปกครองนำไปใช้ได้ อย่างแรกที่เราเริ่มทำและหวังจะให้เกิดขึ้นคือ การพัฒนาทักษะของผู้ปกครองให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกับลูกหลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีคนพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ผมว่าการกระจายอำนาจที่ดีที่สุดคือกระจายไปให้ถึงผู้ปกครอง เช่น ทำให้ผู้ปกครองมีบทบาทกับโรงเรียนที่มากกว่าการเป็นคณะกรรมการของโรงเรียน ให้บทบาทเขาในการดูแลและติดตาม ซึ่งจะทำให้โรงเรียนต้องปรับตัวด้วย